การเรียนออนไลน์ เป็นหนึ่งแนวทางหลักในการรับมือกับการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งไว้ แต่หลังจากที่เริ่มเรียนออนไลน์ไปแล้ว กลับมีปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย จนเกิดเป็นกระแส #เรียนออนไลน์ ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์
ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งนโยบายไว้ว่า ให้พื้นที่ที่ไม่สามารถเปิดเรียนที่โรงเรียน ใช้ระบบการเรียนรู้ทางไกลและระบบออนไลน์ 80% ส่วนอีก 20% หรือมากกว่านี้ ให้โรงเรียนและคุณครูในแต่ละพื้นที่พิจารณาออกแบบตามความเหมาะสม
เราไปสำรวจความเห็นของผู้คนจากในโซเชียลมีเดีย และรายงานข่าวต่างๆ ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในวันแรกที่เริ่มมีการเรียนออนไลน์ ดังนี้
1. ระบบล่มชั่วคราว: เริ่มมาด้วยระบบเรียนออนไลน์ ที่ให้เด็กๆ เข้าไปเช็คชื่อตั้งแต่ 8.00 น. และเริ่มเรียนตอน 8.30-14.30 น. แต่พอเข้าไปได้ไม่กี่นาที ก็ไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบการเรียนได้
2. เด็กไม่มีอุปกรณ์และไม่เพียงพอต่อสมาชิกในครอบครัว: หลายบ้านมีเด็กที่ต้องเรียนออนไลน์มากกว่า 1 คน แต่ที่บ้านไม่มีอุปกรณ์ให้เด็กสามารถใช้เรียนพร้อมกันได้ ยิ่งกว่านั้นหลายครอบครัวก็ไม่มีอุปกรณ์สำหรับเรียนออนไลน์ โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 พบว่า ครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และมีคอมพิวเตอร์ใช้ 30.2% นอกเขตเทศบาล 14.6%
3. เข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต: ไม่ใช่แค่เครื่องมือในการเรียนเท่านั้น หลายครอบครัวก็ไม่มีอินเทอร์เน็ตให้ใช้งาน โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2561 ก็ระบุว่า ครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี มีการใช้อินเทอร์เน็ตในเขตเทศบาล ร้อยละ 89.5 นอกเขตเทศบาล ร้อยละ 80.6
4. เด็กไม่มีสมาธิในการเรียนออนไลน์: มีหลายคนออกมาพูดว่า การเรียนผ่านระบบออนไลน์ที่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์โดยตรงกับครูแล้ว ทำให้เด็กๆ ไม่มีสมาธิในการเรียน เพราะไม่สามารถจดจ่ออยู่หน้าจอได้เป็นเวลานานๆ ซึ่งทำให้พวกเขาไม่ได้เนื้อหาความรู้
5. ผู้ปกครองดูแลเด็กตลอดเวลาไม่ได้: เมื่อต้องเรียนออนไลน์ตลอดทั้งวัน ก็ต้องอาศัยความช่วยเหลือในการดูแลเด็กๆ จากผู้ปกครองด้วยเช่นกัน แต่หลายคนก็เล่าว่า ผู้ปกครองไม่สามารถสอนลูกได้ และยังไม่สามารถดูแลเด็กได้ตลอดเวลาด้วย เพราะต้องหาเลี้ยงครอบครัว
6. เด็กและผู้ปกครองไม่สามารถจูนช่องทีวีได้: หลายคนพูดถึงปัญหาเรื่องการจูนหาช่องที่ใช้เรียนไม่ได้ บางคนก็เล่าว่า พอจะเข้าเรียนผ่าน DLTV ระบบก็ล่มอีก จนไม่สามารถเรียนได้สักที
7. เด็กเรียนตามไม่ทัน: การเรียนแบบไม่มีปฏิสัมพันธ์ ทำให้พวกเขาไม่สามารถสอบถามข้อสงสัยระหว่างเรียนจากครูได้โดยตรง เด็กหลายคนจึงตามสิ่งที่ครูสอนทางออนไลน์ไม่ทัน และต้องมาสรุปข้อมูลตามเองทีหลัง
หลังจากที่มีเสียงวิจารณ์ในเชิงลบจากการเรียนออนไลน์วันแรก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กล่าวว่า “วันนี้ยังมีปัญหาที่เราต้องแก้ เพราะยังต้องมีการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น เรื่องการเรียนออนไลน์ก็มีปัญหา ซึ่งมีวัตถุประสงค์ คือต้องการเรียนไม่ให้ขาดตอน หลังจากนั้นก็ต้องไปเปิดเรียนมาตรฐาน แต่มีคนไปเข้าใจว่าจะทำแบบนี้ไปตลอด ซึ่งไม่ใช่”
อ้างอิงจาก
https://www.matichon.co.th/politics/news_2190859
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/880998
http://www.nso.go.th/sites/2014/DocLib13/ด้านICT/ตัวชี้วัดITU/Pocketbook61-Q4.pdf
https://www.thairath.co.th/news/society/1846823
#Brief #TheMATTER