ในเดือนแห่งความหลากหลายทางเพศหรือ Pride month นั้น สิ่งสำคัญที่เรายังต้องสื่อสารกันอยู่เสมอคือ มันไม่เป็นไรนะ หากรู้สึกว่าเรามีอัตลักษณ์ทางเพศที่หลากหลายและไม่อยู่ในกรอบที่สังคมคาดหวัง และสิ่งสำคัญคือสังคมต้องตระหนักและเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ เพราะยังมีประเด็นที่ยังคงต้องพูดถึงและผลักดันคือเราต้องทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเพศนั้นหายไป
การทำความเข้าในความหลากหลายทางเพศนั้นก็มีหลากหลายวิธี แต่หนึ่งในนั้นที่อาจช่วยให้ทุกคนเข้าใจความรู้สึกหรือวิธีคิดเรื่องเหล่านี้คือการกลับไปอ่านหนังสือที่เล่าถึงความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายหรือสารคดี เราจึงอยากแนะนำหนังสือที่บอกเล่าเรื่องราวความหลากหลายทางเพศให้ได้อ่านกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจความรู้สึกของกลุ่ม LGBTQ และช่วยกันเป็นกระบอกเสียงให้พวกเขามากขึ้น
Carol (The Price of Salt) โดย Patricia Highsmith
เรื่องราวความสัมพันธ์ของผู้หญิงสองคนที่ต่างฝ่ายต่างรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งอายุของตัวละครนั้นต่างกันอย่างมากที่ช่วยให้เห็นว่าไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็พบเจอกับความกังวลใจเหล่านี้เสมอ นอกจากนี้ยังมีประเด็นนั้นการตามหาอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองจนเจอ
ซึ่งปมของเรื่องก็พาเราดราม่าไปมากกว่านั้น เมื่อเรื่องราวนี้กลายเป็นความรักต้องห้ามในยุคสมัยที่การรักเพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งนอกจากประเด็น LGBTQ แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังพาเราไปวิพากษ์โครงสร้างชายเป็นใหญ่ที่เป็นปัญหาครอบเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเพศอีกด้วย
แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary) โดย Alok Vaid-Menon
หนังสือ non-fiction ที่เป็นเหมือนบันทึกความทรงจำควบคู่ไปกับการบอกเล่าความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศแบบ 101 ซึ่งจะช่วยให้เรามองเห็นว่าเพศไม่จำเป็นต้องจำกัดแค่ชายหรือหญิง และการแสดงออก เสื้อผ้า หน้าผม ท่าทาง วิถีชีวิตของเรา ก็ไม่จำเป็นต้องตรงกับเพศสภาพและเพศวิถี
โดยหนังสือเล่มนี้ยังได้รวบรวมคำโต้แย้งที่บางคนใช้เพื่อโจมตีอัตลักษณ์อันหลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้คนที่กำลังเรียนรู้เรื่องเหล่านี้ได้เข้าใจความหลากหลายยทางเพศมากขึ้น
อ่านรีวิวเต็มๆ ได้ที่นี่ : https://thematter.co/entertainment/beyond-the-gender-binary/136775
Autoboyography โดย Christina Lauren
นวนิยาย coming of age ที่มีพล็อตน่าสนใจ เพราะจับรวมทุกจารีตเข้ามาตั้งคำถาม ทั้งความสัมพันธ์ของครู–นักเรียน ความสัมพันธ์ของคู่รักเกย์ภายใต้ครอบครัวที่เคร่งศาสนาซึ่งกีดกัน LGBTQ
ซึ่งเนื้อเรื่องเป็นการเล่าเรื่องแบบ Young adult แต่ก็อัดแน่นกับการตั้งประเด็นซีเรียสจริงจังโดยเฉพาะเรื่องของศาสนากับ LGBTQ ที่จะทำให้เรามองเห็นว่าครอบครัวและ ally ของกลุ่มหลากหลายทางเพศนั้นสำคัญและเป็นพลังให้กันและกันมากแค่ไหน
ออกแบบเพื่อเท่าเทียม: ‘สะกิด‘ กรอบคิดเรื่องเพศด้วยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม โดย Iris Bohnet
เพราะความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นได้หากเราออกแบบให้ทุกคนเท่าเทียม
โดยนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม Iris Bohnet พาเราไปดูตั้งแต่อคติทางเพศที่อยู่ในทุกการออกแบบ ทุกวิธีการในที่ทำงาน ที่กีดกันความเท่าเทียมทางเพศ และเขาไม่เพียงจะชี้ให้เห็นความผิดปกติเท่านั้น แต้่ยังเสนอวิธีลดความเหลื่อมล้ำทางเพศอีกด้วย
