หลายคนคงเคยชื่นชมแล้วรู้สึกประทับใจกับแสงของหิ่งห้อยในตอนกลางคืน แต่ตอนนี้นักวิจัยเผยว่าน้องกำลังเจอกับวิกฤติ เมื่อการสูญเสียที่อยู่อาศัย การใช้ยาฆ่าแมลง และการใช้แสงประดิษฐ์ ได้ทำให้หิ่งห้อยซึ่งมีจำนวนกว่า 2,000 สปีชีส์ทั่วโลกกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์
การสูญเสียที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยที่ทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในป่ามีจำนวนลดลง เช่น หิ่งห้อยบางชนิด ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหานี้เช่นกัน เพราะพวกมันต้องการสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ในการดำเนินชีวิตตามวงจรชีวิตของพวกมัน
ยกตัวอย่างเช่น หิ่งห้อยมาเลเซีย (สกุล Pteroptyx tener ) ที่ต้องการพื้นที่ป่าชายเลนและพืช เพื่อการผสมพันธุ์ แต่ป่าชายเลนทั่วมาเลเซียได้ถูกเปลี่ยนเป็น พื้นที่สำหรับเพาะปลูกต้นปาล์มน้ำมัน และพื้นที่เพาะเลี้ยงพืชและสัตว์ในน้ำ ทำให้หิ่งห้อยไม่สามารถอยู่ได้
อีกทั้ง นักวิจัยยังพบว่าการใช้ ‘แสงประดิษฐ์’ ในตอนกลางคืน (เช่น ไฟถนน ไฟจากป้ายโฆษณา และแสงเรืองบนท้องฟ้า (Skyglow) ) เป็นภัยคุกคามต่อหิ่งห้อยมากที่สุดเป็นอันดับ 2 เพราะหิ่งห้อยหลายตัวต้องพึ่งพา ‘การเรืองแสงทางชีวภาพ’ (Bioluminescence) หรือ ปฏิกริยาทางเคมีในร่างกายที่ทำให้พวกมันเรืองแสงได้และช่วยในการหาคู่ ซึ่งสามารถถูกรบกวนได้ด้วยแสงประดิษฐ์
อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หิ่งห้อยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ คือ ‘การท่องเที่ยวชมหิ่งห้อย’ อย่างใน ญี่ปุ่น, ไต้หวัน, และมาเลเซีย มีการจัดกิจกรรมการชมแสงหิ่งห้อยเพื่อความบันเทิง ซึ่งตอนนี้กำลังได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
ในขณะที่ไทย งานวิจัยกล่าวว่า การจราจรของเรือยนต์ในแถบแม่น้ำใกล้ป่าชายเลน ได้มีการโค่นต้นไม้ กัดกร่อนริมฝั่งแม่น้ำ และทำลายที่อยู่อาศัยของหิ่งห้อย
งานวิจัยได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหานี้ว่า ต้องมีการจัดตั้ง และจัดการพื้นที่ท่องเที่ยว ให้มีวิธีการที่การที่ดีที่สุดในการปกป้องหิ่งห้อยจากการถูกเหยียบย่ำ, มลภาวะทางแสง และยาฆ่าแมลง
ซอนนี่ หว่อง (Sonny Wong) ผู้เขียนงานวิจัยร่วม จาก Malaysian Nature Society กล่าวว่า เป้าหมายของทีมวิจัย คือ การทำให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้สามารถเข้าถึงได้ โดย ผู้จัดการที่ดิน, ผู้กำหนดนโยบาย และผู้ที่หลงใหลในหิ่งห้อย และพวกเขาต้องการให้หิ่งหอย ส่องสว่างในตอนกลางคืนไปอีกนานแสนนาน
หิ่งห้อยเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ในฐานะตัวบงชี้ถึงความอุดมสมบูรณ์ของป่าชายเลน เพราะหิ่งห้อยมักจะอาศัยอยู่ในพุ่มไม้ที่ใกล้แหล่งหรือหนองน้ำสะอาด และพื้นที่ทีไม่มีเสียงดังรบกวน จึงอาจกล่าวได้ว่า ป่าชายเลนใดมีหิ่งห้อย ป่าชายเลนนั้นมีความอุดมสมบูรณ์
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/2020/02/03/world/fireflies-extinction-risk-scn/index.html
https://academic.oup.com/bioscience/advance-article/doi/10.1093/biosci/biz157/5715071
https://www.dmcr.go.th/detailLib/1968
#Brief #TheMATTER