หลายประเทศจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรเด็กจะน้อยลง อัตราการเกิดจะน้อยลง การคาดการณ์เรื่องประชากรเป็นประเด็นที่ถูกพูดคุย เพื่อการเตรียมตัวสำหรับนโยบาลต่างในอนาคต แต่งานวิจัยล่าสุด ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันในสหรัฐอเมริกาที่ตีพิมพ์ใน Lancet เปิดเผยว่า ประชากรโลกจะต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 2 พันล้านคน ในช่วงปลายศตวรรษนี้
ในงานวิจัยนี้ ระบุว่า ประชากรโลกจะสูงขึ้นถึง 9.7 พันล้านคน ภายในปี 2064 หรือในอีก 40 ปีข้างหน้า แต่จำนวนนี้ จะกลับลดลงเหลือเพียง 8.8 พันล้านคน ภายในปี 2100 โดยจำนวนนี้จำนวนผู้สูงอายุ จะมีจำนวนแซงหน้ากลุ่มคนหนุ่มสาว ซึ่งจะมีประชากรมากถึง 2.4 พันล้านคนที่อายุมากกว่า 65 ปี เทียบกับ 1.7 พันล้านคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี
งานชิ้นนี้ยังชี้ให้เห็นว่า อัตราการเจริญพันธุ์หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของผู้หญิงจะลดลง โดยในปี 2100 จะอยู่ที่เพียง 1.7 คนเท่านั้น ขณะที่ในปี 2018 สถิติของ World bank ระบุว่าอยู่ที่ 2.4 โดยปัจจัยสำคัญมาจาก การเข้าถึงการคุมกำเนิด และการให้ความรู้แก่ผู้หญิง ทั้งผู้หญิงยังได้รับโอกาสที่เปิดกว้าง ทำให้ออกไปทำงาน แทนที่การทำหน้าที่แม่บ้าน และเลี้ยงลูกด้วย
ไม่เพียงแค่ประชากรโลกที่ลดลง แต่ 23 ประเทศนั้นจะมีประชากรจะลดลงมากว่าครึ่งหนึ่ง หรือ 50% เลยด้วย โดยประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น เช่นเดียวกับประเทศอย่างญี่ปุ่น สเปน และ โปรตุเกส และเกาหลีใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรป และเอเชียตะวันออก ขณะที่มีอีก 34 ประเทศ ที่จำนวนประชากรจะลดลงเฉลี่ยร้อยละ 25-50 รวมถึงจีน ที่ตอนนี้มีประชากรเยอะที่สุดในโลก สวนทางกับประชากรของแอฟริกาใต้สะฮาราที่จะเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในอีก 80 ปีข้างหน้า
ประชากรที่ลดลง จะส่งผลต่อคนในวัยทำงานที่อาจจะลดลง จนส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ ได้ โดยคริสโตเฟอร์ เมอร์เรย์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการวัดและประเมินสุขภาพ (IHME) ผู้นำการวิจัย กล่าวว่า “ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการรักษาระดับประชากรในปัจจุบัน การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางภูมิรัฐศาสตร์คือ นโยบายการเปิดนโยบายรับการเข้าเมือง และนโยบายทางสังคมที่สนับสนุนให้ครอบครัวมีจำนวนลูกตามที่ต้องการ”
สไตน์เอมิล วอลเซต หนึ่งในผู้ร่วมวิจัย ยังกล่าวว่าแม้ว่าอาจจะเป็นข่าวดี สำหรับการลดการปล่อยก๊าซคาบอร์นไดออกไซด์ เรื่องความมั่นคงทางอาหาร แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรจะทำให้เกิดปัญหา และความท้าทายทางเศรษฐกิจ และสังคม ในการจัดการกับระบบสุขภาพของผู้สูงอายุที่จะมีเพิ่มขึ้นจำนวนมากด้วย
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)30677-2/fulltext
https://data.worldbank.org/indicator/SP.DYN.TFRT.IN
#Brief #TheMATTER