มีหลายสาเหตุที่ทำให้เราทำงานพลาดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ความผิดพลาดประเภทนี้เรียกว่า ความผิดพลาดที่เกิดจากมนุษย์ หรือ Human error ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการนำ AI เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา Google กำลังพัฒนา AI ที่ช่วยแพทย์ในการตรวจหามะเร็งเต้านม ด้วยการสแกนภาพภาพเอกซเรย์ด้วยเครื่องแมมโมแกรม ซึ่งเอาชนะแพทย์รังสีในสหรัฐฯ ได้แล้ว
ในงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก Google และถูกเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature ทีมวิจัยได้ฝึก AI ให้สแกนภาพแมมโมแกรม ของผู้หญิงชาวสหราชอาณาจักรจำนวน 76,000 คน และชาวสหรัฐฯ จำนวน 15,000 คน เพื่อดูประสิทธิภาพในการทำงานของมัน
จากนั้นจึงให้ AI สแกนภาพแมมโมแกรมของหญิงชาวสหราชอาณาจักรและสหรัฐฯ อีกจำนวนรวมกันราว 28,000 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็นโรคมะเร็ง หรือ ไม่มีสัญญาณของการเป็นมะเร็งเลย ในช่วงอย่างน้อย 1 ปีหลังทำการตรวจ
AI จะมองหาสัญญาณของโรคมะเร็งในกลุ่มตัวอย่าง โดยการระบุความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหน้าอกของพวกเขา จากนั้นทีมวิจัยจะเช็คผลการตรวจของ AI ด้วยผลทางการแพทย์จริง
หญิงชาวสหรัฐฯ มักเข้ารับการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรม ทุก 1 – 2 ปี และมีรังสีแพทย์เพียงคนเดียวเท่านั้นที่เป็นคนดูภาพสแกนของพวกเธอ
เมื่อเทียบกับรังสีแพทย์ในสหรัฐฯ AI ตรวจเจอผลบวกลวง (false positive) น้อยกว่ารังสีแพทย์ 5.7% และเจอผลลบลวง (false negative) น้อยกว่าแพทย์ 9.4%
ผลการวิจัยแนะนำว่า หากแพทย์นำ AI มาช่วยในการตรวจ มันสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพในการตรวจหามะเร็งเต้านมได้ในประเทศสหรัฐฯ และรักษามาตราฐานได้เท่าเดิมในสหราชอาณาจักร
อย่างไรก็ตาม ระบบยังขาดความสมบูรณ์แบบ AI สามารถเอาชนะแพทย์ในการตรวจหามะเร็งเต้านมได้ในหลายเคส แต่ก็มีบางเคสที่ แพทย์สามารถตรวจเจอมะเร็งเต้านมในเคสที่ AI หาไม่เจอ
มะเร็งเต้นนมเป็นปัญหาที่พบมากที่สุดในผู้หญิงเป็นอันดับหนึ่งทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก อ้างอิงจากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่ประมาณ 13,000 คนต่อปีหรือ 35 คนต่อวัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นทุกปี ซึ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอาจสามารถช่วยบรรเทาปัญหาเรื่องโรคมะเร็งเต้านมได้
อ้างอิงจาก
https://www.theverge.com/2020/1/1/21045635/google-ai-detect-breast-cancer-mammograms-healthcare
https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=307
https://www.dmh.go.th/news-dmh/view.asp?id=27795
พิสูจน์อักษร: กรุณพร เชษฐพยัคฆ์
#Brief #TheMATTER