แค่รักกันอย่างเดียวก็พอ .. ไม่จริงหรอก ต้องได้รับสิทธิอื่นๆ ตามอย่างที่คู่สมรสสมควรได้รับด้วยสิ
Pride month ช่วงเวลาสำคัญของเราทุกคนวนเวียนกลับมาอีกครั้งแล้ว แต่ประเด็นที่หลายคนเฝ้ารอกันมานานอย่าง การแต่งงานระหว่างคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ยังคงเป็นเรื่องที่ค้างคาอยู่ในสังคมมานาน
ก่อนหน้านี้ หลายคนคงเห็นข่าว พ.ร.บ.คู่ชีวิต หรืออาจได้ยินเรื่องการแก้ประมวลกฎหมายที่จะทำให้มนุษย์ ไม่ว่าเป็นเพศไหน ก็ได้รับสิทธิในการสมรสเหมือนๆ กันมานาน แต่จนถึงตอนนี้ ความคืบหน้าของกฎหมายทั้งสองเป็นไปอย่างไรบ้าง? แล้วเมื่อไหร่ที่เหล่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับสิทธิ เสรีภาพ และสวัสดิการต่างๆ แบบเดียวกับที่คู่รักชาย-หญิงได้รับเสียที
หนทางการแต่งงานของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ
ขอเริ่มก่อนว่า หนทางการจะได้อยู่แบบคู่สมรสกันของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในตอนนี้ ถูกแบ่งออกเป็น 2 แบบ แบบแรกคือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งจะออกมาเป็นกฎหมายใหม่ให้เหล่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศโดยเฉพาะ กับอีกแบบคือการผลักดันการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ปพพ.) มาตรา 1448
สำหรับรูปแบบหลังนั้น เมื่อเร็วๆ มานี้ (14 มิถุนายน) ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล ออกมาแถลงว่า ได้ดันร่างพระราชบัญญัติการปพพ. บรรพ 5 (การสมรส) นี้ ซึ่งจะทำให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ มีสิทธิสมรสเช่นเดียวกับชายหญิง โดยไม่กระทบกับสิทธิเดิมของชายหญิงเลย
แล้วกฎหมายนี้คืออะไร ทำไมถึงต้องแก้ไขด้วย?
ปพพ. เป็นกฎหมายที่คุ้มครองประชาชนในหลากหลายประเด็น ตั้งแต่เรื่องของสภาพบุคคล กรรมสิทธิ์ ห้างหุ้นส่วน ไปจนถึงการสมรส โดยใน บรรพ 5 ซึ่งเป็นเรื่องของครอบครัวนั้น จะพูดถึงสิทธิในการหมั้นและสมรสที่ ‘ชาย’ และ ‘หญิง’ กระทำร่วมกันได้ แต่ไม่ได้กำหนดให้คนที่มีเพศกำเนิดเดียวกันสามารถแต่งงานตามกฎหมายนี้ได้
โดยตอนนี้ ข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ระบุไว้ว่า “การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้”
ชวินโรจน์ ธีรพัชรพร ทนายความและหนึ่งในผู้วิจัยเรื่อง สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย กล่าวว่า เงื่อนไขที่อนุญาตให้เฉพาะชายและหญิงตามเพศกำเนิดสามารถแต่งงานเป็นคู่สมรส และสามี-ภรรยา ที่ชอบด้วยกฎหมายได้นั้น เป็นการทำให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้รับความเสมอภาคในการสมรส ไม่ได้รับสิทธิและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และตามกฎหมายฉบับอื่นๆ
ขณะเดียวกัน เมื่อตัวกฎหมายเดิมมีลักษณะเช่นนี้ ธัญวัจน์ก็มองว่า นี่ยังเป็นกฎหมายที่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศอยู่ ซึ่งจริงๆ กฎหมายที่ทางพรรคเสนอให้แก้ไขนี้ ก็ไม่ได้กระทบสิทธิของใคร แต่เพียงแค่ขยายสิทธิให้กฎหมายที่ผู้ชายและผู้หญิงใช้อยู่ในปัจจุบัน ไปสู่คนที่มีความหลากหลายทางเพศด้วย
