เรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนยังคงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายประเทศทั่วโลก ประเทศไทยเองก็กำลังเจอกับปัญหานี้ ในรายงานล่าสุดเรื่อง ‘Time to Care’ ของ Oxfam องค์กรการกุศลที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำระดับโลก และเรียกร้องให้รัฐบาลแต่ละประเทศ บังคับใช้นโยบายที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านความรวย
Oxfam เผยว่า ในปี ค.ศ.2019 คนที่รวยที่สุดในโลก 2,153 คน ควบคุมเงินมากกว่าคนจน 4.6 พันล้านคนรวมกัน และประเมินว่า งานดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างโดยผู้หญิงอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป คิดเป็นมูลค่าเงินในเศรษฐกิจโลกอย่างต่ำประมาณปีละ 324 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่มากกว่าธุรกิจเทคโนโลยีถึง 3 เท่า
“มันเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพวกเราในการเน้นย้ำว่า เครื่องยนต์ซ่อนเร้นของเศรษฐกิจ ที่พวกเราเห็นจริงๆ คือ งานดูแลที่ได้รับค่าจ้างน้อยเกินไปของผู้หญิง และมันต้องการการเปลี่ยนแปลง” อมิตาภ บีฮาร์ (Amitabh Behar) ผู้บริหาร Oxfam ประเทศอินเดีย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์
นอกจากนี้ รายงานยังชี้ด้วยว่า คนที่เก็บเงินวันละประมาณ 300,000 บาท ตั้งแต่ช่วงก่อสร้างพีระมิดในอียิปต์จนถึงปัจจุบัน ยังมีความร่ำรวยน้อยกว่า 80% ของ 5 เศรษฐีพันล้านที่รวยที่สุดในโลก
อ้างอิงจาก Forbes ปัจจุบัน เจฟฟ์ เบซอส (Jeff Bezos) ผู้ก่อตั้ง Amazon เป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก โดยมีมูลค่าทรัพย์สินราว 3.492 ล้านล้านบาท ส่วนคนที่รวยเป็นอันดับรองลงมา คือ แบร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) เศรษฐีชาวฝรั่งเศสเจ้าของธุรกิจแบรนด์หรู LVMH โดยมีมูลค่าทรัพย์สินราว 3.480 ล้านล้านบาท
Oxfam เรียกร้องให้ผู้บังคับใช้นโยบาย เพิ่มภาษีกับคนที่รวยที่สุดในโลก 0.5% ตลอดช่วงทศวรรษถัดไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านความรวย ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนมากพอในการสร้าง 117 ล้านอาชีพในภาคส่วนต่างๆ เช่น การศึกษาและสุขภาพ
คำแนะนำอื่นๆ ในการลดความเหลื่อมล้ำจาก Oxfam ได้แก่ การลงทุนในระบบการดูแลระดับชาติ, คัดค้านการเหยียดเพศ, เสนอกฎหมายที่ปกป้องสิทธิของนักดูแล และยุติความรวยสุขขีด
ประเทศไทยก็เผชิญกับความเหลื่อมล้ำเช่นกัน อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สศช.) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ปี ค.ศ.2019 ระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ความเหลื่อมล้ำในไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ยังสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค โดยค่าความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient) ด้านรายได้ลดลงจาก 0.514 ในปี พ.ศ.2549 มาอยู่ที่ 0.453 ในปี พ.ศ.2560 ซึ่งยังเป็นค่าที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
อ้างอิงจาก
https://www.reuters.com/article/us-davos-meeting-inequality-idUSKBN1ZJ00B
https://www.posttoday.com/economy/news/581969
พิสูจน์อักษร: จิรัชญา ชัยชุมขุน
#Brief #TheMATTER