พอถึงเวลาที่ต้องเริ่มจริงจังกับความรัก ความสัมพันธ์ หรือชีวิตคู่ ไม่ว่าใครก็คงคาดหวังความจริงใจจากอีกฝ่าย เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ความสัมพันธ์แข็งแรงขึ้น และแสดงให้เห็นว่าเรารู้จักคนคนนี้ได้ดีแค่ไหน เพื่อจะโอบรับตัวตนของเขาทั้งหมดไม่ว่าด้านร้ายหรือดี
แน่นอนว่าการเผยตัวตนที่แท้จริง นิสัยใจคอ เรื่องที่ชอบและไม่ชอบนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญในความสัมพันธ์ เพราะเราจะได้ปรับตัวกันตั้งแต่เนิ่นๆ หากไปด้วยกันไม่ได้ก็แค่โบกมือลา จะได้ไม่เสียเวลากันทั้ง 2 ฝ่าย
ทว่าชีวิตคนเราก็มีหลายด้านมากกว่าที่เห็น ความผิดพลาดและเรียนรู้เป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นความรักที่ผ่านมาในอดีต หรือความกังวลที่เกิดขึ้นมาชั่วครั้งชั่วคราว บางครั้งก็มีบ้างที่เราอยากเก็บเรื่องราวเหล่านี้ไว้กับตัวเอง เพราะไม่อยากให้อีกฝ่ายต้องมารับรู้แล้วหนักใจ นอกจากไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว มันยังอาจฝากรอยแผลไว้ในความสัมพันธ์นี้ด้วย
เมื่อความรักต้องอาศัยความไว้ใจ เราจะทำยังไงกับความจริงบางเรื่องที่อาจส่งผลต่อความสัมพันธ์นี้ ถ้าไม่บอกออกไปนั่นหมายความว่าเราไม่ซื่อสัตย์ไหมนะ? แล้วเมื่อถึงเวลาที่ต้องบอกในสิ่งที่อยากเก็บไว้เป็นความลับขึ้นมา เราจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบใจกันดี?
ไม่บอก ≠ ไม่รัก
ไม่ว่าจะเป็นการออกความเห็นเรื่องเพื่อนของอีกฝ่าย หรืออธิบายว่าเราคิดถึงความรักเก่าๆ แค่ไหน การสารภาพเรื่องที่อีกฝ่ายไม่เคยรู้มาก่อน มองเผินๆ อาจดูเหมือนเป็นการแสดงความจริงใจว่า เราไม่มีอะไรปิดบังไว้จริงๆ แต่บางครั้งการบอกทุกอย่างออกไปก็อาจทำให้ใครอีกคนรู้สึกแย่ที่ต้องมารับรู้ก็ได้
อย่างไรก็ตาม บางครั้งการเก็บบางเรื่องไว้กับตัวเอง ก็ไม่ได้หมายความว่าเรากำลังไม่ซื่อสัตย์เสมอไป มิเชลล์ เฮอร์ซอก (Michelle Herzog) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์และนักบำบัดด้านการแต่งงานและครอบครัว อธิบายว่า หนึ่งในสิ่งที่ทำให้ชีวิตคู่ราบรื่นขึ้นคือ การเข้าใจความแตกต่างระหว่าง ‘ความเป็นส่วนตัว’ กับ ‘ความลับ’
ความเป็นส่วนตัวกับความลับ ทั้ง 2 สิ่งนี้แม้ดูเผินๆ จะคล้ายกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ‘ความเป็นส่วนตัว’ จะเกี่ยวข้องกับความคิดและประสบการณ์ของเรา เช่น เรื่องน่าอายในอดีต การมีเวลาส่วนตัว หรือเรื่องที่คุยกับเพื่อนและครอบครัว ซึ่งไม่ลดทอนความเชื่อใจของอีกฝ่าย ในขณะที่ ‘ความลับ’ มักมาพร้อมกับความไม่ซื่อสัตย์ และทำให้อีกฝ่ายเจ็บปวด เช่น การปิดบังเกี่ยวกับเงินหรือหนี้สิน การแอบคุยกับคนอื่นเชิงชู้สาว หรือโกหกเกี่ยวกับงานที่ทำ
แม้การใช้ชีวิตคู่ หรือการมีความสัมพันธ์ที่จริงจัง อาจทำให้พื้นที่ของเราและคนรักถูกทาบซ้อน จนเกือบจะกลายเป็นพื้นที่เดียวกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องละทิ้งพื้นที่ส่วนตัวไปด้วย บางครั้งเราสามารถมีเวลาไปดูหนังคนเดียวก็ได้ เมื่อรู้อยู่แล้วว่าอีกฝ่ายไม่ชอบแนวนี้ หรือจะเก็บเรื่องน่าอายตอนเด็กไว้บ้างก็ได้ เพราะนี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรายังเป็นตัวของตัวเองอยู่