นั่นหมายความว่า เปลี่ยนจากคำว่า ‘ชายกับหญิง’ เป็น ‘บุคคลกับบุคคล’
“เรามองว่าคนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพเท่าเทียมกัน และสามารถมีความรักได้โดยไม่จำกัดเพศ ดังนั้น ผู้ชายผู้หญิงก็สามารถสมรสกันได้เหมือนเดิม แล้วผู้ชายกับผู้ชายก็สามารถสมรสกันได้ หรือผู้หญิงกับผู้หญิงก็สามารถสมรสกันได้”
การสมรสเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่ใช่แค่ความรักเท่านั้นที่เราควรจะได้รับจากเป็นคู่สมรส แต่ยังต้องรวมไปถึงสิทธิต่างๆ เช่น การรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน สิทธิในการให้มรดก สิทธิในการใช้ชื่อ-สกุลร่วมกัน หน้าที่ในการอภิบาลผู้พิทักษ์อีกฝ่ายในตอนที่อีกฝ่ายไร้ความสามารถ สิทธิในการจัดการศพ การใช้สิทธิสวัสดิการของคู่สมรส รวมไปถึง การฟ้องทางคู่สมรสด้วยเช่นกัน
ทั้งก่อนหน้านี้ เมื่อปี พ.ศ.2559 ประเทศไทยได้ให้คำปฏิญาณต่อคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติว่าจะทบทวนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่มีเงื่อนไขจำกัดสิทธิการสมรสของกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอีกด้วย
ความแตกต่างของการแต่งงานของคนหลากหลายเพศ ระหว่างผ่าน พ.ร.บ.คู่ชีวิต กับ ปพพ.
อีกหนึ่งกฎหมาย ที่ถูกพูดถึงว่าเป็นการให้สิทธิคนที่มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานกัน ก็คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต ซึ่งล่าสุด พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรมให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ผ่านการตรวจร่างแล้ว ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนที่ต้องไปให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบก่อนจะเสนอเข้าสภาได้ โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) และผู้แทนจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิตเสร็จแล้ว หลังพิจารณาร่วมกันมา 19 ครั้ง
พ.ร.บ.คู่ชีวิตนั้นจะทำให้คู่ชีวิตได้รับสิทธิต่างๆ ในฐานะคู่ชีวิต เช่น มีสิทธิและหน้าที่ช่วยเหลือ อุปการะ เลี้ยงดูกันและกัน มีสิทธิในการยินยอมรักษาพยาบาล สิทธิในการจัดการศพ การดำเนินคดีอาญาแทนคู่ชีวิต การเรียกร้องสินไหมทดแทนจากการขาดไร้อุปการะ การจัดการทรัพย์สิน สิทธิในการรับมรดก เป็นต้น
แล้วถ้าอย่างนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้จะทำให้เกิดผลแตกต่างอย่างไรกับการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์?
“ถ้าพูดถึง พ.ร.บ.คู่ชีวิต จริงๆ หลักฐานคิดมันอาจจะตั้งต้นมาไม่ตรงกับปัญหาเท่าไหร่นัก ดังนั้นจึงมีปัญหาเยอะ พูดง่ายๆ คือ คำว่าคู่ชีวิต ไม่ได้อยู่ในกฎหมายอื่นเลย เพราะฉะนั้น คำว่าคู่ชีวิตจึงไม่ตอบโจทย์ในกฎหมายต่างๆ สวัสดิการรัฐ หรือการปกป้องดูแลอื่นๆ ในกฎหมายสมรส” ธัญวัจน์กล่าว
