ภาพการประท้วง ประชาชนนับหมื่นนับแสนเดินขบวน ถือป้าย ถือร่ม ใส่หน้ากาก สวมหมวกกันน็อค ของฮ่องกง กำลังเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 แล้ว และจากการประชุมที่เป็นการเรียกร้องอย่างสันติ เริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีตัวละครที่สาม นอกเหนือจากประชาชนและรัฐบาล อย่าง ‘กลุ่มคนเสื้อขาว’ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
โดยเมื่อคืนวันอาทิตย์ที่ 21 มิถุนายน กลุ่มชายเสื้อขาวได้เข้าทำร้ายผู้ชุมนุมที่นัดกันใส่เสื้อสีดำ โดนรุมตีด้วยอาวุธ จนประชาชนได้รับบาดเจ็บ 45 ราย ท่ามกลางความสงสัยว่า กลุ่มชายเสื้อขาวพวกนี้คือใคร และก่อเหตุเหล่านี้ไปทำไม รวมถึงการชุมนุมของประชาชนฮ่องกง ว่าทำไมยังมีการรวมตัวอยู่ในทุกสัปดาห์ แม้ว่าร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะโดนเลื่อนออกไปแล้ว
กลุ่มชายเสื้อขาวคือใคร?
ยังไม่ชัดเจนว่า แก๊งชายเสื้อขาวที่ออกทำร้ายประชาชนเมื่อคืนวันอาทิตย์คือใคร แต่แหล่งข่าวของสำนักข่าว South China Morning Post ระบุว่า ชายกลุ่มนี้มีจำนวนมากกว่า 100 คน และคาดการณ์ว่า พวกเขาอาจเป็นกลุ่มคนที่โปรรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ หรืออาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมในท้องถิ่นที่รู้จักกันในชื่อ The triads ซึ่งอาจะเป็นสมาชิกของแก๊ง 14K และแก๊ง Wo Shing Wo ซึ่งเป็นแก๊งอันธพาลที่เก่าแก่ที่สุดในฮ่องกง
ในตอนนี้ ตำรวจได้จับกุมแก๊งชายเสื้อขาวได้แล้วจำนวน 6 คน ในข้อหาชุมนุมผิดกฎหมาย โดยพบว่าพวกเขามีอายุระหว่าง 24-54 ปี บางคนมีภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับแก๊งอันธพาล ในขณะที่คนอื่นๆ เป็นคนขับรถ พ่อค้าหาบเร่คนงาน รวมถึงคนว่างงานด้วย
Sonny Lo นักวิจารณ์การเมือง และนักเขียนมืออาชีพของฮ่องกง มองว่า “การโจมตีครั้งนี้ มีองค์กระกอบที่น่าสงสัยบางอย่าง ที่กำหนดเป้าหมายไปที่กลุ่มผู้ประท้วงประชาธิปไตย เพื่อสอนบทเรียนให้พวกเขา และบอกแก่เหล่าพ่อแม่ของเด็กๆ ว่า ไม่ควรออกไปประท้วง” เขายังบอกว่า การชุมนุมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการรวมตัวกันที่เมือง Yuen Long ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของฮ่องกง และใกล้กับเขตแดนจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นที่ตั้งของแก๊งอันธพาล ทำให้การประท้วงอาจมีการเกี่ยวข้องกับบุคคลที่มีภูมิหลังน่าสงสัย
นักรัฐศาสตร์การเมืองของมหาวิทยาลัยโตรอนโต Lynette Ong ผู้ที่ทำวิจัยเรื่อง ‘อันธพาลจ้าง’ เอง ก็ยังระบุว่า เหตุการณ์นี้เป็น “ปรากฏการณ์ที่พบได้ทั่วไปในจีนแผ่นดินใหญ่และประเทศอื่นๆ การประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้มาถึงจุดสูงสุดด้วยการจัดจ้างคนภายนอกให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ประท้วง” ทั้งเธอยังอ่านกลยุทธ์นี้ว่า “เป็นการข่มขู่ผู้ประท้วงเพื่อขัดขวางการดำเนินการอื่นๆ ที่จะเพิ่มมากขึ้น แต่มันก็ยังเป็นการทำร้ายความชอบธรรมของรัฐบาลในระยะยาวด้วย”
สำหรับฮ่องกง ที่มีการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยอยู่บ่อยครั้ง เหตุการณ์การโจมตีกลุ่มผู้ประท้วงไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ในการชุมนุมปฏิวัติร่มเมื่อปี ค.ศ. 2014 ที่มีกลุ่มโปรรัฐบาลบุกเข้าทำลายการตั้งค่าย กางเตนท์ของพวกเขาที่ย่านมงก๊ก ซึ่งในตอนนั้นตำรวจจับกุมชายได้ 19 คน รวมถึง 8 คน ที่มีส่วนเชื่อมโยงกับแก๊งอันธพาล และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในจีนแผ่นดินใหญ่ยังถูกกล่าวหาว่าจ่ายเงินให้แก๊งอันธพาล
รวมถึงยังมีเหตุการณ์ที่พวกอันธพาล 3 คนขี่มอเตอร์ไซค์ และเข้าโจมตีบรรณาธิการของหนังสือพิมพ์ฮ่องกงด้วยมีดหั่นเนื้อที่บริเวณหลัง ซึ่งภายหลัง สมาชิกของแก๊ง Shui Fong ก็อ้างว่าพวกเขาถูกจ้างให้โจมตีคน แลกกับเงิน 1 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง (เกือบ 4 ล้านบาท) ต่อครั้งด้วย
ทำไมผู้ประท้วง ถึงยังชุมนุมกันอยู่อีก ?
