วันสองวันนี้ มีข่าวลือหนาหูว่า ไทยแพ้คดีใช้ ม.44 ยกเลิกประทานบัตรเหมืองทองคำ ต้องจ่ายเงิน 3 หมื่นล้านบาทให้กับบริษัทเอกชน ซึ่งคำถามสำคัญก็คือว่า แล้วใครจ่าย?
ถ้า กกต.กับผู้ตรวจการแผ่นดินเคยตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนั้น ค่าเสียหายดังกล่าวจะต้องมาจากกระเป๋าของหัวหน้า คสช.เองใช่หรือไม่?
เพื่อจะตอบสารพัดคำถามข้างต้น อยากให้ทุกคนใจเย็นๆ แล้วไล่เรียงอ่านไปทีละบรรทัด เรื่องนี้มีหลายๆ ประเด็นซ้อนกันอยู่
1.) The MATTER เริ่มสังเกตความเคลื่อนไหวของข่าวลือนี้ หลังมีคนหยิบสรุปข่าวเกี่ยวกับการยกเลิกประทานบัตรเหมืองทองคำของบริษัทอัคราฯ ที่เราทำไว้เมื่อหลายปีก่อนมาแชร์เป็นจำนวนมาก พร้อมกับการทักมาหลังไมค์รัวๆ ว่า ที่เขาว่าไทยแพ้คดีแล้ว เป็นจริงหรือไม่
2.) ในสรุปข่าวดังกล่าว เราเขียนถึงการใช้มาตรา 44 ยกเลิกการให้ประทานบัตร ‘เหมืองทองคำชาตรี’ (อยู่ใน จ.พิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก) ซึ่งเป็นเหมืองแร่ทองคำและเงินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แบ่งเป็นเหมืองทองคำชาตรีใต้ (อายุประทานบัตร ระหว่างปี 2543-2563) และเหมืองทองคำชาตรีเหนือ (อายุประทานบัตร ระหว่างปี 2551-2571) ของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด
3.) ที่ผ่านมา เหมืองทองคำชาตรีถูกวิจารณ์ว่า มีการดำเนินการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนโดยรอบ โดยเฉพาะการตรวจพบสารหนูในร่างกายของชาวบ้านรอบๆ เหมืองเกินค่ามาตรฐาน (แต่ทางบริษัทอัคราฯ ก็แย้งว่าไม่เป็นความจริง) จนกลุ่มคัดค้านเหมืองทองคำชาตรี เข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีขอให้ยกเลิกประทานบัตรเหมืองดังกล่าว
4.) ปลายปี 2559 หัวหน้า คสช.ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 72/2559 ยกเลิกประทานบัตรเหมืองทองคำชาตรีจริงๆ โดยให้ยุติประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค 2560 เป็นต้นไป ทำให้พนักงานของบริษัทอัคราฯ ราว 1,000 คนตกงานทันที
5.) ข้อดีของมาตรา 44 ก็คือ ผู้ใช้ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งทางแพ่งหรือทางอาญา – แต่มีข้อยกเว้นก็คือ การไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ นั้นน่าจะหมายรวมถึงเฉพาะในประเทศไทยหรือไม่
6.) ทีนี้ บริษัทอัคราฯ ก็มีบริษัทแม่ ชื่อบริษัท คิงส์เกต คอนโซลิเดเต็ด จำกัด อยู่ที่ออสเตรเลีย ขู่ว่าจะยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหาย 750 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยก็ราวๆ 2.7 หมื่นล้านบาท ในอัตราแลกเปลี่ยนขณะนั้น (ปัจจุบันจะอยู่ที่ราว 2.4 หมื่นล้านบาท) จนเงินดังกล่าวถูกเรียกว่าเป็น ‘ค่าโง่เหมืองทอง’ หากรัฐบาลไทยต้องจ่ายขึ้นมาจริงๆ
7.) นั่งไทม์แมชชีนกลับมาปัจจุบัน ซึ่งอยู่ช่วงหลังเลือกตั้งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ คนต่อไปของพรรคการเมืองหนึ่ง ที่ผ่านมา ก็มีข้อสงสัยว่า เจ้าตัวขาดคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ เพราะน่าจะเข้าข่ายเป็น ‘เจ้าหน้าที่(อื่นของ)รัฐ’ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 98(15) แต่ทั้ง กกต.และผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ชี้ว่าไม่ได้เป็น ไม่ขาดคุณสมบัติ เพราะเจ้าตัวไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
8.) ระหว่างนี้ก็มีข่าวลือว่า ไทยแพ้คดีบริษัทคิงส์เกตฯ แล้ว โดยอ้างอิงเอกสารที่ระบุว่า ต้องชดใช้เงินก้อนแรก 82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ราว 2.6 พันล้านบาท) และเงินบางส่วนต้องจ่ายในเดือน เม.ย.นี้
อ้าว! แล้วใครจ่ายล่ะ พล.อ.ประยุทธ์ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแล้ว ก็ต้องจ่ายเงินเองใช่ไหม (มีการอ้าง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 6 ที่บอกว่า ถ้าการทำผิดดังกล่าวไม่ใช่การใช้การกระทำในฐานะปฏิบัติหน้าที่ ให้รับผิดชอบเป็นการเฉพาะตัว) หรือยังต้องควักเงินภาษีประชาชนไปจ่ายอยู่อีก
9.) แต่ปัญหาก็คือ หากไปอ่านเอกสารดังกล่าวดูจริงๆ จะพบว่าเป็นการเรียกค่าสินไหมระหว่าง บริษัทคิงส์เกตฯ กับบริษัทประกัน กรณีที่เหมืองทองชาตรีถูกปิดเพราะความเสี่ยงทางการเมืองเท่านั้น – ยังไม่ใช่การเรียกเงินจากรัฐบาลไทย ที่คดีต่างๆ ‘ยังไม่สิ้นสุด’
10.) ต่อคำถามแรกว่าไทยแพ้คดีแล้วหรือยัง คำตอบชัดๆ ก็คือ ยัง!
ดังนั้น ก็ยังไม่ไปสู่คำถามที่ 2 ที่ว่า หากเราต้องเสียค่าโง่เหมืองทองคำจริงๆ ใครจะต้องเป็นผู้ควักเงินจ่าย จะเป็นเหมือนคดีจำนำข้าวที่มีการเรียกค่าเสียหายจากอดีตนายกฯ รายหนึ่งหรือไม่ หรือแท้จริงแล้ว มาตรา 44 จะคุ้มครองผู้ใช้ จนผู้ที่ต้องควักเงินจ่ายจริงๆ เป็นพวกเราทุกคน ในฐานะผู้เสียภาษี
คดีค่าโง่เหมืองทองอัคราฯ ยังต้องติดตามกันต่อไป
อ้างอิงจาก
https://www.facebook.com/thematterco/photos/a.1735876059961122/1930085613873498
http://www.akararesources.com/upload/20140909-akara-factsheet.pdf
http://www.kingsgate.com.au/wp-content/uploads/2019/03/1911046.pdf
https://voicetv.co.th/read/_fqnCv0sq
#Recap #เหมืองทองอัครา #TheMATTER