วันนี้ (3 กรกฎาคม 2563) นับเป็นวันที่ 100 ซึ่งเราอยู่กับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หลังมีการประกาศใช้มาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา โดยครั้งล่าสุด ได้มีการต่ออายุไปถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ขณะที่มีการผ่อนคลายในระยะที่ 5 ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 3 ที่มีการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ นับตั้งแต่การระบาดของ COVID-19 ซึ่งแต่ละครั้งขยายระยะเวลาออกไปอีก 1 เดือน
ขณะที่ผ่านมา มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินหลายหมื่นคดี และข้อมูลของ iLaw เอง ยังชี้ว่า มีนักกิจกรรมทางการเมือง ที่ถูกตั้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมเพื่อแสดงความคิดเห็นในประเด็นทางการเมือง อย่างน้อย 23 คน จาก 6 คดีแล้วด้วย ทั้งยังมีการเรียกร้องของเครือข่ายอย่าง People Go Network, ภาคนักศึกษา และประชาชน ที่ไปชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพราะนอกจากเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว ยังกระทบต่อภาพลักษณ์ และเศรษฐกิจของประเทศ
แต่ถึงอย่างนั้น ในการขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินทุกครั้ง ทาง ศบค.เองก็เน้นย้ำว่า เป็นไปเพื่อป้องกันโรค โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และประธาน ศบค.ก็ย้ำว่า การต่ออายุนั้น เป็นคนละกาลเทศะกับการลิดรอนสิทธิ และเป็นไปเพื่อป้องกัน COVID-19 ที่ยังมีความเสี่ยงมากให้ทันเวลา รวมถึงที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ ก็ให้เหตุผลว่าในช่วงการคลายล็อกดาวน์เฟส 5 จะมีการปลดล็อกกิจการที่เป็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงมีการเปิดเทอม ทำให้มีการสัญจรของประชาชนมากขึ้น ทำให้ยังมีความสำคัญของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอยู่ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศต่อเนื่องมา 39 วันแล้ว
อ้างอิงจาก
https://news.thaipbs.or.th/content/293752
https://www.mcot.net/viewtna/5e905438e3f8e40aef42a210
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/887224
https://www.thairath.co.th/news/politic/1879328
https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551/10164016885115551/?type=3&theater
#Brief #TheMATTER