เมื่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทำให้หลายประเทศได้รับผลกระทบ อย่างประเทศออสเตรเลียที่ได้เผชิญกับวิกฤติไฟป่าครั้งใหญ่ จนทำให้สัตว์จำนวนมาก โดยเฉพาะโคอาลาเสี่ยงสูญพันธุ์ ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลออสเตรเลียเพิ่มมาตรการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นักวิทยาศาสตร์กว่า 270 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องสภาพอากาศ, ไฟ และอุตุนิยมวิทยา ได้เรียกร้องให้ รัฐบาลออสเตรเลีย ออกมาตรการอย่างเร่ง ด่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้เมืองแคนเบอร์รา ทำงานด้านการทูต เพื่อบรรลุข้อตกลงในความร่วมมือการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศในระดับโลก หลังเกิดเหตุการณ์ไฟป่ารุนแรงในประเทศ
ในจดหมายเปิด ที่ถูกเผยแพร่ในช่วงเวลาเดียวกับที่รัฐสภาออสเตรเลียเปิดประชุมสภาครั้งแรกของปี นักวิทยาศาสตร์ ได้กล่าวว่า หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นถึงความเกี่ยวข้องอย่างไม่ชัดเจน ระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ กับการเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดไฟป่าซึ่งมีความรุนแรงและเกิดขึ้นเป็นประจำ ในพื้นที่ของประเทศออสเตรเลีย
ในจดหมายระบุว่า เหตุการณ์รุนแรงเหล่านี้มีแต่จะแย่ลงเรื่อยๆ ในอนาคต หากไม่มีมาตรการที่มีการเห็นพ้องร่วมกันและมีความจริงใจ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของโลก
นอกจากนี้ ในจดหมายยังระบุว่า ต้องมีมาตรการแบบทันทีทันใด ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และจัดการให้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว เพื่อทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหลือศูนย์ ในปีค.ศ.2050
.
“แม้จะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และสภาพอากาศที่รุนแรงอย่างที่เราเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นไฟป่า พายุลูกเห็บ และภัยแล้ง แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถเชื่อมโยงปัญหาเหล่านี้ และออกมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุของวิกฤติได้” ลิน มอร์เกน (Lyn Morgain) ผู้บริหาร Oxfam กล่าว
ปัญหาสภาพอากาศที่รุนแรง ทำให้เกิดกระแสวิจารณ์นโยบายของรัฐบาลออสเตรเลียที่ใช้อยู่ในปัจจุบันว่า ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา โดยสมาชิกสภาฝ่ายเสรีนิยมบางส่วนมีความเห็นว่า รัฐบาลต้องทำอะไรกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและนโยบายด้านพลังงานมากกว่านี้
ข้อเรียกร้องของนักวิทยาศาสตร์ มาพร้อมกับ การวิเคราะห์ตลาดพลังงานของบริษัท Reputex ซึ่งได้คาดการณ์ว่า ออสเตรเลียจะมีการใช้พลังงานไฟฟ้าทดแทน 50% ในปี ค.ศ.2030 ถึงแม้ว่าจะขาดนโยบายด้านพลังงานจากรัฐบาลกลางก็ตาม แต่ก็ได้มีการเตือนว่า การลงทุนใหม่ในด้านลมและพลังงานแสงอาทิตย์ที่อยู่ในภาวะตกต่ำ อาจส่งผลกระทบต่อการลดลงอย่างต่อเนื่องของราคาค่าส่งไฟฟ้า
อ้างอิงจาก
พิสูจน์อักษร: จิรัชญา ชัยชุมขุน
#Brief #TheMATTER