ถึงจะเข้าครึ่งปีหลังแล้ว แต่ข่าวการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ก็ยังปรากฎให้เห็นอยู่เนืองๆ อย่างกรณีล่าสุด เมื่อทางการจีนยกระดับการเตือนภัย หลังจากพบผู้ติดเชื้อกาฬโรค ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียในของจีน
ทางการจีนออกประกาศเตือนภัยโรคระบาด หลังได้รับรายงานจากโรงพยาบาลท้องถิ่นว่า พบผู้ติดเชื้อกาฬโรครายใหม่ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยตอนนี้ ทางการได้ออกประกาศแจ้งเตือนการระบาดเป็นระดับที่ 3 จากทั้งหมด 4 ระดับ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับการระบาดแล้ว
ข้อกำหนดในการแจ้งเตือนนี้ ได้แก่ ห้ามการล่าสัตว์ ห้ามรับประทานเนื้อสัตว์ที่อาจเป็นพาหะ และนำไปสู่การติดเชื้อได้ และขอให้ประชาชนช่วยรายงาน กรณีที่สงสัยว่าอาจป่วยเป็นโรคระบาด หรือมีไข้โดยไม่ทราบสาเหตุ รวมถึง หากพบตัวมาร์มอร์ต (marmot) สัตว์ตระกูลฟันแทะขนาดใหญ่ มีอาการป่วยหรือตาย ให้ประชาชนรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที เพราะตัวมาร์มอร์ตอาจเป็นพาหะของกาฬโรคได้
เจ้าหน้าที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ในเมือง Ulaanbaatar เมืองหลวงของมองโกเลีย กล่าวว่า เนื้อดิบและไตของตัวมาร์มอร์ต เป็นที่เชื่อกันในกลุ่มคนท้องถิ่นว่า เป็นยารักษาโรคพื้นบ้านและดีต่อสุขภาพ
มีรายงานถึงการระบาดของกาฬโรคอยู่เป็นระยะๆ ในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเมื่อปี ค.ศ.2017 พบผู้ติดเชื้อกาฬโรคถึง 300 คน ในมาร์ดากัสการ์ และเมื่อเดือนพฤษภาคมปี ค.ศ.2019 ก็มีผู้เสียชีวิตจากกาฬโรค ในมองโกเลีย 2 ราย ซึ่งทั้งคู่ติดเชื้อ หลังจากรับประทานเนื้อตัวมาร์มอร์ตแบบดิบ
สำหรับกาฬโรคนั้น เป็นโรคติดต่อที่อันตรายถึงชีวิต ซึ่งมีสัตว์ฟันแทะส่วนใหญ่เป็นพาหะนำโรค โดยในยุคกลาง เรียกกาฬโรคว่า ‘Black Death’ ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนในยุโรป แอฟริกา และเอเชีย ไปกว่า 50 ล้านราย
อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยังไม่มีแนวโน้มว่ากาฬโรคจะกลายเป็นโรคติดเชื้อที่แพร่ระบาดในวงกว้างได้ เพราะตอนนี้ทางการแพทย์เข้าใจเรื่องราวของกาฬโรคมากขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้ว
อ้างอิงจาก
https://www.cbc.ca/news/world/china-plague-bubonic-warning-1.5638598
https://www.bbc.com/news/world-asia-china-53303457
#Brief #TheMATTER