“ห้ามผู้ใดเสนอข่าว จำหน่าย หรือทำให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน…”
อ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความน่ากลัวของการที่รัฐบาลเป็นผู้กำหนดว่า อะไรคือความจริง อะไรคือความเท็จ เป็นอย่างไร
รัฐบาลชุดนี้ตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารมา เขาก็พยายามควบคุมสื่อแบบเป็นองคาพยพอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศโดยใช้กฎหมายในการควบคุม การใช้คณะบุคคลตั้งกลุ่มคนเป็นคณะกรรมการต่างๆ เข้ามาควบคุมสื่ออยู่แล้ว ถือเป็นสิ่งที่เห็นเป็นปกติในการบริหารงานของรัฐในรูปแบบ top-down ที่เป็นวัฒนธรรมของเขา
วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบกับทรัพย์สินและชีวิตของประชาชนเกือบทุกคนในประเทศ พอเกิดเหตุการณ์ขึ้น แล้วสื่อรายงาน จึงไปกระทบกับความมั่นคงของรัฐบาล เพราะสิ่งที่สื่อรายงานคือข้อเท็จจริงที่สะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารงานของรัฐบาล
จากประกาศเมื่อวานนี้ (29 ก.ค.) เรามองว่า สื่อก็พยายามรายงานตามข้อเท็จจริงแหละ อาจจะมีดราม่าหรือขยี้บ้าง ซึ่งถือเป็นธรรมชาติของสื่อ แต่เราจะเห็นว่า สิ่งที่สื่อขยี้ก็คือข้อเท็จจริงที่เกิด เพราะมีผู้เสียชีวิต มีเด็กที่สูญเสียพ่อแม่จริง มีพ่อแม่ที่สูญเสียลูกจริง และมีคนล้มตายข้างถนนจริง เราจะเห็นว่า นี่คือภัยคุกคามของรัฐบาลในการบริหารงาน และสะท้อนถึงภัยคุกคามในเรื่องความน่าเชื่อถือของรัฐบาลด้วย
ในความเห็นของเรา การออกข้อกำหนดนี้ นอกจากจะสะท้อนถึงการควบคุมแบบบนลงล่างแล้ว การ ห้ามนำเสนอข่าวอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว ก็สะท้อนการกำกับที่ผิดที่ผิดทางอีก โดยจะเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรที่ไม่เกี่ยวกับคนได้เลย ไม่ว่าจะเป็นไฟ ฝุ่น แล้วตอนนี้เป็นไวรัสอีก เขาไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ
รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรที่ไม่ใช่คนได้ ไม่ว่าจะไวรัส ไฟ ฝุ่น สิ่งที่เขาควบคุมได้ก็คือ พลเมือง ฉะนั้น พอแก้ปัญหาไวรัสไม่ได้ก็เปลี่ยนมาควบคุมคนแทน โดยออกพระราชกำหนดควบคุมสื่อและประชาชน แล้วพยายามบอกว่า สื่อทำให้ประชาชนหวาดกลัว ทั้งที่คนที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวน่าจะเป็นรัฐบาล และการบริหารจัดการของเขาในภาวะ COVID-19 มากกว่า
นั่นแปลว่า การออกข้อกำหนดนี้สะท้อนถึงความหวาดกลัวของรัฐบาล?
ใช่ มันสะท้อนถึงความหวาดกลัวของรัฐต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น แล้วถ้าเขาใช้ข้อกำหนดแบบนี้ ประชาชนจะไม่ได้รับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ไม่เห็นปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้น แล้วก็จะเอาปัญหาไปซุกไว้ใต้พรม ภาพคนตายจะไม่ถูกเผยแพร่ ปัญหาจริงๆ ที่เขากำลังขอความช่วยเหลือกันอยู่ก็จะถูกซุกไว้ใต้พรม แล้วทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาลอาจจะดีขึ้น แต่ปัญหาไม่ได้ถูกแก้ไข
ข้อกำหนดนี้ทำให้เกิดคำถามถึงการนิยามคำว่า ‘ข่าวปลอม’ เหมือนกัน อาจารย์มองว่าอย่างไรบ้าง?
จริงๆ คำว่าเฟคนิวส์ หรือข่าวปลอมมันมีนิยามอยู่แล้ว ซึ่งข่าวปลอมมันเป็นธรรมชาติ เป็นปกติของโลกโซเชียลมีเดีย แต่ข่าวปลอมที่จะต้องกำกับดูแล คือข่าวปลอมที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน หรือก็คือผู้รับสาร
คำถามคือว่า การออกมาเรียกร้อง หรือภาพคนตายตามท้องถนน มันเป็นอันตรายต่อชีวิตประชาชนจริงหรือ? ไม่ใช่ มันเป็นสิ่งที่เขาเรียกร้อง สิ่งที่สื่อพยายามจะบอกว่า ตอนนี้มันไม่ไหวแล้วนะ ที่นี่มีคนเสียชีวิต นี่คือการขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล แต่อันตรายที่เกิดจากภาพที่มีคนตายตามท้องถนน มีคนออกมาประท้วง มันเป็นอันตรายที่เกิดกับรัฐบาล ไม่ได้เป็นอันตรายที่เกิดกับประชาชน เพราะฉะนั้น นี่ก็สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของรัฐบาลในการที่รู้ว่าความเชื่อมั่นของตัวเองมันลดลง จึงพยายามจะปิดกั้นข้อมูลข่าวสารตรงนี้แทน
แต่จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่เรื่อง COVID-19 ที่ผ่านมาก็มีความพยายามจะใช้คำว่าเฟคนิวส์กับเรื่องอื่นๆ ด้วย
เขาทำมาเป็นระลอกอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่เขาวางไว้ ในต่างประเทศองค์กรที่ทำหน้าที่ในการ fact check ไม่ค่อยเป็นรัฐบาลหรอก ต่อให้รัฐบาลมาทำก็ไม่ได้สร้างความน่าเชื่อถือขนาดนั้น
ในช่วงแรกเราก็ได้เข้าไปฟังรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมท่านเก่าด้วย แล้วก็พยายามให้ข้อมูลตรงนี้ว่า ถ้าคุณจะทำ ต้องทำในประเด็นที่รัฐบาลรู้ดีที่สุด เช่น กรณีภัยพิบัติ หรือนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล ควรจะเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งก็จะเห็นว่า ตอนนี้เขาก็มี ศบค.ที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูล ซึ่งเราไปดู data หลังบ้านว่า เพจไหนที่ประชาชนเข้าไปดูเยอะที่สุด ก็เพจของ ศบค. เนี่ยแหละ ในเรื่องของการรวมศูนย์ข้อมูล แล้วประชาชนก็ไปดูข้อมูลรวมศูนย์ตรงนั้นก็ถูกต้องแล้วในช่วงวิกฤต
แต่ปัจจุบัน รัฐบาลพยายามจะไปกดทับข้อเท็จจริงอื่นๆ ที่ควรเป็นหน้าที่ของคนอื่นในการให้ข้อมูล เลยทำให้บิดเบี้ยวและกลายเป็นการโฆษณาชวนเชื่อ ซึ่งตอนนี้มันคุมไม่อยู่หรอก พอคุมไม่อยู่ คุณก็เลยมาคุมในส่วนของออนไลน์ อินเทอร์เน็ต