การชุมนุมในฮ่องกง เข้าสู่สัปดาห์ที่ 7 แล้วด้วยสถานการณ์ที่ดูรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ มีการปะทะระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุม ทั้งกระสุนยาง และแก๊สน้ำตา และยังร้ายแรงถึงมีกลุ่มขั้วที่ 3 ที่เข้ามาทำร้ายผู้ประท้วงแล้วด้วย
แต่ทำไมยังเกิดการเรียกร้อง และกระแสของการชุมนุมอยู่ ?
เป้าหมายของการชุมนุมในคราวแรก เกิดจากการต่อต้านร่างกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดน ที่ชาวฮ่องกงมองว่าเป็นการเพิ่มอิทธิพลให้จีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแม้ตอนนี้ แครี่ แลม ผู้ว่าการเกาะฮ่องกง จะยอมเลื่อน และระงับการพิจารณาร่างกฎหมายออกไป รวมถึงแถลงว่า “ร่างกฎหมายนี้ตายแล้ว” แต่ประชาชนและผู้ชุมนุมก็มองว่า รัฐบาลยังไม่ได้ยกเลิก และถอดถอนร่างกฎหมายนี้ออกไปอย่างเป็นทางการ
ทั้งการเดินขบวนชุมนุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงเองก็ยังเรียกร้องให้ถอนคำพูดว่าการประท้วงที่ผ่านมาของพวกเขาว่าเป็น ‘การจลาจล’ เรียกร้องความมั่นใจว่าจะมีการรับผิดชอบต่อต่อกรณีความรุนแรงของตำรวจและผู้ชุมนุม และขอให้ประชาชนได้ใช้สิทธิพลเมือง ในการได้เลือกผู้นำของเมืองอย่างอิสระด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น นอกจากข้อเรียกร้องของผู้ประท้วงแล้ว การชุมนุมยังแสดงออกถึงพลังของประชาธิปไตย ที่พวกเขาอยากแสดงออกว่าไม่ยอมตกอยู่ใต้อำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ด้วย หลังจากอังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้กับจีนในปี ค.ศ. 1997 ปักกิ่งสัญญาว่าจะรักษาเสรีภาพของฮ่องกงในอีก 30 ปีข้างหน้า ซึ่งตอนนี้ หลายคนเริ่มมองว่า ฮ่องกงมีเวลาเหลือน้อยกว่า 30 ปีแล้ว จนกระทั่งกลายเป็นเมืองๆ หนึ่งของจีนแผ่นดินใหญ่ โดยปราศจากสิทธิในสิ่งต่าง ๆ เช่นเสรีภาพในการชุมนุม และการการพูดอย่างเสรีที่พวกเขาเคยมีในอดีต
แม้การปฏิวัติร่มในปี ค.ศ. 2014 จะจบลงโดยที่ไม่บรรลุเป้าหมาย ผู้นำการประท้วงอย่างโจชัว หว่องถูกจำคุก (แต่ตอนนี้ถูกปล่อยตัวออกมาแล้ว) การชุมนุมในปีนี้ จึงเหมือนเป็นการปลดปล่อยความโกรธ และความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลในหลายปีที่ผ่านมา และความโกรธนั้นก็ดูเหมือนจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ตามสถานการณ์การปะทะกับเจ้าหน้าที่ด้วย
รวมถึงยังมีการคาดการณ์ว่า ปัจจัยจากผู้เสียชีวิต 4 ราย ที่ฆ่าตัวตายจากการชุมนุม ก็ยังเป็นองค์ประกอบให้ประชาชนโกรธ และมองว่าความตายในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากรัฐบาล และยิ่งทำให้ประชาชนไม่ไว้วางในในอนาคตของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ
ผู้ประท้วงวัย 34 ปี ที่ไม่เอ่ยนาม เล่าว่า เขาเข้าร่วมการชุมนุมหลังเห็นการกระทำของตำรวจที่โหดเหี้ยมต่อผู้ชุมนุมในวันที่ 12 มิถุนายน และรู้สึกได้รับแรงศรัทธาและความกล้าหาญ หลังมีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงครั้งแรกในวันที่ 15 มิถุนายน
“การตายของผู้ประท้วง บังคับให้ผู้คนยอมรับว่ารัฐบาลของเราเปลี่ยนไป ความประทับใจของเราต่อรัฐบาลที่ห่วงใยประชาชนก็แตกสลาย และเราเลือกที่จะเพิกเฉยมันเป็นเวลาหลายปีที่เมืองของเราเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ แต่คราวนี้เราทำไม่ได้” เขากล่าว
แต่ถึงอย่างนั้น การชุมนุมก็ดูสิ้นหวังลงเรื่อยๆ เพราะกำลังจะลากยาวเข้าสู่เดือนที่ 2 และมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลก็ยังคงไม่ยอมอ่อนข้อ และมองว่าผู้ชุมนุมจะปลุกระดมมวลชนให้กระทำรุนแรงมากขึ้น รวมถึงยังมีความกังวลว่าจีนจะเข้ามาแทรกแซงมากขึ้นเรื่อยๆ
ในขณะที่ ผู้ชุมนุมบางส่วนก็มองว่าต้องเพิ่มการกระทำที่รุนแรงขึ้น ขณะที่บางส่วนก็ยังมีความหวังว่า การออกมาประท้วงทุกๆ สัปดาห์จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ถึงอย่างเราก็คงต้องติดตามกันต่อไป ว่ารัฐบาลจะยอมอ่อนข้อกับผู้ชุมนุมหรือไม่ และกลุ่มชายชุดขาวจะโจมตีรุนแรงอีกหรือไม่
อ้างอิงจาก