เครื่องเกมหนึ่งเครื่องเก็บความทรงจำอะไรไว้บ้าง?
น่าใจหายเหมือนกันว่าเครื่องเล่นเกม Nintendo Switch ที่อยู่กับเรามานานหลายปีกำลังจะมีโมเดลใหม่ออกมาในปีนี้ แม้เครื่องใหม่จะใช้ชื่อเดิมเติมแค่เลข 2 ต่อท้าย และยังคงใช้ระบบปฏิบัติการเดิม ถึงอย่างนั้น มันก็ยังมีความโหวงๆ ในใจ หากต้องบอกลาเครื่องเกมเครื่องเก่า
เป็นเวลาเกือบ 8 ปี นับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปี 2017 ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา Nintendo Switch ได้กลายเป็นเครื่องเกมสามัญประจำบ้าน ด้วยความเฉพาะตัวที่เน้นเกมครอบครัวเป็นหลัก เกมเมอร์หลายคนจึงผูกผันกับเครื่องเกมคอนโซลเครื่องนี้ นึกย้อนถึงวันแรกที่ได้สัมผัสจอยคอนโทรเลอร์สีฟ้านีออนและสีแดงนีออนแสบตา ความน่าทึ่งจอยคอนโทรเลอร์ที่มีกลไกถอดเสียบเล่นได้แบบไร้สาย ที่แม้หลังผ่านการใช้งานจะมีอาการดริฟต์ไปบ้าง รวมถึงประสบการณ์การเล่นเกมนับหลายชั่วโมงที่ยากจะลืม
เครื่องคอนโซลแต่ละเครื่องมีวงจรชีวิตของมัน สำหรับใครที่เตรียมใจจะซื้อเครื่องใหม่ นี่คือวิธีบอกลา (ชั่วคราว)ให้เครื่องเกมเครื่องเก่าที่เคยผ่านร้อนผ่านหนาวและสนุกมาด้วยกัน
กลับไปเล่นเกมแรก
ไม่ว่าจะเล่นมาแล้วกี่เกม การได้เล่นเกมแรกบนเครื่อง Nintendo Switch ก็ยังคงเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ
หากนึกย้อนกลับไป ประสบการณ์ที่เราได้เล่นเกมแรกบนเครื่องเกมใหม่นั้นน่าวิเศษอย่างบอกไม่ถูก ยังจำได้ถึงความรู้สึกของนิ้วมือที่พยายามกดปุ่มและผลักคันโยกให้สอดคล้องกับความคิดในสมองและภาพบนหน้าจอตรงหน้า จะโจมตีพลาดหรือเดินผิดก็มีเกิดขึ้นบ้าง ด้วยการบังคับที่ไม่เคยชิน
แต่ละคนมีเกมแรกเป็นของตัวเอง และหลายคนคงจำได้ดีถึงการได้ลองผิดลองถูกไปพร้อมๆ กับเกมนั้น อาจจะเป็นการลองฟันดาบหรือทรงตัวกลางเวหาในเกม The Legend of Zelda: Breath of the Wild หรือการจับโปเกมอนครั้งแรกใน Pokémon Sword and Shield
จากตอนนั้นจนถึงตอนนี้ เวลาคงผ่านมาสักพักแล้ว การได้ย้อนกลับไปเล่นเกมแรกที่เคยเล่นก็ช่วยให้นึกถึงประสบการณ์การแรกที่เรามีกับเจ้าเครื่อง Nintendo Switch ได้เป็นอย่างดี
ย้อนดูสถิติการเล่น
หากการยืนระยะของความสัมพันธ์วัดจากวันเวลาที่ใช้ร่วมกัน สำหรับ Nintendo Switch ก็คงเป็นจำนวนชั่วโมงที่เสียไป …เอ่อ ไม่สิ จำนวนชั่วโมงแสนสนุกที่ได้เล่นเกมบนเครื่องเกมเครื่องนี้