นอกจากนี้ ธัญวัจน์ยังบอกอีกว่า การออก พ.ร.บ.คู่ชีวิต จะทำให้เกิดคำถามทับซ้อนตามมาด้วยว่า คนที่จดทะเบียนสมรสแล้ว จดคู่ชีวิตได้ไหม มันเกี่ยวกันไหม ไม่เกี่ยวแปลว่าก็จดซ้อนได้หรือเปล่า ซึ่งจะทำให้เกิดความสับสนและทับซ้อนทางกฎหมาย
งานวิจัยเรื่อง สิทธิความเสมอภาคในการสมรสของบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ระบุว่า บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เป็นบ่อเกิดแห่งสิทธิในการสมรสบัญญัติ ให้ชายและหญิงตามเพศกำเนิดที่จะได้รับสิทธิและศักดิ์ศรี ในการเป็นคู่สมรสหรือสามีภริยาตามกฎหมาย และยังส่งผลไปยังบทบัญญัติในกฎหมายอื่นๆ
ดังนั้นแล้ว จึงมีหลายคนที่มองว่า การแก้ไขที่ตัวกฎหมายนี้ จึงเป็นการแก้ไขที่ตรงจุดมากกว่าจะออก พ.ร.บ.ฉบับใหม่
หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นการออกกฎหมายใหม่ เพื่อให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานกันได้ ส่วนการแก้ไข ปพพ. บรรพ 5 นั้น คือการแก้ไขกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว ให้เพิ่มสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเข้าไปรวมด้วย
ชวินโรจน์ ตั้งคำถามว่า ทำไมคู่ชายหญิงใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้ แต่พอเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ กลับต้องสร้างกฎหมายเฉพาะให้ เหมือนเป็นพลเมืองชนชั้นสอง ไม่เท่าเทียมกับพลเมืองคนอื่นๆ จึงต้องไปใช้กฎหมายแยกต่างหากเช่นนั้น
แต่มีข้อโต้แย้งว่า การแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะกระทบกับกฎหมายอื่นๆ อีกมาก เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีหลากหลายฉบับ และบทบัญญัติในกฎหมายบางข้อที่ยังกำหนดเรื่องชาย-หญิง ซึ่งการจดทะเบียนสมรสของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ย่อมส่งผลกระทบถึงกฎหมายจำนวนมาก เช่น ภาษี สินสมรส การเลี้ยงดูบุตร จนเป็นเหมือนการรื้อโครงสร้างกฎหมายครั้งใหญ่ และเป็นเรื่องที่ซับซ้อนอย่างมาก
อย่างไรก็ดี ธัญวัจน์ กล่าวด้วยว่า การยอมรับเพศหลากหลาย เป็นสิ่งหนึ่งที่จะทำให้ต่างชาติจะมองเราเปลี่ยนไป เพราะคนไทยไม่ได้เรียนรู้เรื่องเพศสถานะ เพศวิถี อย่างละเอียด ทำให้ต้องยอมรับว่ายังมีบางกลุ่มที่ยังไม่ยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางเพศ
“กระโปรงที่เราใส่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เราไม่ได้เกิดมาพร้อมกับกระโปรง แล้วต้องทำความเข้าใจว่า สถานะที่สังคมกำหนดขึ้นกับเพศวิถี มันไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามกรอบสังคม ต้องไปดูในเรื่องของสำนึกความเป็นเพศ ถ้าเรารับแก้กฎหมายนี้ ต่างชาติก็จะมองว่า เรายอมรับสำนึกความเป็นมนุษย์ และสำนึกของคนก็เป็นจุดเริ่มต้นของสิทธิมนุษยชนที่สมบูรณ์ขึ้น คือการที่เราเคารพสำนึก สำคัญกว่าการที่เราเคารพว่าคนนี้ใส่กระโปรง ไม่ใส่กระโปรง”
“เราต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์คือสำนึกของพวกเขา นั่นคือสิทธิมนุษยชน”
แล้วคู่รักที่มีความหลากหลายในต่างประเทศ แต่งงานกันได้ด้วยกฎหมายแบบไหน?