ถ้าเราไปดูสิ่งที่เขาออกข้อกำหนดมาก็คือจะให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ไปควบคุมผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการอินเทอร์เน็ตที่ กสทช.จัดสรร นั่นคือ วิทยุ โทรทัศน์ คมนาคม โทรคมนาคม และบอกให้ผู้ได้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบ แล้วหากคนที่มี IP address อยู่ในส่วนที่ให้บริการของตัวเองก็จะระงับการให้บริการอิเทอร์เน็ต ซึ่งถ้าเราเข้าใจไม่ผิด ของเดิมมันต้องใช้คำสั่งศาลในการปิด IP address แต่นี่เหมือนจะให้อำนาจ กสทช.ในการสั่งให้ผู้ให้บริการก็คือโทรคมนาคม ปิด IP address นั้นเลย ซึ่งตรงนี้ก็คิดว่ามัน top-down มากเหมือนกัน
ในขณะเดียวกัน เราจะเห็นการดิสเครดิตภาพคนตาย ทั้งนักการเมืองที่ออกมาบอกว่า ภาพที่คนตาย จริงๆ เป็นเฟคนิวส์ เป็นการจัดฉาก คือออกมาเป็นระลอกเลย ส.ส.ฝั่งรัฐบาลพูดเสร็จปุ๊บ ตามมาด้วยตำรวจที่ออกมาบอกว่า โปรดระวังเรื่องเฟคนิวส์ที่จัดฉากคนตาย แล้วก็บอกว่าพร้อมจับ คือ ส.ส.ออกมา ตำรวจออกมา ตามมาด้วยราชกิจจา และ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำเป็นขบวนการมากเลย มันสะท้อนให้เห็นความไม่จริงใจในการแก้ปัญหาของรัฐบาล คือหน้าที่ไม่ทำ แทนที่จะหาวัคซีน แต่มาเล่นกับประชาชน ก็จะเห็นได้ว่ารัฐบาลชุดนี้แก้ปัญหาอะไรที่ไม่ใช่คนของตัวเองไม่ได้
แล้วการที่สื่อถูกปิดกั้น มันเกี่ยวข้องกับเสรีภาพของประชาชนอย่างไร
ต้องบอกว่า สื่อเสียงดัง มีความน่าเชื่อถือ ด้วยหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณของเขา นั่นเป็นเครื่องการันตีว่า ทำไมสังคมถึงเชื่อสื่อ เวลาเราดูข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์หลังบ้าน หลายครั้งที่ประชาชนกรีดร้องเรื่องอะไร ก็จะเป็นแค่ประชาชน แต่ถ้าสื่อเอามาเล่นก็จะกลายเป็นประเด็นของสังคม และจะทำให้ผู้มีอำนาจหันมามอง เวลาเรามองทางรัฐศาสตร์ เราจะเห็นว่า ผู้ที่เป็นรัฐบาลจะต้องฟังเสียงประชาชน แต่เสียงประชาชนตัวเล็กตัวน้อย อาจจะไม่ดังเท่าเสียงที่ผ่านสื่อ เพราะฉะนั้น พอปิดสื่อ ซึ่งเป็นเหมือนกับปิด gateway หรือพื้นที่ที่สะท้อนเสียงประชาชน ซึ่งกลายเป็นการไปปิดเสียงประชาชนไปด้วย
และอย่าลืมว่า สื่อมีหน้าที่ในการหาข้อเท็จจริงในสังคม ประชาชนไม่ได้มีหน้าที่ตรงนี้ด้วยซ้ำ สื่อมีหน้าที่หาข้อเท็จจริง อะไรเป็นปัญหา อะไรเป็นประเด็น แล้วก็มีหน้าที่ในการยืนยันข้อเท็จจริงนั้นด้วย ในขณะที่ประชาชนทั่วไป ก็มีงานอื่นที่ต้องทำ จะออกไปหาทำไมความจริง แต่เราจะเห็นว่า สื่อมีบทบาทสูงในเรื่องของการเป็น gate keeper ซึ่งก็คือคนที่คอยสกรีนข้อมูลในสังคมว่าอะไรควรเป็นประเด็น และอย่างที่สอง watch dog คือเป็นสุนัขเฝ้าบ้านแทนประชาชน ที่คอยดูแลว่า อะไรเป็นประเด็นที่รัฐบาลจะต้องตระหนักด้วย
ขนาดสื่อเสียงดังขนาดนี้ยังโดนเลย ดังนั้น ถ้าสื่อโดนปิดกั้น เสรีภาพของประชาชนก็จะโดนหนักไปด้วย
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw
นิยามของคำว่าทำให้ประชาชนหวาดกลัว
นิยามความชัดเจนไม่มี ไม่เคยมีคำนี้ในกฎหมายที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นมาก่อน ตอน พ.ร.บ.คอมฯ มันจะเขียนว่า เผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จก่อให้เกิดความตื่นตระหนกต่อประชาชน ซึ่งก็เป็นคำที่กว้างๆ มากแล้ว แต่ตื่นตระหนกมันก็มากกว่ากลัว ซึ่งตื่นตระหนกมันก็คือกลัวนั่นแหละ แต่กลัวแล้วมันทำอะไรบางอย่างลงไป มีการแสดงออก ตื่นเต้น โวยวาย ออกบนถนน หรืออะไรบางอย่าง แต่ว่ากลัวก็อาจจะไม่ทำอะไร รู้สึกเฉยๆ แล้วก็นั่งอยู่บ้าน กลัวแต่ก็นอนไป มันก็วัดยากกว่าตื่นตระหนกอีก
ถ้าเกิดการลงโทษ จะมีดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่อย่างไร ในการตัดสินว่าอันไหนผิด
ก็ต้องรอดูกัน เราก็ยังไม่เห็นคดีชัดเจน เราก็ต้องดูแนวโน้มว่าที่ผ่านมา รัฐบาลต้องการจับกุม ดำเนินคดีกับอะไรบ้าง ซึ่งกรณีที่ต้องการจับกุมดำเนินคดีกับคนที่ปล่อยข่าวที่ไม่เป็นความจริงจริงๆ และก่อให้เกิดความเสียหายจริงๆ มันก็มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้วที่ใช้ได้ การที่เขาออกฉบับใหม่มา แสดงว่าเขาต้องการเอาผิดกับอะไรที่แต่เดิมมันไม่ผิด และเขาอยากลงโทษ ก็เลยออกข้อห้ามใหม่มา ก็ต้องพิจารณาจากสิ่งเหล่านี้
ถ้าดูคำที่เขาใช้ว่า ห้ามทำให้เกิดความกลัว มันก็น่ากลัวทุกเรื่องนะ ภายใต้ COVID-19 ตอนนี้ ทุกคนก็กลัวหมด ไม่มีใครไม่กลัว เราดูข่าวว่าวัคซีนไม่พอ มีคนตายข้างถนน คนไปเบียดกันฉีดวัคซีนก็กลัวหมด ไม่มีอะไรไม่กลัว เขาคงใช้กับทุกเรื่องไม่ได้ แต่ไม่รู้ว่า เมื่อไหร่บ้างที่เขาจะหยิบมา
ปัญหาการให้อำนาจ กสทช.ในการตัด IP address จำกัดสิทธิเสรีภาพแบบเหมารวม แสดงว่ามันไม่ได้กระทบแค่กับสื่อใช่ไหม แต่กระทบสิทธิประชาชนโดยทั่วไปด้วย
ใช่เลย ผมเห็นสื่อตื่นเต้น ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร ผมไม่ได้คิดว่าเขาจะปิดสำนักข่าวหรอก เขาคงไม่ทำอย่างนั้นเพราะในทางการเมืองเขาเสียหาย และในทางปฏิบัติมันก็ทำไม่ได้ ถ้าคุณไปปิด IP address หนึ่งของสำนักข่าว เขาก็เข้าเน็ตด้วนเราท์เตอร์ หรือมือถือ มันไม่ได้จะปิดได้ขนาดนั้น แต่สมมติว่าสำหรับคนที่ บ้านไม่มีไวไฟ และต่อเน็ตมือถืออย่างเดียว ถ้าตัด IP address เขา ในทางปฏิบัติเขาก็ต้องซื้อซิมส์ใหม่ มันก็เดือดร้อน เพราะสมมติเขากักตัวอยู่บ้าน เขาก็ซื้อซิมส์ใหม่ไม่ได้ มันก็จะตัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไปเลย
มันแสดงให้เห็นถึง หนึ่ง ชุ่ย คิดเร็วๆ ไม่ได้คิดละเอียด ไม่ได้ศึกษาให้รอบด้าน คิดว่าตัวเองพอจะมีอำนาจอะไร เข้าถึงข้อมูลอะไร แล้วคิดจะตัดอะไรก็ตัด ไม่ได้คิดละเอียดรอบคอบมาก อย่างหน่วยราชการ บางทีทั้งตึกก็ IP address เดียวกัน สมมติคนนั่งในสำนักนายกฯ เป็นคนโพสต์เอง ถ้าตรวจเจอ ส่งให้ทรู และทรูบล็อกเลย สำนักนายกฯ ก็เข้าเน็ตไม่ได้ทั้งตึก มันไม่คิดให้ละเอียด และทางกฎหมายมันจะเกิดอะไรขึ้น ออกกฎหมายจำกัดสิทธิ์โดยไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบ
อย่างที่สองคือ สมมติใครโพสต์ข้อมูลอันเป็นเท็จที่ทำให้ประชาชนตื่นตระหนกได้ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มันก็ขอปิดเว็บ บล็อก URL นั้นได้อยู่แล้วตาม พ.ร.บ.คอมฯ แต่ตอนหลังก็คือตอนหลังศาลเขาก็ต้องไต่สวน การจะไปยื่นขอบล็อกเว็บต้องให้ศาลสั่ง และศาลเขาก็เรียกไต่สวน บางคดีใช้เวลา 2-3 วัน หรืออาจจะไม่ให้บล็อกตามที่ขอมา คือพูดง่ายๆ ตรงไปตรงมาก็ทำซะ มีขั้นตอนนี้ ก็ทำผ่านขั้นตอนศาล แต่พอขี้เกียจทำ ไม่อยากถูกตรวจสอบ ไม่อยากมีอีกอันมา เขาก็คงหามาตรการอะไรที่เร็วกว่า มีอำนาจในมือ โดยที่ไม่ยอมใช้กระบวนการที่มีอยู่แล้ว ก็สร้างอันนี้ขึ้นมา ให้กสทช.สั่ง และให้ ISP ทำ แต่ถ้ากรณีปิดเว็บจะให้ กสทช.สั่ง และ ISP ปิดเว็บ มันไม่ได้ มันซ้ำซ้อนกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่มีอยู่แล้ว ที่ต้องไปศาล จึงไม่ได้ ก็เลยอะ ปิด IP address ละกัน นั่นแปลว่าข้อความนั้นยังอยู่ แต่คนๆ นั้นที่โพสต์ เข้าอินเทอร์เน็ตไม่ได้แล้ว สู้ถ้าให้เค้ายังเข้าถึงเน็ตได้ และให้เขาสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เป็นจริงกว่า แล้วค่อยไปลบ ไปแก้ไข เยียวยาทีหลังมันก็แก้ปัญหาอย่างตรงไปตรงมากว่า เพราะถ้าเขาโพสต์ไป และภายหลังมีข้อมูลที่ถูกต้องออกมา เขาก็ไม่รู้เพราะว่าเขาเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต เขาจะไปแก้ก็ไม่ได้ มันผิดไปหมดเลย
[อ่านเรื่องปัญหาของการตัด IP address เพิ่มเติมได้ที่เพจ iLaw]
มีการมองว่ามาตรการลงโทษนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ และไม่มีอำนาจจริง และถ้าขัดแล้ว มีการฟ้องให้ยกเลิกได้ไหม
ผมขอฟันธงว่าไม่มีอำนาจออก เพราะว่าข้อกำหนดนี้อ้างมาตรา 9(3) ในการออกมา มาตรา 9(3) ให้อำนาจห้าม แต่ไม่ได้ให้อำนาจปิดการสื่อสาร ไม่ได้ให้อำนาจตัดเน็ต ใครทำผิดตาม มาตรา 9(3) ก็มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งใช้อยู่แล้ว อำนาจตัดเน็ตอยู่ในมาตรา 11(5) ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า สามารถระงับการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เพื่อป้องกัน ยับยั้งเหตุร้ายได้ ซึ่งการจะใช้อำนาจตามมาตรา 11 ต้องเป็นไปตามประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรงเท่านั้น ถ้าตอนนี้ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ธรรมดา ใช้อำนาจตามมาตรา 11 ไม่ได้ และอำนาจตามมาตรา 9(3) ซึ่งชัดเจนว่าไม่ได้มีอำนาจในการออกแบบนี้ อันนี้ผิด
ผมเชื่อว่าจะมีคนฟ้อง และผมอยากเห็นสำนักข่าวใหญ่ๆ ที่เป็นตัวตั้งตัวตีฟ้อง สมาคมวิชาชีพสื่อควรจะต้องทำงานในการพิทักษ์เสรีภาพของสื่อมวลชน หรือองค์กรกรรมการสิทธิที่ปกป้องสิทธิของประชาชนต้องทักท้วงว่าสิ่งนี้ผิด ซึ่งถ้าไม่มีใครฟ้อง ผมก็จะฟ้อง
ที่บอกว่าออกมา แต่ไม่มีอำนาจ แปลว่ามันก็ออกมาเพื่อให้ประชาชน หรือสื่อกลัวหรือเปล่า
คนที่จะชี้ว่าไม่มีอำนาจ ก็ต้องให้ศาลชี้ก่อน ในระหว่างที่ศาลยังไม่ชี้ก็เป็นไปได้ว่าจะมีคนเอามาใช้ แต่ผมคิดว่าข้อกำหนดนี้แสดงให้เห็นถึงการก้าวล้ำเข้ามาในดินแดนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอีกขั้นนึงจากที่เคยเป็นมา แสดงให้เห็นปัจจุบันเขารู้สึกว่าเขาควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ไม่ได้ เขาไม่รู้จะล่วงล้ำอะไรแล้ว เพราะห้ามนู่นห้ามนี่ ทั้งเคอร์ฟิว ห้ามหมด รัฐบาลนี้มีลักษณะการแก้ไขปัญหาด้วยการห้าม ลงโทษ พอห้ามมันควบคุมไม่อยู่ งั้นก็ห้ามพูด ห้ามรายงานข่าวแล้วกัน ถ้าทำสถานการณ์ที่เลวร้ายให้มันดีไม่ได้ ก็แก้ว่า ไม่ต้องพูดว่ามันเลวร้าย ซึ่งมันแสดงให้เห็นบรรยากาศทางการเมืองว่ารัฐบาลอยู่ในทรงที่ไม่โอเคแล้ว เขารู้สึกว่า จะให้คนเผยแพร่ข้อมูล แล้วก็ด่าเขา วิจารณ์การทำงานแบบเดิม เขาไม่อยากให้มันเกิดขึ้น เขาก็ต้องทำอะไรซักอย่าง
แต่ถ้ามันออกมา และคนบอกชินแล้ว มันก็มีเรื่องแย่ๆ หลายเรื่อง ก็ด่าๆ นิดหน่อยแล้วลืมๆ อยู่ๆ ไป มันคงไม่ใช่คน 10 ล้านคนโดนตัดเน็ตหรอก มันก็จะโดนบางคน อาจจะหลักร้อย หลักพัน ถ้าคนอื่นไม่สนใจ บอกว่ามีเรื่องให้ด่าหลายเรื่อง ด่าไม่ทัน มันก็จะเป็นนิวโลว หรือบรรทัดฐานที่แย่ลงของประเทศไทย ที่ปล่อยให้มีอะไรแบบนี้ออกมา ช่วง 3-5 วันข้างหน้า จึงสำคัญว่า สังคมเราจะยอมรับกับสิ่งที่มันออกมาแบบนี้ได้หรือเปล่า หรือว่าต้องยืนยันว่าสิ่งนี้มันเกิดขึ้นไม่ได้
เทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไทย
มองว่าราชกิจจาฉบับนี้มีปัญหาอย่างไรบ้าง
ประการแรกเลย มันมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อประมาณเดือนตุลาคมปีที่แล้ว และศาลชี้ตามมาตรา 9 (3) ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า ให้ปิดกั้นข้อความ ไม่ใช่ช่องทางการติดต่อสื่อสาร ซึ่งคำวินิจฉัยตรงนี้ถูกรัฐธรรมนูญมาตรา 35 ฉบับปัจจุบันรองรับไว้อยู่ ดังนั้น การอ้างมาตรา 9 (3) หรือ พ.ร.บ.คอมฯ เพื่อปิดสื่อถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ และมีคำสั่งให้ กสทช. ระงับ IP address ของผู้ให้บริการ ตรงนี้เราไม่ได้มองแค่เฉพาะสื่อนะ เพราะประกาศฉบับนั้นก็ไม่ได้พูดเฉพาะสื่อ แต่มีนัยรวมถึงประชาชนและอินฟลูเอนเซอร์ด้วย แต่ก็ถือว่าเป็นบทลงโทษที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จึงไม่ถูกต้องทั้งตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาล
ประการที่สอง มันมีข้อความว่า “ห้ามเผยแพร่ข้อความอันทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว” ประโยคทั้งคลุมเครือและเปิดช่องให้ตีความได้กว้างมาก คล้ายให้ผู้มีอำนาจทำการวินิจฉัยเอาเอง โดยเฉพาะในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ มันเลี่ยงไม่ได้ว่าคนที่อ่านข่าวจะรู้สึกอย่างไร ความกังวล หวาดกลัว หรือไม่สบายใจเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญอยู่แล้วในสถานการณ์แบบนี้
ผมยังพูดเชิงตลกร้ายเลยว่าประกาศนี้แหละ ที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัว
เพราะผมอ่านแล้วยังกลัวเลยว่าจะถูกปิด IP address หรือเปล่า ประโยคในประกาศนี้มันมีนัยยะว่า การโพสต์เตือนหรือแจ้งเหตุก็อาจทำให้คนหวาดกลัวได้ ซึ่งสวนทางกับหลักการว่าอย่าทำร้ายคนที่บอกข่าวร้าย เพราะยิ่งคนไม่รู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นข่าวร้าย อาจยิ่งทำให้คนไม่เตรียมตัว
ประการที่สาม รัฐเหมือนทำให้ตัวเองตาบอด เพราะหูตาของสังคมตอนนี้ อยู่ในมือประชาชนเสียมากกว่า และไม่ต้องพูดถึงว่า รัฐบาลจะไม่รู้อีกว่าหลังจากนี้ประชาชนเดือดร้อนอะไร เพราะประชาชนไม่กล้าแจ้งเตือนอีกแล้ว ยิ่งปัจจุบัน ประชาชนตลอดจนอินฟลูเอนเซอร์เองก็ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คในการแบ่งปันข้อมูลข่าวด้วย พวกเขาเหล่านี้ อาจถูกเหมารวมตีความไปได้ว่ามีความผิด และต้องถูกระงับ IP address
ซึ่งมันจะส่งผลต่อเนื่องถึงรัฐบาล โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ประจักษ์ชัดว่ารัฐบาลล้มเหลวในการบริหารจัดการ แล้วประชาชนลุกขึ้นมาบริหาร ส่งข่าวกันเองและหลายที่มันฟังก์ชัน ประกาศฉบันนี้จะยิ่งทำให้กลไกภาคประชาสังคมที่ออกมาช่วยเหลือกันเองถูกลดทอนศักยภาพลงหรือเปล่า
ประการที่ห้า ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าถ้าไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ รัฐบาลจะไม่ขยับ ยกตัวอย่างเมื่อต้นปี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ออกมาวิจารณ์เรื่องการซื้อวัคซีนแบบแทงม้าตัวเดียว แต่กลับถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งผลก็ออกมาว่า ม้าตัวเดียวตัวนั้นเหมือนจะส่งวัคซีนมาให้ไม่เพียงพอเสียแล้ว สะท้อนว่าถ้าไม่ได้ประชาชนหรือฝ่ายค้าน ออกมาตรวจสอบและวิจารณ์อาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านี้ก็ได้ เพราะรัฐบาลเองก็ไม่ได้มานั่งพิจารณานโยบายและมาตรการของตัวเอง
ประการที่หก ส่วนของข้อความที่ระบุว่าทำให้ประชาชนหวาดกลัว ตรงนี้ไม่ได้มีการระบุว่าเฉพาะข้อความที่เป็นเท็จด้วยซ้ำ ดังนั้น ข้อความที่เป็นจริงที่สร้างความหวาดกลัว อาจเข้าข่ายว่ามีความผิดตามที่ระบุไว้ด้วย
ซึ่งผมมองว่า ถ้าประชาชนโพสต์ข้อความเป็นเท็จแต่โพสต์ในที่สาธารณะ การบริหารข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลควรยินดีกับการพูดในที่แจ้งมากกว่าพูดในที่ลับ เพระมันง่ายต่อการชี้แจง และจะได้รู้ว่าประชาชนเข้าใจผิด หรือคลาดเคลื่อนอะไร มันเป็นเหมือนทุ่นเตือนที่ลอยอยู่เหนือน้ำ แต่เวลาใช้ความกลัว กลายเป็นว่าคุณกดทุ่นเตือนตัวนี้ลงไปในน้ำ ซึ่งไม่เพียงไม่แก้ไขข่าวลือ แต่จะยิ่งทำให้ข่าวมันลงไปลือใต้น้ำ แล้วกว่าจะรู้อาจสายเกินไปแล้ว ดังนั้นการสร้างบรรยากาศความกลัวมีผลต่อการเดินทางของข้อมูลข่าวสาร ทั้งผู้ให้ข้อมูล และผู้รับข้อมูลด้วย
เรียกว่ารัฐบาลมีเจตนาผูกขาดความจริงได้ไหม
ผมอยากพูดว่ารัฐบาลปิดฟ้าด้วยฝ่ามือไม่ได้แล้ว คุณแค่แก้เขินแล้วโยนงานให้ กสทช. ด้วยนะครับ สุดท้าย ถ้าคนมาโวยรัฐบาลว่าไปปิดโน่นนี่ อาจมีการโบ้ยว่าฉันไม่รู้ กสทช. ทำ ซึ่งรัฐบาลเองควรยอมรับเถอะว่าในห้วงเวลานี้ ตัวเองมีปัญหาทั้งการบริหารจัดการโรคระบาด เศรษฐกิจ รวมถึงข้อมูลข่าวสาร
ในสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ จริงๆ สื่อควรทำหน้าที่อย่างไรบ้าง
ผมคิดว่าเบื้องต้นควรรายงานข้อมูลที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริง แนบคำแนะนำ และตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล เพราะว่ารัฐบาลเป็นผู้ที่มีทั้งอำนาจและทรัพยากรสูงที่สุด และที่ผ่านมา ภาคประชาสังคมก็เริ่มรอรัฐบาลไม่ไหวพวกเขาจึงลุกขึ้นมาจัดการอะไรเอง
หลังจากประกาศฉบับนี้ มองว่าท่าทีของสื่อมวลชนควรเป็นอย่างไร
ความชอบธรรมของสื่อมวลชนไม่ได้ถูกรับรองโดยรัฐ แต่ถูกรับรองโดยผู้อ่าน และเมื่อพวกเขายังต้องการเรา เราควรทำตามความต้องการของพวกเขา ไม่ใช่ทำตามอำนาจรัฐ ดังนั้น ผมว่าควรรวมหัวกันนำเสนอข่าวเหมือนเดิม และถ้าเกิดมีใครโดนทุบจากกฎหมายตรงนี้ ทุกคนต้องช่วยกัน
แต่สิ่งที่ผมกังวลมากเช่นกันคือ อินฟลูเอนเซอร์หรือประชาชนทั่วไปที่จะแจ้งข่าวร้าย ผมกังวลว่าพวกเขาอาจถูกเชือดไก่ ดังนั้น ผมคิดว่าสื่อควรต้องสอดส่องทั้งระบบนิเวศ ไม่ใช่แค่คนในอาชีพสื่อด้วยกันเอง ต้องปกป้องคุ้มครองประชาชนที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในการสื่อสาร เพราะทุกวันนี้ข่าวที่สื่อนำไปเผยแพร่ หลายอย่างก็มาจากประชาชนที่เป็นนักข่าวพลเมืองทั้งหลายเอง
