เราหมายถึงอะไรเมื่อเราพูดว่าคนเท่ากัน?
เกิดเสียงพูดคุยมากมาย หลังมีข่าวที่เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้พูดคุยเกี่ยวกับกรณีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ผ่าตัดแปลงเพศในกลุ่ม LGBTQ+ ว่าการผ่าตัดดังกล่าวครอบคลุมอยู่ในสิทธิบัตรทองมาตั้งแต่ปี 2561 และจะมีการออกประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพเกี่ยวข้องกับขอบเขตของบริการดังกล่าวให้ชัดเจน
ซึ่งเสียงพูดคุยนั้นก็มีหลากหลาย แต่เสียงที่ดังขึ้นมาคือเสียงที่ถามขึ้นมาว่า “ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่มีสิทธิทำศัลกรรมฟรีสำหรับคนตรงเพศ” เสียงที่เกิดขึ้นมาอย่างไม่น่าแปลกใจ เพราะมันเป็นเสียงรูปแบบเดิมๆ ที่กลับขึ้นมาทุกครั้งเมื่อมีการพูดคุยเกี่ยวกับสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งหลายๆ ครั้งมาจากกลุ่มคนที่แสดงตัวว่าพวกเขาเชื่อว่า ‘คนเท่ากัน’ เสียด้วยซ้ำ
ทำไมคนข้ามเพศบางคนต้องการศัลยกรรม? ศัลยกรรมแปลงเพศเกี่ยวข้องกับเรื่องภายในใจยังไง? แล้วเราหมายถึงอะไร เมื่อเราพูดว่าคนเท่ากัน?
ในคำให้สัมภาษณ์ของนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสปสช. กล่าวชัดเจนว่าการผ่าตัดแปลงเพศนั้นเป็นศัลยกรรมทางการแพทย์และไม่เกี่ยวข้องกันกับศัลยกรรมเสริมสวย การจะผ่าตัดแปลงเพศที่จะครอบคลุมในสิทธิประโยชน์ต้องขึ้นกับการวินิจฉัยและมีการบ่งชี้ของแพทย์ ซึ่งเป็นอีกบทสนทนาที่เราจะเอาไว้คุยกันเมื่อเรารู้ถึงขอบเขตของมันอย่างแน่ชัด
สิ่งที่สามารถคุยกันตอนนี้ได้คือการวินิจฉัยดังกล่าว ในทางการแพทย์ปัจจุบันอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าคนคนหนึ่งอาจต้องได้รับการแปลงเพศหรือใช้ยาฮอร์โมน? บ่อยครั้งคือความทุกข์ทางใจ (Psychological Distress) ที่เรียกว่า ‘Gender Dysphoria’
ตำรา Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorder Fifth Edition (DSM-5) ได้นิยาม Gender Dysphoria ในผู้ใหญ่เอาไว้ว่ามันคือความไม่ลงรอยกันระหว่างอัตลักษณ์ทางเพศที่คนคนหนึ่งแสดงออกมา กับเพศที่พวกเขาได้ถูกกำหนดไว้ตอนเกิด โดยมีลักษณะอย่างน้อย 2 ข้อข้างล่าง เป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน
- ความไม่ลงรอยกันในอัตลักษณ์ทางเพศกับเพศลักษณ์ปฐมภูมิ (เช่น การมีอวัยวะเพศ หรือช่องคลอด) และ/หรือเพศลักษณ์ทุติยภูมิ (เช่น เต้านมที่ขยายขนาด หนวดเครา ฯลฯ)
- ความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะนำเพศลักษณ์ปฐมภูมิและ/หรือทุติยภูมิออกจากร่างกาย เนื่องจากความไม่ลงรอยกันระหว่างความต้องการและอัตลักษณ์ทางเพศ
- ความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะมีเพศลักษณ์ของเพศอื่น
- ความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะเปลี่ยนตัวเองเป็นเพศอื่น
- ความต้องการอย่างแรงกล้าที่จะถูกสังคมปฏิบัติด้วยแบบเพศอื่น
- ความมั่นใจว่าตัวเองมีมีความรู้สึกเช่นเดียวกับเพศอื่น
หลักเกณฑ์ข้างต้นเป็นการบอกลักษณะ แต่การดูแค่ลักษณะเหล่านั้นอาจจะยังไม่ทำให้เราเห็นภาพทั้งหมด เมื่อเรามองมันเป็นหลักเกณฑ์การวินิจฉัยทุกอย่างอาจดูง่ายและขาวสะอาด แต่เมื่อมีบริบทของการเป็นคนข้ามเพศและการใช้ชีวิตจริงๆ เข้ามาด้วยเราอาจเห็นชัดขึ้น ว่าทำไมการเข้ารักษาจึงจำเป็น
อาการอื่นๆ ที่บ่อยครั้งมาคู่กันกับ Gender Dysphoria คือภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ตัดขาดขาดจากสังคม บางครั้งในกรณีหนักๆ มันอาจนำมาซึ่งพฤติกรรมที่ก่ออันตราย หรือความเสี่ยงให้แก่ตัวเองได้ ไม่ว่าจะจากการใช้ยาเสพติด การบริโภคแอลกอฮอล์จนติด การทำร้ายตัวเอง หรือแม้แต่ความคิดการอยากฆ่าตัวตาย