แว่นตากรอบทอง (Gli occhiali d’oro) โดย Giorgio Bassani
นวนิยายเล่มบางที่เต็มไปด้วยความรู้สึกอันเปี่ยมล้นนี้พาเราไปรู้จักกับชายหนุ่มสองคน ที่คนหนึ่งเป็นชาวยิว และอีกคนเป็น Homosexual ซึ่งทั้งสองคนอยู่ในอิตาลี ในยุคสมัยที่มุสโสลินี ต่อต้านยิวอย่างรุนแรง และการรักร่วมเพศยังเป็นเรื่องต้องห้าม
ซึ่งนวนิยายเล่มนี้ทำให้เราได้สัมผัสความรู้สึกของการถูกเหยียด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเชื้อชาติ หรือเพศสภาพ ที่ทำให้เราเข้าใจลึกซึ้งถึงความรู้สึกของการเป็นคนชายขอบในสังคม
Love Simon : อีเมลลับฉบับไซมอน โดย Becky Albertalli
หลายคนอาจคุ้นเคยกับ Love, Simon จากภาพยนตร์ แต่ในหนังสือเองก็สนุกและมีรายละเอียดให้น่าติดตามเช่นกัน
โดยเป็นเรื่องเล่าของวัยรุ่นคนนึงที่กลัวกับการ come out ในสังคมที่การแสดงออกว่าเป็นเกย์ จะถูกคาดหวังให้ต้องเป็นตัวตลก ตัวสร้างสีสัน ถ้าไม่เป็นอย่างนั้น คุณก็จะถูกผลักออกจากสังคม ถูกกลั่นแกล้ง ไม่กลายเป็นส่วนหนึ่งของที่ไหน ซึ่งเรื่องนี้ชวนให้เราสัมผัสและรับรู้ถึงความเจ็บปวดของวัยรุ่นที่ยังไม่แน่ใจเรื่องอัตลักษณ์และเต็มไปด้วยความกังวลหากไม่ถูกยอมรับในสังคม
และตั้งคำถามว่าทำไม ชาย–หญิง ถึงกลายเป็นค่าตั้งต้น แล้วต้องซัฟเฟอร์เมื่อเติบโตขึ้นแล้วพบอัตลักษณ์ตัวเองไม่ใช่ตามที่คนบอก กลับต้องมากังวลว่าต้องพูดออกไปมั้ย แล้วจะเกิดผลอย่างไร ทำไม LGBTQ ถึงต้อง come out แต่ชาย–หญิงไม่เคยเจอกับความรู้สึกนี้
Less โดย Andrew Sean Greer
เรื่องช้ำรักของ Arthur Less นักเขียนชายวัย 49 ที่พยายามหลีกหนีงานแต่งงานของแฟนเก่าซึ่งเป็นชายหนุ่มที่คบหากันมากว่า 9 ปี แต่ได้เลิกรากันไป โดยหนังเล่มนี้พาเราเดินทางเหมือนนั่งเครื่องบินในเก้าอี้ข้างๆ เลส คอยลอบสังเกตความเป็นไปของเขา
นอกจากเรื่องการบอกเล่ามุมมอง วัฒนธรรมต่างๆ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือการตั้งคำถามต่ออัตลักษณ์ของเพศที่สังคมคาดว่าว่าหากเรา come out แล้ว เราต้องมีอัตลักษณ์ นิสัย หรือท่าทางตามที่สังคมคิด แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นนวนิยายเล่มนี้อาจจะไม่ได้บอกกับเราอย่างตรงไปตรงมาเสียทีเดียว แต่ก็ชวนเราตั้งคำถามถึงการเมืองเรื่องเพศได้เป็นอย่างดี
เมื่อวานเจ๊ทานอะไร? (Kinou Nani Tabeta?) โดย Fumi Yoshinaga
มังงะที่เล่าเรื่องของเกย์ในสังคมญี่ปุ่น โดยออกแบบตัวละครให้เป็นเกย์ในอัตลักษณ์ที่ต่างกัน คนหนึ่งเคร่งขรึม ต้องคอยปกปิดตัวเองเมื่อไปทำงาน อีกคนแสดงออกชัดเจนถึงอัตลักษณ์และเพศสภาพของตัวเอง แต่ทั้งสองคนกลับพบเจอการกีดกันจากสังคมเหมือนกัน
เรื่องนี้ชวนเราไปเข้าใจสังคมญี่ปุ่นกับกลุ่ม LGBTQ ที่มักถูกมองเป็นคนนอก เป็นชายขอบในสังคม และต้องคอยปกปิดไว้เพื่อไม่ให้ดูแตกต่างไปจากสังคม จนนำไปสู่ความเจ็บปวดและความซัฟเฟอร์ต่างๆ ภายในคู่รักกันเองและตั้งคำถามว่าทำไมความรักของ LGBTQ ถึงเป็นเรื่องผิดมากนัก?
Call Me by Your Name โดย André Aciman
นวนิยาย coming of age ที่ดังถล่มทลาย ซึ่งพาเราไปรู้จักกับความรักของชายหนุ่มสองคนที่อายุต่างกัน โดยจุดเด่นของเรื่องนี้คือการพรรณาความรู้สึกของตัวละครที่มีต่อความรักในครั้งนี้ รวมถึงตั้งคำถามกับความรู้สึกของตัวเอง ความรู้สึกไม่แน่ใจ ความรู้สึกลังเล ก่อนจะค้นพบว่าเมื่อรักแล้ว เพศสภาพไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล
นวนิยายเรื่องนี้จึงเหมือนเป็นเพื่อนกับวัยรุ่นหลายคนที่อาจจะยังไม่เข้าใจตัวเอง ไม่แน่ใจกับเพศสภาพ ตั้งคำถามกับอัตลักษณ์ของตัวเอง และร่วมค้นพบไปพร้อมกัน