รู้กันอยู่ว่า เงินที่รัฐบาลใช้อยู่ทุกวันนี้ 88% มาจากภาษีที่เก็บจากประชาชน ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีอื่นๆ
หลายครั้งที่รัฐทำอะไรพลาด จนต้องนำเงินภาษีไปจ่ายชดเชยความผิดพลาดนั้นๆ จึงถูกสื่อมวลชนเรียกว่า ‘ค่าโง่’ เพราะเท่ากับนำภาษีของประชาชนไปใช้ในเรื่องไม่ฉลาดนัก – แต่กรณีคดีเหมืองทองคำที่บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด ฟ้องร้องรัฐบาลไทย ต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เหตุใด ส.ส.ฝ่ายค้านจึงดาหน้าออกมาเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องควักเงินตัวเองจ่าย หากมีค่าเสียหายไปจนถึงค่าดำเนินการต่างๆ เกิดขึ้นด้วย? มันต่างจากกรณีที่รัฐเสียค่าโง่อื่นๆ ก่อนหน้านี้อย่างไร
เรื่องค่าใช้จ่ายในการสู้คดีเหมืองทองคำกับบริษัทอัคราฯ ที่เคยได้รับสัมปทานเหมืองทองคำใน จ.พิจิตร แต่มาถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ.2559 กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจาก ส.ส.พรรคก้าวไกลออกมาเผยว่า มีการตั้งงบไว้ในงบประมาณของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเป็นเงินในการ ‘สู้คดี’ นี้ ต่อเนื่อง 3 ปี รวมอย่างน้อย 389 ล้านบาท แบ่งเป็น
ปี พ.ศ.2562 – 60 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2563 – 218 ล้านบาท
ปี พ.ศ.2564 – 111 ล้านบาท
หลังจากนั้น ส.ส.และแกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ก็ออกมาประสานเสียงเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนจ่ายเงินในส่วนนี้เอง รวมไปถึงว่าหากท้ายที่สุดแล้วแพ้คดี ค่าใช้จ่ายทั้งหมด พล.อ.ประยุทธ์ก็ควรจะเป็นคนออกด้วย
ทำไม?
หากยังจำกันได้ การเลิกสัมปทานเหมืองทองคำ จ.พิจิตรของบริษัทอัคราฯ เกิดจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจพิเศษ ตาม ‘มาตรา 44’ ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 72/2559 ยกเลิกสัมปทานเหมืองทองคำในปลายปีเดียวกัน อ้างเหตุผลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ส่งผลให้มีพนักงาน 1,000 คนตกงาน
ข้อดีของมาตรา 44 คือผู้ใช้อำนาจจะไม่ถูกฟ้องร้องคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญา – แต่ก็มีข้อยกเว้นเล็กๆ ก็คือ เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แล้วทีนี้ บริษัทอัคราฯ มีบริษัทแม่ชื่อ บริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด หรือ Kingsgate จากประเทศออสเตรเลีย ไปใช้สิทธิฟ้องร้องการถูกปิดเหมืองนี้ต่อคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ เรียกค่าเสียหาย 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 2.4 หมื่นล้านบาท
ประจวบเหมาะกับก่อนเลือกตั้งช่วงต้นปี พ.ศ.2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ‘ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ’ ไม่ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีต่อหลังเลือกตั้ง
เมื่อการใช้มาตรา 44 เป็นการใช้อำนาจเฉพาะตัว ประกอบกับศาลชี้ว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ เลยมีการแคมเปญให้ พล.อ.ประยุทธ์ รับผิดชอบถ้ามีเหตุเสียหายจากคดีเหมืองทองคำนี้ไปเอง ถ้าเกิดแพ้คดีขึ้นมา
ข้อเรียกร้องดังกล่าว จึงเป็น ‘ข้อเรียกร้อง(ที่มีมูลเหตุจูงใจ)ทางการเมือง’ นั่นแหละ ว่ากันง่ายๆ
สำหรับคดีเหมืองทองคำในคณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ได้สืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.2563 แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการอ่านคำวินิจฉัยเมื่อใด
คู่ขนานกัน ป.ป.ช.ของไทย กำลังตรวจสอบกรณีที่มีการกล่าวหาว่า มีการเรียกรับสินบนจาก Kingsgate เพื่อให้ได้มารับสัมปทานทำเหมืองทองคำในประเทศไทยด้วย
คดีนี้มีเดิมพันเป็นเงินระดับหมื่นล้าน ประชาชนอย่างเราๆ ในฐานะผู้เสียภาษี จึงต้องจับตากันต่อไปอย่างใกล้ชิด
อ้างอิงจาก
https://www.thairath.co.th/news/politic/1920221
https://www.thairath.co.th/news/politic/1920619
https://library2.parliament.go.th/giventake/content_ncpo/ncpo-head-order72-2559.pdf
https://thematter.co/brief/recap/recap-1553936401/74054
https://www.sanook.com/news/8236882/
#Brief #TheMATTER