สื่อควรช่วยปกป้องระบบนิเวศทั้งหมดของข้อมูลข่าวสารให้ดำเนินไปได้ ถึงแม้ข่าวนั้นจะผิด เราก็ลงโทษด้วยการบอกให้แก้ไขให้เป็นถูก ไม่ใช่การจำคุกหรือสั่งปรับ มันไม่ช่วยแก้ปัญหา และผลมันเกิดไปแล้วว่าคนเข้าใจผิด ดังนั้น วิธีการลงโทษคือแก้ให้ถูก และบอกให้เขาส่งข้อความที่ถูกต้องไปให้มากที่สุด
เขาอาจไม่รู้เลยก็ได้ว่ามีข้อความนั้น ดังนั้น ควรจะใช้ช่องทางสื่อสารของเขาเองแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง ไม่ควรจะใช้ความกลัว
จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ ผู้ดำเนินรายการ
จากข้อกำหนดที่ออกมาใหม่เมื่อวานนี้ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ค่อนข้างชี้ชัดถึงการจำกัดขอบเขตการรายงานข่าว รวมถึงยังมีบทลงโทษ มองว่าจะกระทบต่อการรายงานข่าว และการทำงานของสื่ออย่างไรบ้าง
โดยตัวบทเอง เวลามันเขียนกฎหมาย มันก็จะต้องเขียนออกมาแบบนี้ แต่พี่คิดว่าในสถานการณ์ปัจจุบันสิ่งที่สำคัญกว่าลายลักษณ์อักษร คือคนที่มีอำนาจในการใช้ตัวบทนั้น เราไว้ใจเขาไหมว่าเขาจะใช้ดุลยพินิจอย่างตรงไปตรงมา และเที่ยงธรรม ว่าแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่รัฐ หน่วยงานรัฐ หรือฝ่ายบริหารเองก็สร้างมาตรฐานบางอย่างที่ตั้งคำถามได้ว่านี่คือข้อเท็จจริงที่คุณสื่อสารกับประชาชนในภาวะวิกฤตหรือเปล่า
คำถามคือ ถ้ามาตรฐานที่คุณใช้สื่อสารกับประชาชนยังมีปัญหา แล้วทำไมคุณถึงกล้าออกตัวประกาศนี้มาเพื่อเพิ่มเติมอำนาจในการใช้ดุลยพินิจของคุณ เท่ากับว่าคุณไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอของมันอย่างแท้จริง แต่คุณกำลังแบ่งกลุ่มมากกว่าว่า ใครคือฉัน และใครคือคนอื่น ในด้านข้อมูลมันเป็นมิติที่รัฐนำมาเพื่อบริหารจัดการอำนาจของตัวเอง มากกว่าแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เรากำลังเผชิญอยู่
เราพูดบนสถานการณ์ปัจจุบัน เราไม่ได้บอกว่าลายลักษณ์อักษร ตัวบท หรือลักษณะการใช้อำนาจตามสถานะตำแหน่งมันมีปัญหา แต่เราคิดว่ามาตรฐานในการบังคับใช้ ในการใช้ดุลยพินิจ มันมีปัญหา และมันไม่ได้เพิ่งมีปัญหา มันมีปัญหามาระยะนึงแล้ว เพราะฉะนั้นการที่รัฐออกตัวข้อกำหนดนี้มาเพื่อเพิ่มอำนาจของตัวเอง ก็เท่ากับว่าเป็นปัญหาของคนที่ถูกบังคับใช้ การที่มีคนโต้แย้งว่า ถ้าไม่ผิดจะต้องกลัวอะไร ก็กลัวดุลยพินิจที่มันไม่เที่ยงตรงไงคะ เพราะฉะนั้นการที่ออกมาแบบนี้จะมีกลิ่นอายหรือความรู้สึกเผชิญหน้ากับสื่อหรือไม่ คงประเมินลำบาก แต่มองว่ามันคงไม่เป็นผลดีร่วมกันแน่ เพราะรัฐเองซึ่งต้องอยู่ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุล พยายามจะยกตัวเองให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม
แล้วก็ต้องอย่าลืมว่าการที่คุณทำแบบนี้ มันไม่มีความจำเป็นอะไรเลย เพราะสื่ออยู่ภายใต้การตรวจสอบ และก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนอยู่แล้ว สิ่งที่รัฐควรจะทำถ้าเห็นว่ามีข้อมูลบิดเบือน หรือการกระจายข้อมูลที่ผิด รัฐไม่ใช่ไม่มีกลไก ไม่ใช่ไม่มีพื้นที่ รัฐมีกลไก และพื้นที่ของตัวเองจำนวนมาก รัฐได้ใช้อย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า จริงๆ ปัญหามันมีอยู่หลายจุดก่อนหน้านี้แล้ว แต่การเพิ่มตรงนี้เป็นการเพิ่มกลไกให้อำนาจตัวเอง เหมือนติดอาวุธให้อำนาจตัวเอง
ที่ผ่านมาเราเห็นว่ารัฐบาลมักอ้างถึง ‘การกำจัดข่าวปลอม’ มองคำนิยามเหล่านี้ของรัฐอย่างไรบ้าง
มันก็เหมือนกับการที่รัฐมนตรี รัฐมนตรีช่วย หรือนายกฯ มีการแถลงนโยบาย ข้อมูล ที่ทางของการบริหารจัดการ แล้วไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริง รัฐนิยามตัวเองว่าเป็นเฟกนิวส์ไหม รัฐกำลังจะใช้วิธีคิดนี้ เพียงเพราะตัวเองมีอำนาจ แต่ถ้ากลับข้างกัน คุณคิดว่าสิ่งที่ตัวเองทำเรียกว่าข่าวปลอมหรือเปล่า ตอนนี้คุณมองแบบคนมีอำนาจอยู่ในมือ ไม่ได้มองแบบเสมอหน้ากัน
สิ่งที่รัฐพูด คุณนิยามมันว่าปลอม และเฟกส์ไหม เพราะมันก็เป็นข้อมูลที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงในบางส่วน คำถามคือประชาชนถูกหลอกอยู่หรือเปล่า คุณกล้าใช้คำว่าปลอมกับตัวคุณไหม หรือถ้ามันไม่ปลอม คุณรียกข้อมูลที่ไร้ประโยชน์เหล่านี้ว่าอะไร สิ่งที่รัฐควรปรับปรุงคือให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ไม่ใช่มาเรียกปิดข้อมูลที่ไม่ตรงกันกับรัฐ และอาจจะจริงกว่าของรัฐด้วยซ้ำไป
ในฐานะที่อยู่ในวงการสื่อมานาน เคยเห็นการลิดรอน หรือจำกัดเสรีภาพของสื่อขนาดในยุคนี้ไหม
จริงๆ มันมีมาตลอด เพียงแต่ว่าความยาวนานของ พล.อ.ประยุทธ์ทำให้การลิดรอนสื่อดูมากกว่าคนอื่น และการได้อำนาจมา และการต่ออำนาจของตัวเองทำให้นาน ดังนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มันนานกว่ายุคอื่น ทั้งในยุคที่ใกล้เคียงกัน เราก็ไม่รู้จะไปเปรียบเทียบกับใคร แต่ว่าไม่ใช่ว่าไม่เคยมี คนมีอำนาจทุกคนพร้อมที่จะใช้อำนาจของตัวเองอย่างล้นขอบเขต เกินขอบเขตอยู่แล้ว แต่ของพล.อ.ประยุทธ์มันต่อเนื่องยาวนาน จิ๊กซอว์มันต่อกันแน่น
อาจจะพูดในมุมของคนที่เคยอยู่ในสังกัดที่เรียกว่าสื่อมวลชน ความเห็นพี่อาจจะช้าเพราะก็มีสื่อมวลชนที่รวมตัวตอบโต้บางอย่างไปแล้ว แต่พี่คิดว่าเรายังทำได้อีก และเรายังต้องทำต่อไปอย่างไม่หยุดหย่อน แน่นอนคือพี่จะย้ำเสมอว่าสื่อไม่ได้พิเศษกว่าอาชีพอื่น แต่หน้าที่เราอยู่กับข้อมูลข่าวสาร เพราะฉะนั้นต่อให้พูดก็ไม่ได้แปลว่าเราถูกกันออกจากการถูกตรวจสอบ สื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ตลอด แต่พี่คิดว่าสื่อก็ต้องเข้มแข็งกว่านี้ แล้วก็ตามวัฒนธรรมที่สื่อมีต่อคนหมู่มาก จังหวะช่วงนี้อาจจะเป็นการนิยามกันใหม่ ว่าเราจะอยู่กับคนที่มีอำนาจ ใช้อำนาจอย่างไร วัฒนธรรมเดิมๆ อาจจะไม่สามารถเป็นแบบนี้ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะมันทำให้มีความเคยชินสำหรับคนที่เข้าสู่อำนาจ และก้าวมาสู่ต่ำแหน่ง