โจนาธาน เบนเนตต์ (Jonathan Bennett) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์และการออกเดตจาก Double Trust Dating ก็กล่าวต่อเรื่องนี้ว่า หากการเปิดเผยเรื่องราวบางเรื่องไม่ได้มีประโยชน์อะไร หรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี บางทีการเก็บเรื่องนั้นๆ ไว้กับตัวเองก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า เพราะนอกจากจะเป็นการเคารพขอบเขตของกันและกันแล้ว ยังช่วยให้เรารักษาความสงบในความสัมพันธ์นี้ด้วย
บางเรื่องก็ต้องบอกแม้จะเจ็บปวด
ในความสัมพันธ์ที่เฮลตี้ การมีพื้นที่ส่วนตัวถือเป็นเรื่องที่เห็นได้บ่อยๆ เมื่อคนทั้งคู่อยู่บนฐานของความเชื่อใจกันและกัน ในขณะที่บางความสัมพันธ์ก็มีความลับ หรือมีเรื่องที่ต้องปิดบังอีกฝ่ายเอาไว้มากเกินไป รู้ตัวอีกทีอาจถึงขั้นทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจกับการพูดเรื่องต่างๆ อย่างเปิดเผยกับคนรัก ซึ่งก็สัญญาณของความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ เป็นความรักที่ต้องมีความลับต่อกันไปเรื่อยๆ ในที่สุด
หากไม่แน่ใจว่าเรื่องที่เก็บไว้จะส่งผลต่อความสัมพันธ์หรือเปล่า เราอาจลองถามคำถามต่อไปนี้ดู เช่น เรื่องนี้ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของเราไหม? เป็นเรื่องที่นอกเหนือจากการตกลงของคู่เราหรือเปล่า? การไม่บอกเรื่องนี้ทำให้อีกฝ่ายไม่ไว้ใจไหม?
ถ้าคำตอบคือ ‘ใช่’ ก็อาจถึงเวลาที่ต้องบอกให้อีกฝ่ายรับรู้ แม้จะเจ็บปวดบ้างก็ตาม โดย verywellmind เว็บไซต์ที่ให้ความรู้ด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีโดยผู้เชี่ยวชาญ ได้แนะนำวิธีการสื่อสารกับคนรักเมื่อถึงเวลาต้องแสดงความจริงใจออกมา ดังนี้
- เตรียมตัวให้พร้อม – ก่อนเป็นฝ่ายเริ่มต้น เราต้องยอมรับว่า การพูดคุยครั้งนี้อาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเครียด เจ็บปวด หรือโกรธได้ ขึ้นอยู่กับว่าเรื่องอะไรและร้ายแรงแค่ไหน การทำความเข้าใจเรื่องนี้ตั้งแต่ต้นจะช่วยให้เราพร้อมรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้
- เลือกเวลาที่เหมาะสม – ช่วงเวลากำลังจะเข้านอน ช่วงเวลาที่อีกฝ่ายกำลังเหนื่อย หรือเพิ่งเจอเรื่องเครียดมา อาจเป็นเวลาที่ไม่เหมาะที่จะพูดคุยเรื่องราวที่เก็บไว้เท่าไหร่ ดังนั้น ควรเช็กดูให้แน่ใจว่าอีกฝ่ายพร้อมและมีเวลาเพียงพอ จากนั้นจึงค่อยเป็นฝ่ายเอ่ยปากเริ่มต้นการพูดคุยครั้งนี้
- จริงใจได้ แต่ไม่รุนแรง – การพูดตรงๆ และจริงใจ ไม่จำเป็นต้องทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเจ็บปวดเสมอไป เราสามารถพูดความจริงได้อย่างสุภาพ โดยที่ยังนึกถึงความรู้สึกของอีกฝ่าย พยายามไม่พาดพิงคนอื่น เพื่อไม่ให้หลุดประเด็นและไม่นำไปสู่ความขัดแย้งจากบุคคลที่ 3
- อย่าหาข้อแก้ตัว – หากเรื่องที่จะพูดกำลังแตะเส้นความไว้วางใจในความสัมพันธ์ เช่น ออกไปกินข้าวกับเพื่อนที่เคยแอบชอบ แต่ตอนนี้ไม่คิดอะไรแล้ว หรือแอบเปิดบัญชีธนาคารโดยไม่บอกอีกฝ่ายทั้งที่ตกลงกันแล้ว ช่วงเวลานี้ควรพยายามอธิบายเหตุผลอย่างซื่อสัตย์ว่าเกิดอะไรขึ้น และไม่หาข้อแก้ตัวให้กับการกระทำ การตรงไปตรงมาและเปิดเผยอาจเป็นทางเดียวที่จะเรียกความไว้วางใจจากอีกฝ่ายกลับคืนมา
สำหรับบางสถานการณ์ แม้การไม่พูดกันบางเรื่องอาจจะช่วยประคองความรักของเราได้ แต่สุดท้าย ความเชื่อใจก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ การเข้าใจเส้นแบ่งระหว่างความเป็นส่วนตัวกับการมีความลับต่อกันและกัน อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ของเราไปต่อได้
อ้างอิงจาก
centerformodernrelationships.com