สำหรับวิธีเช็กจำนวนชั่วโมงการเล่นก็ง่ายแสนง่าย จากหน้า Home แค่เลือกกดไปที่ไอคอนหน้าเพจของมุมซ้ายบน และเข้าไปที่ Profile เมนูแรกของแถบเมนูด้านซ้ายนั่นแหละ แค่นี้เราก็จะเห็นข้อมูลการเล่นเกมของเรา เกมไหนเล่นคือเกมที่เล่นล่าสุด และใช้เวลาเล่นไปทั้งหมดเท่าไหร่
การได้มานั่งดูว่าใช้เวลากับเกมไหนมากน้อยเท่าไหร่ก็อาจจะเป็นหนึ่งในวิธีที่ให้เราได้ทบทวนความรู้สึก เกมไหนมีจำนวนชั่วโมงแค่หลักหน่วยหรือไม่กี่นาที ก็คงเป็นเกมที่ไม่เข้ากับเราเท่าไหร่นักกลับกันบางเกมก็น่าตกใจ เพราะเสียเวลาไปกับมัน เอ้ย ใช้เวลาไปกับเกมเกมนั้นนับร้อยหรืออาจจะพันชั่วโมง แปลว่าเราชอบเกมนั้นมากแน่ๆ
ตัวเลขชั่วโมงการเล่นจะเป็นเท่าไหร่ก็ช่างเถอะ เวลาเหล่านั้นมันไม่น่าเสียดายเลยจริงไหม?
นัดเพื่อนเล่นเกมด้วยกันอีกครั้ง
เล่นเกมบางทีใช่ว่าจะเล่นคนเดียวซะที่ไหน!
อาจจะมีสักเกมเราที่เคยได้แชร์ประสบการณ์ร่วมกับคนอื่น บางเกมเป็นเกมเนื้อเรื่องที่ต้องเล่นคนเดียวก็จริง แต่มีเพื่อนที่เล่นไปพร้อมๆ กันกับเรา บางเกมเช่น Animal Crossing หรือ Splatoon 3 สามารถออนไลน์เล่นกับเพื่อนได้ ยิ่งไปกว่านั้น บางเกมต้องมาเล่นข้างๆ กันแบบ couch co-op ถึงจะสนุกอย่างเกมเต้น Just Dance หรือแข่งกันเล่นมินิเกมใน Mario Party
หากพอจะมีเวลาว่างตรงกัน การชักชวนเพื่อนๆ ที่คุ้นเคยกลับมาเปิดจอเล่นเกมด้วยกันอีกครั้งก็ถือเป็นไอเดียที่น่าลอง
เซฟภาพความทรงจำ
ถึงเวลากลับไปดูรูปเกมที่เคยแคปไว้
เครื่องเกมคอนโซลในยุคหลังมักจะมาพร้อมกับฟังก์ชั่นถ่ายรูป (capture) เพื่อให้ผู้เล่นได้บันทึกโมเมนต์สำคัญในเกม Nintendo Switch เองก็มีปุ่มแคปเจอร์ที่ใช้งานได้ไม่ยาก กดหนึ่งครั้งจะถ่ายภาพนิ่งของเกมที่กำลังเล่นอยู่ทันที หรือถ้ากดค้างไว้สักพักก็จะอัดคลิปสั้น 30 วินาที หลังจากนั้นทุกรูปทุกคลิปจะไปรวมกันอยู่ที่ Album
อัลบั้มภาพนี่เองจึงเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์ที่จะพาเราย้อนนึกถึงโมเมนต์น่าจดจำ ที่บางทีอาจจะลืมไปแล้ว ไม่ว่าจะภาพถ่ายรูปรวมกับเพื่อนๆ ที่ผจญภัยไปด้วยกัน ภาพทิวทัศน์ในเกมที่เมื่อได้ย้อนกลับมาดูก็ยังตราตรึง หรือคลิปบทสนทนาสั้นๆ กับ NPC ที่ให้กำลังใจเราในวันที่ท้อแท้จากชีวิตจริง เพราะก็เป็นเกมนี่แหละที่ประคับประคองให้ผ่านวันแย่ๆ หรือเหตุการณ์ลำบากเช่นโควิคมาได้ การมีภาพหรือคลิปที่บันทึกไว้ก็ถือเป็นตัวช่วยย้ำเตือนได้ดี