คิดอย่างไรกับคำว่า เสรีภาพสื่อ คือเสรีภาพของประชาชนด้วย
สื่อทำหน้าที่รับใช้ประชาชนในด้านของข้อมูลข่าวสาร เมื่อสื่อไม่สามารถจะค้นหา ไถ่ถาม ตรวจสอบข้อมูลข่าวสารมาได้ หรือแม้กระทั่งถูกบังคับโดยตรงโดยอ้อมให้ไม่สามารถออกมาทำหน้าที่ได้ สิ่งที่จะทำให้กับประชาชนมันก็ไม่สามารถให้ได้แล้ว เราก็คือกลไก ถ้าถูกทำลายกลไกไม่สามารถเดินไปถึงประชาชนได้แล้วในการเอาสารไปถึงผู้รับ สื่อในแง่ของวิชาชีพ เราเข้าถึงแหล่งข่าว ข้อมูลข่าวสารได้มากกว่าประชาชนโดยทั่วไป เพราะฉะนั้นถ้าตัดตอนเรา ตัวสารมันก็ไม่ถูกตรวจสอบ ค้นหา ค้นคว้า มันก็ทำให้ประชาชนมีโอกาสน้อยลง ไปถึงไม่มีเลย ที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน โดยที่เรายังย้ำอีกว่าการทำงานของสื่อ ต้องถูกตรวจสอบเสมอ
พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ข้อกำหนดที่ออกมาล่าสุดนี้ ขัดแย้งกับหลักในรัฐธรรมนูญอย่างไร
ขอเล่าก่อนว่า เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน หรือเสรีภาพของสื่อในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร เป็นเสรีภาพในระบอบสังคมประชาธิปไตย ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรอง คุ้มครอง และถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน ทีนี้ โดยหลักแล้วรัฐเองก็มีหน้าที่เคารพในสิทธิเสรีภาพที่ตัวประชาชนและสื่อมวลชนมี เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่รัฐธรรมนูญเขารับรองและคุ้มครองอยู่แล้ว ในมาตรา 34 เรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดความเห็นของประชาชน ในขณะที่ มาตรา 35 คือเสรีภาพของสื่อ โดยหลักมันเป็นแบบนั้น
แต่ถามว่าเรื่องสิทธิเสรีภาพในหลักของรัฐธรรมนูญถูกจำกัดได้ไหม? คำตอบก็คือ ได้ ซึ่งการจำกัดในที่นี้มันอาจจะอยู่ในช่วงสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ไม่ได้หมายความว่า เมื่อรัฐธรรมนูญอนุญาตให้ภาครัฐเข้าไปจำกัดเสรีภาพตรงนี้ได้ รัฐบาลจะสามารถเข้าไปจัดการได้ตามอำเภอใจ อย่างที่ตัวเองต้องการ คือรัฐธรรมนูญ มีการกำหนดกรอบไว้ด้วยว่า โอเค เมื่อเราอนุญาตให้คุณเข้าไปจำกัดได้ในบางสถานการณ์ที่มีความจำเป็น อย่างไรก็ต้องจำกัดอยู่ภายใต้กรอบที่เรียกว่า การจำกัดสิทธินั้นต้องไม่ไปกระทำมากเกินสมควรแก่เหตุ คือหมายความว่า รัฐธรรมนูญอนุญาตให้จำกัดได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะจำกัดได้ตามอำเภอใจ การจำกัดนั้นต้องทำเฉพาะที่มันจำเป็นจริงๆ แล้วถ้าจะกระทบสิทธิเขาต้องไม่เกินสมควร ไม่มากจนเกินไป อันนี้คือหลักการ
แล้วสิ่งที่ออกมาเป็นอย่างไรบ้าง
ข้อกำหนดทั้งฉบับ 27 และ 29 ที่ออกมานี้ จะมีคำว่า ‘เฟคนิวส์’ อยู่ ซึ่งคำว่าเฟคนิวส์มันไม่มีความชัดเจนอยู่แล้ว กลายเป็นว่า เมื่อเจ้าหน้าที่จะไปดำเนินคดีกับคนที่รัฐบาลบอกว่าเขาใช้เฟคนิวส์ เขาใช้ดุลยพินิจก่อนเลยว่า คนนี้เผยแพร่เฟคนิวส์ ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า รัฐกำลังอนุญาตให้ตนเองเป็นผู้กำหนดความหมายของคำว่าเฟคนิวส์เอง เมื่อเป็นแบบนี้ ในเชิงหลักการแล้ว หมายถึงว่า มันมีลักษณะของการออกข้อกำหนด เพื่อเอื้อให้ตัวเองอาจจะใช้อำนาจได้ตามอำเภอใจในการเข้าไปกำหนดแล้วบอกว่า คนนี้เผยแพร่เฟคนิวส์ ซึ่งยังไม่ได้ไปฟังเขาเลย หรือรอให้เขาโต้แย้งเลยว่า สรุปตรงนี้เป็นเฟคนิวส์หรือไม่ มันคลุมเครือมาก
การที่เราอนุญาตให้รัฐไปกำหนดบทนิยามแบบนี้โดยการสั่งดำเนินคดีเลย โดยเป็นดุลยพินิจโดยแท้ของเจ้าหน้าที่รัฐ กลายเป็นว่า มันไปปิดกั้นการใช้เสรีภาพของเขาตั้งแต่ต้น คุณเข้าไปกำหนดเนื้อหาคอนเทนต์ของเขาเลยว่า ตัวข้อมูลต่างๆ ที่เขาเผยแพร่ อย่างนี้ถือเป็นเฟคนิวส์ อย่างนี้ไม่ถือเป็นเฟคนิวส์ โดยที่รัฐเป็นคนพูดเองหมดเลย อันนี้คือการล่วงละเมิดเกินสมควรแก่เหตุแล้วอย่างที่ผมบอกตั้งแต่ต้นว่า รัฐธรรมนูญอนุญาตให้คุณจำกัดสิทธิได้ แต่ห้ามจำกัดสิทธิมากจนเกินควร
ดังนั้น ตรงนี้มันเกินควรแล้ว เป็นลักษณะของการเข้าไปเซนเซอร์ตัวเนื้อหาแล้ว ซึ่งลักษณะแบบนี้ในรัฐธรรมนูญเขาไม่อนุญาตให้ทำ เพราะนี่คือการเข้าไปกระทบสิทธิเสรีภาพมากจนเกินกว่าเหตุ จนกระทั่งเขาไม่สามารถใช้เสรีภาพได้ตั้งแต่ต้น
หรือถ้าผมบอกว่า ต่อให้เราเถียงกันว่า ตรงนี้เป็นเฟคนิวส์หรือไม่ ซึ่งมันต้องมีการโต้แย้งแล้วชี้แจงได้ สุดท้าย ถ้าเอาเข้าจริงๆ ถ้าตัวผู้เผยแพร่ ไม่ว่าจะสื่อมวลชนหรือประชาชน เขาไม่ได้มีเจตนาที่จะใส่ความ หรือเจตนาจะทำให้รัฐบาลเสียหาย แต่ถ้าเขาใช้เสรีภาพของเขาโดยสุจริต โดยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล แต่ถ้าตอนที่เขาเผยแพร่เขาไม่รู้ว่ามันเป็นเฟคนิวส์ คุณก็ไปจับเขาไม่ได้นะ คือต่อให้ข้อความนั้นเป็นเฟคนิวส์จริงๆ แต่เมื่อเขาเผยแพร่ข้อความไป เขาไม่มีเจตนา ตามหลักการกฎหมายก็คุ้มครอง เพราะกฎหมายดูที่เจตนา
ประการต่อมาคือ เมื่อเขาไม่มีเจตนาร้าย เขาก็วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้อยู่ดี จะเฟคนิวส์หรือไม่ ไม่รู้ แต่เขาก็มีเสรีภาพในการวิจารณ์รัฐบาล เพราะรัฐบาลเองตามหลักการของรัฐธรรมนูญ คุณเป็นผู้แทนของประชาชนในการเข้ามาทำงานตรงนี้ คือประชาชนอนุญาตให้คุณเข้ามา คุณเป็นผู้แทนเขา ดังนั้น การที่สื่อและประชาชนใช้เสรีภาพในการนำเสนอให้ประชาชนรู้ ประชาชนออกมาแสดงความคิดความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล มันคือกลไกในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งคุณอาสาว่าจะเข้ามาบริหารประเทศแทนประชาชน นี่คือหลักประโยชน์สาธารณะ