ในงานวิจัย Prevalence of gender dysphoria and suicidality and self-harm in a national database of paediatric inpatients in the USA: a population-based, serial cross-sectional study ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร The Lancet พบว่าจากกลุ่มตัวอย่างระดับชาติในสหรัฐอเมริกา กลุ่มคนข้ามเพศและนอนไบนารี่ผู้มีประวัติการได้รับวินิจฉัย Gender Dysphoria บ่อยครั้งเข้ารับรักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากพฤติกรรมพยายามฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตัวเอง
ที่น่าสนใจอีกอย่างคือจากสถิติคือผู้วิจัยยังพบว่ามีการรายงานเกี่ยวกับกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่คนผิวขาว ใช้ประกันสาธารณะ และเป็นผู้อาศัยในครัวเรือนที่มีรายได้น้อยที่มีอาการ Gender Dysphoria ต่ำอย่างมีนัยยะสำคัญ ในหัวข้อการตีข้อมูล ความผู้วิจัยเชื่อว่าสถิติข้างต้นหมายความว่าความไม่เท่าเทียมก่อให้เกิดสถานการณ์ที่ทำให้มีผู้เข้าไม่ถึงการตรวจพบ Gender Dysphoria แต่แรกด้วยซ้ำ
บวกกับว่านอกจากเรื่องภายในใจแล้ว การมีชีวิตในร่างกายของคนไม่ตรงเพศนั้นพบกับปัญหาที่แตกต่างไป ค่านิยมของสังคมและศาสนา ความรุนแรงในครอบครัว การกลั่นแกล้ง การเหมารวม ฯลฯ เมื่อเรามองเข้าจริงๆ แล้ว โลกภายในของเราและโลกภายนอกนั้นไม่อาจแยกกันได้ สิ่งที่เกิดขึ้นข้างนอกอาจทุบทำลายหรือเสริมสร้างสิ่งที่อยู่ข้างในได้ และเช่นกัน เราก็มักต้องการนำสิ่งที่อยู่ข้างใน นำเสนอออกไปสู่โลกภายนอกเช่นกัน
ในปัจจุบัน แน่นอนว่าสิทธิคนข้ามเพศพัฒนาขึ้นจากเมื่อก่อนพอสมควร แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ทางเพศของผู้อื่นได้ทั้งหมดแล้ว และในโลกที่มียังมีคนจำนวนมากไม่เข้าใจ รวมถึงไม่ยอมรับในตัวตนของคนข้ามเพศ คนข้ามเพศหลายๆ คนยังต้องการโล่กำบังจากพฤติกรรมที่ข้ามเส้นของโลกใบนั้น ทั้งตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ เช่น การถูก Misgender หรือการถูกถากถางว่าเพศของตัวเองไม่มีจริง ฯลฯ ซึ่งการแสดงออกทางรูปลักษณ์ร่างกายเป็นหนึ่งในโล่กำบังระยะสั้น ระหว่างที่เราก็ต้องให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ และการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายเพื่อเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวไปพร้อมๆ กัน
เมื่อรูปลักษณ์ของเราเป็นมากกว่าความงาม รูปลักษณ์จึงเป็นวิธีหนึ่งที่เราเผยตัวเองออกสู่โลกรอบตัว ถ้าการแต่งตัวของเราบอกรสนิยมของเรา หรือถ้าผิวของเราบอกบางอย่างเกี่ยวกับไลฟ์สไตล์ของเราได้ แล้วมันจะเกินจริงยังไง หากเราจะบอกว่าความต้องการให้ร่างกายของเราเป็นไปตามอัตลักษณ์ทางเพศของเรา จะทำให้เราลดความไม่ลงรอยภายในของเราได้? จะเหนือจริงตรงไหนถ้าใครบางคนอยากจะนำเสนอเพศของตัวเองผ่านรูปลักษณ์ของพวกเขา?
สมมติว่ามีข่าวการขยับขยายการเดินทางระบบรางในประเทศไทย คนที่สามารถเดินทางด้วยรถ จะประท้วงการขยับขยายนั้นหรือเปล่า? หรือหากมีโครงการการสร้างทางด่วนใหม่ คนที่ไม่มีรถยนต์จะต้องมาเรียกร้องหรือไม่ ว่าเอาภาษีของพวกเขาไปสร้างได้ยังไง? การถามหา ‘ความเท่าเทียม’ จากสวัสดิการที่เราไม่ได้รับประโยชน์โดยตรงนั้นก็คล้ายๆ กับการจะไปประท้วงเรื่องข้างต้นด้วยเหตุผลว่า ก็เราไม่ได้ใช้
ความเท่าเทียมไปไม่ได้หมายความว่าได้อะไรเท่าๆ กันเสมอไป บริบทของการเป็นมนุษย์นั้นลึกและหลากหลายกว่านั้น บางครั้งโลกและค่านิยมของมันโหดร้ายกับคนหลายๆ กลุ่ม บางครั้งโลกก็บังคับให้คนหลายๆ กลุ่มเรียกร้องบางอย่างมากกว่าคนอื่น หรือบางครั้งโลกก็ให้น้ำหนักกับคนบางกลุ่มมากเกินไปจนทิ้งที่เหลือเอาไว้ข้างหลัง นานเสียจนการพยายามเปลี่ยนให้ทุกคนเข้ากันจริงๆ ดูเป็นสิ่งแปลกปลอม เราต่างคนต่างมีการต่อสู้ของเราเอง แต่อย่าลืมวางเลนส์ของตัวเองลงเมื่อมองปัญหาของผู้อื่น
เพราะการที่เราไม่ได้เจอสิ่งที่เขาเจอ ก็ไม่ได้แปลว่าปัญหาเหล่านั้นไม่มีอยู่เลย
อ้างอิงจาก