ขึ้นชื่อว่านครใหญ่ รถเยอะ โดยเฉพาะรถที่ใช้พลังงานฟอสซิล ปล่อยไอเสียมาก ย่อมมีปัญหามลภาวะทางอากาศกันทั้งนั้น
ขึ้นปีใหม่ ค.ศ.2020 นครบาร์เซโลน่าของสเปนได้เริ่มต้นใช้มาตรการใหม่ ‘แบนรถเก่า’ ได้แก่ รถยนต์ที่ใช้น้ำมันทั้งหมดที่ซื้อก่อนปี ค.ศ.2000 (หากใช้มันดีเซลต้องซื้อหลังปี ค.ศ.2006 ถึงจะไม่โดนแบน) ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษปรับระหว่าง 100-500 ยูโร (ราว 3.3 พัน – 1.67 หมื่นบาท) แต่จะให้โอกาสปรับตัวก่อนช่วง 3 เดือนแรก ระหว่างนี้ ผู้ฝ่าฝืนจะได้รับเอกสารเตือน แต่ยังไม่ต้องเสียค่าปรับ
แม้นี่จะเป็นมาตรการที่กรุงมาดริด เมืองหลวงของสเปนใช้มาก่อนอย่างได้ผล เพราะทำให้ค่าก๊าซไนโตรเจนไดอ๊อกไซด์ (NO2) ลดลงถึง 48% ในเวลาแค่ปีเดียว แต่พื้นที่ ‘รถเก่าห้ามเข้า’ ของนครบาร์เซโลนาก็กว้างถึง 95 ตารางกิโลเมตร มากกว่ากรุงมาดริดเกือบ 20 เท่า และใหญ่ที่สุดในเขตยุโรปตอนใต้
ฆาเน็ต ซานซ์ (Janet Sanz) รองผู้ว่าการนครบาร์เซโลนา ที่รับผิดชอบงานด้านการคมนาคมขนส่ง ระบุว่า เป้าหมายของมาตรการนี้ก็คือลดจำนวนรถในเขตเมือง 1.25 แสนคันในสามปี และลดมลพิษทางอากาศ 20% ในสี่ปี นอกจากนี้ กำลังพิจารณาว่าจะเก็บภาษีชั่วโมงเร่งด่วนกับรถทุกประเภท (congestion charge) เช่นเดียวกับที่กรุงลอนดอนของอังกฤษทำ หรือไม่
แม้จะเสียงวิจารณ์ว่ามาตรการนี้จะส่งผลกระทบ เพราะไปบีบบังคับให้ชาวเมืองต้องซื้อรถใหม่ แต่รองผู้ว่าฯ บาร์เซโลนาหญิงรายนี้ก็ปฏิเสธว่า เป็นการชักชวนให้ผู้คนหันไปใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพของเมืองต่างหาก
ทั้งนี้ มีการออกมาตรการบรรเทาผลกระทบ เช่น เจ้าของรถเก่าหากพิสูจน์ได้ว่ามีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 8 พันยูโร (ราว 2.67 แสนบาท) จะได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าปรับหนึ่งปี ส่วนรถเก่าที่ใช้ส่งของจะได้รับอนุโลมให้เข้ามาในพื้นที่ที่กำหนดได้ปีละ 10 ครั้ง เป็นต้น
นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ ของการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีมาตรการออกมาอย่างเป็นรูปธรรม และหาวิธีบรรเทาผลกระทบรองรับไว้บางส่วน – ส่วนจะใช้ได้ผลจริงไหม ยังต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/thai/international-39027985
#Brief #TheMATTER