ดังนั้น ถ้าเป็นแบบนี้ มันไม่มีทางที่คุณจะไปเอาผิดเอาเขาได้ แล้วที่ผมบอกตั้งแต่ต้นว่า เรื่องข้อกำหนดนี้มันเข้าไปล่วงละเมิดเสรีภาพเขาเกินกว่าเหตุ มันขัดรัฐธรรรมนูญอยู่แล้ว
เห็นอาจารย์พูดถึงเรื่องบทลงโทษว่าเป็นการลงโทษที่เกินกว่าเหตุด้วย อยากให้ช่วยอธิบายเพิ่มเติมได้ไหม
อันนี้ก็เป็นอีกปัญหา อย่างที่ผมบอกว่า มันไม่ผิดนะ อย่างไรก็ไม่ผิด แต่ต่อให้มันผิดจริงๆ เรื่องของบทกำหนดโทษใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คุณไปกำหนดโทษ มีโทษทางอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท อันนี้ก็ขัดรัฐธรรมนูญ
ขัดอย่างไร? คือเวลากำหนดบทลงโทษ ต้องพิจารณาเรื่องของการกระทำความผิดกับโทษให้ได้สัดส่วนกัน หมายถึงว่า เมื่อการกระทำความผิดเขาเป็นเรื่องเล็กน้อย โทษที่ดำเนินการก็ต้องเล็กน้อยตามไปด้วย ถ้ากระทำความผิดที่รุนแรง เช่น ฆ่าคนตาย โทษก็จะรุนแรงมากขึ้น คำถามคือ การที่เขาไปเผยแพร่ข่าว วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล โดยมีบทลงโทษทางอาญาที่รุนแรง ผมถือว่าเป็นการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ และขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 26 เพราะที่จริง มันไม่ต้องดำเนินคดีกัน คุณก็ออกมาชี้แจงว่า เรื่องนี้มันเป็นเฟคนิวส์นะ คุณได้ข้อมูลที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไป การออกมาพูดแบบนี้อาจจะไม่ถูกต้อง คุณก็ต้องออกมาชี้แจง นี่คือหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่หน้าที่ในการออกมาดำเนินคดีกับประชาชน หรือสื่อมวลชน
พอยท์ที่สำคัญที่จำเป็นต้องพูดอีกอย่างคือ รัฐบาลต้องเข้าใจตัวเองให้ถูก เขาไม่ใช่เอกชน คุณคือองค์กรรัฐ ที่ทำหน้าที่ผู้แทนของประชาชน เวลาเข้ามาทำงาน คุณต้องมีความอดทนอดกลั้นอย่างยิ่ง กับการที่จะถูกตรวจสอบ คือถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยประชาชน คุณเข้ามาตรงนี้ ต้องเข้าใจสถานะตัวเอง ลองสังเกตดูสิว่า ทุกครั้งที่มีการฟ้องร้อง หรือวิพากษ์วิจารณ์ เขาวิจารณ์คุณในฐานะนายกรัฐมนตรี เขาวิจารณ์คุณในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวง เขาวิจารณ์คุณในฐานะที่คุณเป็นนายกรัฐมนตรี เขาไม่ได้วิจารณ์คุณเรื่องส่วนตัว หรือในฐานะที่เป็นนายประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะที่สวมหัวโขน
ฉะนั้น เมื่อสวมหัวโขนแบบนี้ก็ต้องยอมรับที่จะเปิดรับฟัง อะไรที่เขาพูดไปแล้วมันเป็นประโยชน์ ก็เอากลับไปปรับปรุงแก้ แต่ถ้าเรื่องไหนเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็เอามาชี้แจง นี่คือจุดอ่อนของรัฐบาลนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา ผมไม่เห็นว่าการสื่อสารกับประชาชนจะมีประสิทธิภาพ พูดครั้งนึง เดี๋ยวก็กลับอีกแบบนึง แล้วยิ่งสถานการณ์วิกฤตแบบนี้ คุณสื่อสารแบบไม่มีความชัดเจน แน่นอน ประชาชนก็ยิ่งไม่เชื่อมั่น
กับในคำว่า ‘เฟคนิวส์’ ที่รัฐบาลพยายามใช้ อาจารย์มองว่าอย่างไรบ้าง
กับคำว่าเฟคนิวส์ ซึ่งพิสูจน์ได้ยากนี้ ผมว่ารัฐบาลต้องเข้าใจตัวเองและประชาชนด้วยว่า ข้อมูลทุกอย่างมันอยู่ที่คุณ คุณบินไปเจรจา ตกลง ลงนามในการจัดซื้อวัคซีน ข้อมูลในการที่คุณคุยกันในที่ประชุมเกี่ยวกับการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขต่างๆ อะไรก็แล้วแต่ ข้อมูลทุกอย่างมันอยู่กับคุณ
การที่ประชาชนกับสื่อมวลชนนำเสนอ หรือใช้เสรีภาพของเขา บางครั้งคุณต้องเข้าใจว่า มันมาจากข้อมูลที่จำกัดและที่เขาหาได้ เช่น คุณจะทำข่าว อาจจะถามข้อมูลนักวิชาการ หรือต้องไปเสิร์ชหาว่าต่างประเทศทำงานกันอย่างไร คำถามคือ แล้วทำไมข้อมูลพวกนี้เราไม่ได้จากรัฐบาลล่ะ เมื่อเป็นแบบนี้รัฐบาลจึงต้องเข้าใจเขาว่า เนื่องจากข้อมูลอยู่กับคุณ แล้วคุณปล่อยให้คนอื่นเขาหาข้อมูลกันเอง แบบนี้เรื่องของข้อเท็จจริงก็ต้องคลาดเคลื่อนเป็นปกติ แต่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องมาเอาเป็นเอาตาย ประเด็นคือ เมื่อเป็นแบบนี้ คุณยิ่งต้องเอาข้อมูลมาเปิด ต้องเอาข้อมูลมาทำความเข้าใจว่า สิ่งที่สื่อเข้าใจผิด สิ่งที่ประชาชนเข้าใจผิด คืออะไร
แล้วรัฐบาลจะอ้างข้อมูลความมั่นคง หรือความลับอย่างเดียวไม่ได้นะ เพราะแม้ว่าบางครั้งข้อมูลต่างๆ นานา ที่ถือว่าเป็นเรื่องของความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง เขาจะคุ้มครอง แต่ต้องไม่ลืมว่า ในครั้งนี้หลักของรัฐธรรมนูญก็มีอีกคือ หลักประโยชน์สาธารณะ และหลักในการที่คุณใช้งบประมาณของรัฐไปดำเนินการจัดหาวัคซีน ไปดำเนินการจัดหาเรื่องบริการสาธารณะ ในสถานการณ์ COVID-19 มันต้องมีการชั่งน้ำหนักด้วย ไม่ใช่บอกว่า ความมั่นคงแล้วจบ ไม่ต้องเปิด ไม่ใช่
ในเชิงหลักการคุณต้องเปิด เพราะประโยชน์สาธารณะมันสำคัญกว่า ประชาชนย่อมต้องมีสิทธิรู้ เพราะเรื่องพวกนี้มันปฏิเสธไม่ได้ว่า ตอนนี้ 1 วินาทีก็คือชีวิตของเขา ผู้คนล้มตายรายวัน อยู่ที่บ้านบ้างอยู่ที่ถนนบ้าง พวกนี้คือบทสะท้อนว่า คุณต้องออกมาชี้แจง นี่คุณไม่ได้ชี้แจง แต่จะไปดำเนินคดีกับเขา