ภาพและคลิปอันมีค่าเหล่านั้น อย่าลืมบันทึกมันเอาไว้ เผื่อวันใด Nintendo Switch เครื่องเก่าเกิดพังขึ้นมาจริงๆ จะได้ไม่เสียดายความทรงจำที่เคยมี
เคลียร์อุปกรณ์
หากคิดว่าคงไม่ได้เล่นไปอีกนาน ก็ได้โอกาสเก็บให้เข้าที่เข้าทาง
เป็นปกติของเครื่องคอนโซลที่จะมีสายไฟและอุปกรณ์เสริมพะรุงพะรัง ทั้งสายชาร์จ อุปกรณ์ต่อพ่วง จอยคอนโทรลเลอร์หลากสี แผ่นเกมหลายตลับ ยังมีแก็ดเจ็ตอย่าง Ring-Con และ Leg Strap สำหรับใช้เล่นคู่กับเกม Ring Fit Adventure ที่หยิบออกมาแล้วอาจจะปวดใจนิดๆ เพราะไม่ได้เล่นบ่อยเท่าที่คิดไว้ หรือกล่องกระดาษลังที่หลงเหลืออยู่ของไอเดียสุดบรรเจิดอย่าง Nintendo Labo
เอาของทุกอย่างมารวมกัน หยิบกล่องขนาดกำลังพอดีมาใช้เพื่อคัดแยกอุปกรณ์ แยกบางชิ้นออกมาเพราะสามารถนำไปใช้ต่อได้เช่น สาย HDMI หรือจอยคอนโทรลเลอร์แบบโปร (Nintendo Switch Pro Controller) ส่วนที่เหลือเก็บลงกล่อง ทำความสะอาดตัวเครื่องคอนโซล ชาร์จให้อยู่ที่ระดับ 50% และเก็บไว้ให้หยิบออกมาจากกล่องได้สะดวก สำหรับนำออกมาชาร์จทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อรักษาคุณภาพแบตเตอรี่ พันสายชาร์จให้เรียบร้อย จัดระเบียบตลับเกมและแก็ดเจ็ต ก่อนจะเก็บกล่องไว้ให้ไกลจากความร้อนและความชื้น
อาจจะฟังดูยุ่งยากไปบ้าง แต่ก็เป็นวีธีเก็บรักษาที่ป้องกันไว้ไม่ให้เครื่องคอนโซลเสียหาย และอุปกรณ์ต่างๆ สูญหาย
บอกลา, เก็บไว้ หรือส่งต่อ
เก็บลงกล่องแล้ว หลังจากนี้ก็อยู่ที่ว่าจะเอายังไงต่อ จะเก็บเอาไว้เองเผื่อว่าสักวันหนึ่ง เราอาจจะอยากกลับมาเปิดสวิตช์เล่นเครื่องเกมเครื่องนี้อีกครั้ง คงเหมือนกับ Game Boy Color หรือ PSP ที่ถึงเวลาจะผ่านไป เครื่องเกมคอนโซลเหล่านี้ก็ยังมีเสน่ห์บางอย่างดึงดูดให้เรากลับมาหามันเสมอ
อีกตัวเลือกหนึ่งคือการส่งต่อให้คนอื่นที่อยากจะลองเล่น Nintendo Switch ดูบ้าง ไหนๆ เราจะมูฟออนไปเล่นเครื่องใหม่อยู่แล้ว การส่งต่อให้คนอื่นก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร แต่ก่อนจะส่งต่อก็อย่าลืม logout ไอดีตัวเองด้วยล่ะ เพราะ Nintendo Switch 2 ที่กำลังจะออกใหม่ใช้ระบบเดียวกัน (backward compatible) ไอดีเดิมยังใช้ได้อยู่
สำหรับ Nintendo Switch คงต้องบอกลากันแค่นี้ ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าเครื่องเกมเครื่องหนึ่งนอกจากข้อมูลเกมแล้ว จะบรรจุความทรงจำเอาไว้ได้ …ไว้เจอกันอีกทีเมื่อคิดถึงนะ