เมื่อพูดถึงการแต่งงงานระหว่างเพศเดียวกันแล้ว ไต้หวัน มักถูกยกขึ้นมากล่าวถึงอยู่บ่อยๆ เพราะเป็นที่แรกในเอเชียที่ให้การแต่งงานระหว่างคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยก่อนหน้านั้น ไต้หวันได้พิจารณาร่างกฎหมายว่าด้วยการแต่งงานระหว่างคู่รักเพศเดียวกัน 3 ฉบับด้วยกัน โดยฉบับที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา คือฉบับที่เสนอโดยรัฐบาลของประธานาธิบดี ไช่ อิงเหวิน (Tsai Ing-wen)
ความเคลื่อนไหวที่นำไปสู่การแก้ไขกฎหมายของไต้หวัน เกิดขึ้นหลังจากศาลฎีกาของไต้หวันออกวินิจฉัยว่า การห้ามคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานกัน เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิความเสมอภาคของพลเมือง จึงต้องรีบหาทางแก้ไข โดยมีทางเลือกอยู่ 2 ทาง คือ แก้ไขกฎหมายที่มีอยู่ หรือออกกฎหมายใหม่เพื่อรับรองการแต่งงานของคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ
วิธีการเลือกของรัฐบาลไต้หวันก็คือ การจัดการลงประชามติ ซึ่งต้องทำอยู่หลายครั้งเพราะเป็นประเด็นที่มีผู้คนคิดเห็นแตกต่างกันออกไป แล้วผลการลงประชามติก็สรุปออกมาว่า คนจำนวนมากไม่รับข้อเสนอที่จะกำหนดให้การสมรสระหว่างคนที่มีเพศกำเนิดเดียวกันเป็นสิ่งถูกกฎหมาย โดยบอกว่า คำว่า ‘สมรส’ ควรจำกัดไว้สำหรับคู่รักชายหญิงเท่านั้น
ดังนั้น ไต้หวันจึงไม่สามารถปรับแก้นิยามคำว่า ‘สมรส’ ที่มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งได้ และต้องออกกฎหมายใหม่ เป็นกฎหมาย ‘คู่ชีวิต’ สำหรับการแต่งงานของคนที่มีความหลากหลายทางเพศมาโดยเฉพาะแทน
อีกหนึ่งประเทศที่ให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศแต่งงานกันได้ คือ ฟินแลนด์ ซึ่งเริ่มต้นจากการออกกฎหมายคู่ชีวิต (Civil Partnership Law) ในปี พ.ศ.2544 โดยกำหนดสิทธิให้เฉพาะคนที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น จากนั้น ก็มีการปรับแก้กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จนสามารถปฏิบัติได้จริงในปี พ.ศ.2560
ฟินแลนด์ใช้เวลากว่า 10 ปี ในการทำให้สังคมยอมรับการสมรสของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ โดยอาศัยการพูดคุยและถกเถียงผ่านเวทีเสวนาสาธารณะ จนทำให้ผู้คนจำนวนมากยอมรับได้ จากตอนแรกที่สำรวจความเห็นของชาวฟินแลนด์ แล้วมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้มากถึง 50%
ขณะที่ ออสเตรเลีย ซึ่งกฎหมายอนุญาตให้คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานกันได้นั้น เกิดขึ้นหลังจากรัฐบาลออสเตรเลียสำรวจความคิดเห็นของชาวออสเตรเลียกว่า 12.7 ล้านคน ทางไปรษณีย์ เพื่อพิจารณาว่า ควรจะเปลี่ยนกฎหมายเพื่อให้มีการแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกันหรือไม่ ซึ่งประชาชน 61.66% ของการสำรวจ เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายทั้งหมด เพื่อให้บุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถแต่งงานกันได้
การแก้ไขกฎหมายของออสเตรเลียนั้น เป็นไปตั้งแต่การแก้นิยามของคำว่าแต่งงาน เป็น ‘สมรสกับของบุคคลสองคน’ และตัดคำว่า ‘สามี ภรรยา’ ออกไปเป็นคำว่า ‘คู่สมรส’ แทน ไปจนถึงการมอบสิทธิต่างๆ ที่คู่สมรสควรได้รับ และการจัดพิธีแต่งงานตามศาสนา รวมถึงการขอวีซ่าในรูปแบบของคู่สมรสได้ด้วย
แม้ตอนนี้ เหล่าคู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศในไทยจะยังไม่ได้สิทธิต่างๆ จากการสมรสกัน แต่ก็มีการผลักดันทางกฎหมายอยู่ ซึ่งต้องจับตาดูกันว่า สุดท้ายแล้ว พวกเขาจะได้ใช้กฎหมายแบบไหนในการสมรสและถือครองชีวิตคู่ รวมถึง ได้รับสิทธิ และสวัสดิการต่างๆ ตามอย่างที่มนุษย์พึงได้รับอย่างเท่าเทียมกัน
อ้างอิงจาก