ทีนี้ เมื่อลักษณะของการบริหารจัดการของรัฐเป็นแบบนี้ แล้วสุดท้ายเขายืนยันว่าเขาจะบังคับใช้ข้อกำหนดนี้ ผลที่ตามมาก็คือ ผมขอถามกลับอย่างนี้ การที่ ศบค.หรือภาครัฐ ออกมาชี้แจงตัวเลขผู้ติดเชื้อกับผู้เสียชีวิตรายวันนี่ถือเป็นข้อความที่สร้างความหวาดกลัวไหม? ถึงบอกว่าเรื่องนี้มันไม่มีความชัดเจนจะมาใช้เรื่องพวกนี้ โดยที่ตัวเองก็ยังไม่สามารถอยู่ในมาตรฐานที่ตัวเองกำหนดได้ มันจึงเป็นเรื่องของการที่วางมาตรวัดที่ไม่มีความชัดเจนแน่นอน แล้วไปกระทบสิทธิของประชาชน ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวในการใช้เสรีภาพ หรือทำให้สื่อมวลชนเกิดความหวาดกลัวที่จะใช้เสรีภาพ เพราะสุดท้ายมันมีบทลงโทษ และขัดกับทุกอย่าง
ถ้ารัฐบาลยืนยันจะบังคับใช้ข้อกำหนดนี้ จะเป็นอย่างไร แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง
ข้อกำหนดนี้ขัดกับรัฐธรรมนูญตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการ เจ้าหน้าที่รัฐต้องรับผิดชอบในทางกฎหมายนะ ขอชี้แจงว่า ข้อกำหนดพวกนี้ออกตามพื้นฐานของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แสดงว่าเวลาจะไปดำเนินคดี เช่น The MATTER โดนดำเนินคดี เขาจะเอาข้อกำหนดนี้มาฟ้องร้องดำเนินคดี แล้วอ้างอิงโทษตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
คราวนี้ใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 17 ที่รัฐชอบอ้างข้อนี้เพื่อไปดำเนินการ ระบุไว้ว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ เช่นเดียวกับเจ้าพนักงาน ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา ทางวินัย เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่” นี่คือมาตรา 17 ที่ทางรัฐเขาจะชอบใช้ข้อนี้ มาเป็นการคุ้มครองตัวเขา
เพราะงั้น ว่าง่ายๆ ถ้าเขาจะดำเนินการกับ The MATTER เขาจะบอกว่า ถ้า The MATTER จะฟ้องกลับ เขามีมาตรา 17 คุ้มครองเขาอยู่ แต่ผมจะบอกแบบนี้ว่า ไม่ใช่ คุณอ้างไม่ได้ มาตรา 17 คุ้มครองคุณจริง ตราบเท่าที่การใช้อำนาจนั้นสุจริต ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่เกินสมควรแก่เหตุ
ดังนั้น จากที่พูดไป มันจะมีคำที่ผมบอกว่า ถ้าเป็นการจำกัดสิทธิเกินสมควรแก่เหตุ มันขัดกับรัฐธรรมนูญ แล้วข้อความเดียวกันมันปรากฏอยู่ในมาตรา 17 ด้วย หมายความว่า เมื่อมันขัดกับรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับเรื่องของการจำกัดสิทธิที่มันเกินสมควรแก่เหตุ แล้วมาตรา 17 ก็พูดอยู่เหมือนกันว่า ถ้าเป็นกรณีที่เป็นการใช้อำนาจโดยไม่เกินสมควรแก่เหตุ มันจะคุ้มครอง เพราะฉะนั้น ที่ผมบอกมาตั้งแต่ต้นว่า นี่เป็นการจำกัดสิทธิเกินสมควรแล้ว เมื่อเกินสมควรมาตรา 17 จึงไม่คุ้มครอง
ที่ผ่านมา รัฐบาลเองก็บังคับใช้กฎหมายที่ขัดกับกฎหมายแม่บทอยู่เหมือนกัน ไม่ใช่แค่ในสถานการณ์ COVID-19 อาจารย์มองว่า ตรงนี้สะท้อนให้เห็นอะไรบ้าง
ในภาพรวมผมอาจจะมองในเชิงโครงสร้างว่า ตอนนี้รัฐบาลอาจจะมองในเรื่องของการเอากฎหมายเป็นเครื่องมือสำคัญในการที่จะบริหารจัดการไปตามที่ตนเองต้องการ โดยที่บางครั้งปฏิเสธไปเลยว่า เขาอาจจะลืมพิจารณา หรือไม่ได้สนใจในเรื่องของกรอบของตัวกฎหมายที่ใหญ่กว่า หรือรัฐธรรมนูญที่เป็นตัวกฎหมายแม่บท
ผมพูดอย่างนี้อยู่เสมอว่า ภาครัฐเอง หรือแม้กระทั่งประชาชน เราก็ลืมนึกไปว่า เวลาที่เขาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้วรัฐบาลออกมาประกาศขึงขังว่า ตรงนี้ถ้าทำผิด ถือว่าผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผมคิดว่าทุกคนลืมนึกไปว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มันก็อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ คือรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท เป็นกฎหมายสูงสุด เพราะงั้น ต่อให้เป็นกฎหมายฉบับไหนที่รัฐบาลประกาศใช้ มันไม่มีทางที่จะไปใหญ่หรือขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้หรอก
ในทางปฏิบัติ แน่นอนรัฐบาลก็ต้องมองกฎหมายลูก กฎหมายเล็กๆ เป็นรายฉบับ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือของเขา เขามีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย แต่เขาลืมนึกไปว่า การบังคับใช้กฎหมายหรือการออกกฎเกณฑ์อะไรต่างๆ ของเขา มันก็ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญอยู่ดี สะท้อนให้เห็นว่า เขาจะมองในมุมปฏิบัติของตัวเขาเองว่า เขาต้องการแบบนี้ เขาออกกฎหมายมาเป็นแบบนี้ เพื่อที่จะนำไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการเท่านั้น แต่เขาอาจจะไม่ไปมองถึงหลักการที่รัฐธรรมนูญรับรองและคุ้มครองในหลายๆ เรื่อง
แล้วอีกอย่าง ไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่ หน้าที่ของรัฐสำคัญในทางรัฐธรรมนูญมีอยู่ 2 ประการ หนึ่งคือ คุณดูแลความสงบเรียบร้อย ความมั่นคง และหน้าที่ที่สองที่สำคัญคือ เคารพและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน นี่คือหน้าที่พื้นฐานของรัฐบาลอีกหนึ่งประการที่ผมเห็นว่า รัฐบาลเขาไม่เข้าใจว่าเขามีหน้าที่นี้อยู่ด้วย หน้าที่สองอย่างนี้ต้องไปควบคู่กัน
ฉะนั้น ถ้าเห็นภาพอย่างนี้มันไม่สามารถอ้างแค่ความมั่นคงอย่างเดียว โดยเพิกเฉยต่อการพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชน มันต้องมาคู่กัน ถ้าเขาเห็นตรรกะแบบนี้ ผมถึงบอกว่า เวลาที่คุณจะมาพูดว่า ข้อมูลข่าวสารตรงนี้เปิดเผยไม่ได้ มันเป็นความลับ นู่นนี่นั่น แต่อีกขานึง คุณต้องพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของประชาชนใช่ไหม มันต้องให้ทั้งสองอย่างไปด้วยกัน ไปพร้อมกัน เพราะงั้นถ้าคุณไปอ้างแค่เรื่องความมั่นคงอย่างเดียว มันจะไปแค่ขาเดียว
อย่างนี้แสดงว่า สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกล่วงละเมิด นี่แหละคือปัญหา