วิกฤต COVID-19 และมาตรการรับมือของภาครัฐ สร้างผลกระทบต่อคนไทยเกือบทุกคน (หรือจะพูดว่าทุกคน ก็ไม่น่าจะผิดนัก) รัฐบาลเองก็ยอมรับ จึงควักงบกลางและออก พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านบาท มาช่วยเหลือ
คำถามที่น่าสนใจก็คือ แล้วความช่วยเหลือที่ว่า ไปถึงผู้เดือดร้อนทุกภาคส่วนได้มากน้อยแค่ไหน?
เพื่อตอบคำถามดังกล่าว สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้ทำแบบสำรวจออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9-13 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า มาตรการต่างๆ ที่รัฐบาลออกมารอบแล้วรอบเล่า ‘เข้าถึง’ ผู้เดือดร้อนในกลุ่มต่างๆ มากน้อยเพียงใด มีผู้มาตอบคำถาม 8,929 คน ครบทั้ง 77 จังหวัด – ซึ่งส่วนใหญ่ 88% ตอบว่า ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐเลย
โดยสาเหตุ ส่วนใหญ่ระบุว่าเพราะติด ‘เงื่อนไข’ ??? (มีทั้งกรณี ‘ไม่มีสิทธิ์’ และ ‘มีสิทธิ์แต่ถูกปฏิเสธ’)
แยกรายอาชีพ
1.) นายจ้าง ได้รับความช่วยเหลือ 11% อาทิ หักรายจ่ายเป็นกรณีพิเศษถ้าไม่ปลดคน สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ความช่วยเหลือด้านภาษี พักเงินต้นและดอกเบี้ย ฯลฯ
2.) พนักงาน ลูกจ้าง แรงงาน ได้รับความช่วยเหลือ 12% อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ความช่วยเหลือด้านภาษี เงินเยียวยา 5,000 บาท ลด/เลื่อนจ่ายค่าน้ำค่าไฟ ลด/เลื่อนจ่ายภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ลดค่าสมทบกองทุนประกันสังคม ฯลฯ
3.) อาชีพอิสระ ได้รับความช่วยเหลือ 11% อาทิ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ความช่วยเหลือด้านภาษี ผ่อนคล้ายเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ ลด/ยืดเวลาจ่ายค่าเช่า เงินเยียวยา 5,000 บาท ฯลฯ
4.) ผู้ว่างงาน ได้รับความช่วยเหลือ 9% อาทิ ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนคลายเกณฑ์ปรับโครงสร้างหนี้ ลด/เลื่อนจ่ายค่าน้ำค่าไฟ เงินเยียวยา 5,000 บาท ฯลฯ
ผู้ตอบแบบสอบถามยังมีข้อเสนอแนะในภาพรวม อาทิ ขยายมาตรการช่วยเหลือให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่ม ลดเงื่อนไขการเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ จัดหางานให้ประชาชนที่ถูกเลิกจ้าง ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่จำเป็นนำเงินมาช่วยเหลือประชาชน คืนเงินได้ภาษีเงินได้นิติบุคคล เพิ่มลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ผ่อนปรนให้บางธุรกิจกลับมาทำธุรกิจต่อได้ เช่น ร้านอาหาร ฯลฯ
– ดูผลสำรวจแบบละเอียดได้ที่: https://www.nesdc.go.th/ewt_dl_link.php?nid=10130
#Brief #TheMATTER