ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงในมหาสมุทร อาจเดินทางไปไกลกว่าที่เราคิด เมื่อนักวิจัยพบว่า สัตว์ทะเลสปีชีส์ใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ ซึ่งอาศัยอยู่ในส่วนลึกของทะเลที่ห่างไกลจากผู้คน ก็ได้รับผลกระทบพลาสติกเช่นกัน
งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และถูกเผยแพร่ใน Zootaxa วารสารวิชาการด้านสัตววิทยา ระบุว่า ทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล ประเทศอังกฤษ ได้ค้นพบสิ่งมีชีวิตคล้ายกุ้งที่ความลึกราว 6 กิโลเมตร ในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (Mariana Trench) ในมหาสมุทรแปซิฟิก
“งานวิจัยชิ้นนี้ เราขอนำเสนอสปีชีส์ที่ 9 ‘Eurythenes plasticus sp. nov.’ ซึ่งถูกดักจับด้วยกับดักเหยื่อระหว่างความลึก 6010 เมตร และ 6949 เมตร ในร่องลึกก้นสมุทรมาเรียนา (ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก) ในปี ค.ศ.2016” ผู้เขียนงานวิจัยระบุ
แม้จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกค้นพบใหม่ แต่ก็ไม่รอดพ้นจากมลพิษที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ โดยนักวิจัยเผยว่าสิ่งมีชีวิตดังกล่าว มีตัวหนึ่งที่มีไมโครพลาสติกไฟเบอร์ในไส้หลัง และพลาสติกดังกล่าวมีความคล้ายคลึงกับพอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (PET) ถึง 83.74% ซึ่งการค้นพบนี้ ทำให้นักวิจัยตั้งชื่อมันว่า ‘Eurythenes plasticus’
อลัน จาไมสัน (Alan Jamieson) ผู้นำทีมวิจัย เผยว่า ทางทีมวิจัยคาดหวังที่จะทำให้เกิดความสนใจในเรื่องของปัญหามลพิษพลาสติกที่กำลังเพิ่มขึ้น และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากมัน
“พวกเราร่างคำแถลงการณ์ เพื่อกล่าวว่า ตอนนี้พวกเราอยู่ในจุดที่ ค้นพบสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ๆ จากที่อยู่อาศัยที่ยังไม่เคยถูกสำรวจ และมันถูกปนเปื้อนด้วยพลาสติกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”
คาทินกา เดย์ (Katinka Day) จาก WWF ประเทศออสเตรเลีย เผยว่า ในทุกๆ ปี มีขยะพลาสติกจำนวนกว่า 8 ล้านตันถูกทิ้งลงในมหาสมุทรทั่วโลก และขยะพลาสติกจำนวนกว่า 53% มีที่มาจากทวีปเอเชียตะวันออกเชียงใต้ โดยขยะพลาสติกถูกส่งออกมาจากประเทศที่มั่งคั่งอย่าง ประเทศออสเตรเลีย และจบที่หลุมฝั่งกลบในทวีปเอเชียตะวันออกเชียงใต้ ก่อนถูกพัดพาลงในแม่น้ำ และมหาสมุทรในที่สุด
เธอเผยอีกว่า พลาสติกอยู่ในอากาศที่พวกเราหายใจ น้ำที่พวกเราดื่ม และตอนนี้อยู่ในสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มันเป็นภัยพิบัติระดับโลก ที่ต้องการให้ชาติต่างๆ ทั่วโลกมีปฏิบัติการร่วมกัน ทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ
อ้างอิงจาก
https://www.nzherald.co.nz/lifestyle/news/article.cfm?c_id=6&objectid=12314371
https://www.mapress.com/j/zt/article/view/zootaxa.4748.1.9
พิสูจน์อักษร: จิรัชญา ชัยชุมขุน
#Brief #TheMATTER