แม้ว่าช่วงของ Pride Month จะจบลงไปแล้ว แต่การรณรงค์ และต่อสู้เรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศก็ยังดำเนินต่อไป โดยที่ผ่านมา ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ได้ผลักร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมแพ่งและพาณิชย์ ม.1448 เข้าสภา เพื่อที่จะให้ทุกเพศสภาพสามารถสมรสได้อย่างเท่าเทียม และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ซึ่งขณะนี้ กระบวนการของร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) กำลังอยู่ในช่วงรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ใน 4 ประเด็นที่มีการผลักดันให้เกิดการแก้ไขร่างคือ
1. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น ‘เพศเดียวกัน’ และ ‘ต่างเพศ’ สามารถทำการหมั้นกันได้หรือไม่
2. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น ‘เพศเดียวกัน’ หรือ ‘ต่างเพศ’ สามารถสมรสกันได้ ตามกฎหมายหรือไม่
3. ควรแก้ไขอายุบุคคลที่จะทำการสมรสกันได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือไม่
4. ควรแก้ไขให้คู่สมรสทั้งที่เป็นเพศเดียวกันและต่างเพศมีสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธระหว่างกันเหมือนสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาหรือไม่
โดย ทาง ส.ส.ของพรรคก้าวไกล ระบุว่า พ.ร.บ. การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 (การสมรส) จะส่งผลให้การสมรสที่ไม่จำกัดเพศเพียงชายหญิง และการสมรสที่ให้สิทธิทุกอย่างเท่ากับชายหญิง รวมไปถึงการสมรสของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ไม่กระทบสิทธิเดิมใดของชายหญิง เพียงแค่ขยายสิทธิไปสู่บุคคลทุกเพศ
ธัญวัจน์ เคยให้สัมภาษณ์ถึงการผลักดันการแก้ไข พ.ร.บ.กับ The MATTER ไว้ว่า “เรามองว่าคนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพเท่าเทียมกัน และสามารถมีความรักได้โดยไม่จำกัดเพศ ดังนั้น ผู้ชายผู้หญิงก็สามารถสมรสกันได้เหมือนเดิม แล้วผู้ชายกับผู้ชายก็สามารถสมรสกันได้ หรือผู้หญิงกับผู้หญิงก็สามารถสมรสกันได้” ซึ่งการแก้ ปพพ.นี้ ถือเป็นการกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว แตกต่างจาก พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งถือเป็นการออกกฎหมายใหม่ด้วย
ในตอนนี้ #สมรสเท่าเทียม ได้ติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ ซึ่งมีการพูดคุยกันถึงร่าง พ.ร.บ. และมีการสนับสนุน เชิญชวนให้ประชาชนเข้าไปแสดงความคิดเห็นกัน ซึ่งล่าสุด (อัพเดทเวลา 17.10) มีผู้เข้าไปแสดงความเห็นมากถึงกว่า 18,000 คนแล้ว
เข้าไปศึกษาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ :
https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?&id=94&error_protect&fbclid=IwAR2NLavEW6jaWf9zlrt4FCnD-Nqrl3UHYGj-H1aXcaNG2rgLNm4i6VXftdU
อ่านบทความเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคืบหน้ากฎหมายสมรสของคนหลากหลายทางเพศ ความแตกต่างของปพพ.ตัวนี้ และ พ.ร.บ.คู่ชีวิตได้ที่ :
https://thematter.co/social/gender/same-sex-marrige-law/114996
#Brief #TheMATTER