ในปัจจุบันเรามองไปทางซ้ายเราเห็น Drag race มองไปทางขวาเราเห็นละครเกี่ยวกับนางโชว์จากผู้ผลิตรายการใหญ่ของประเทศไทย
ไม่ว่ารายการเหล่านั้นจะเป็น representation ที่ตรงและถูกต้องหรือไม่ตามที่คนผู้ริเริ่มวัฒนธรรมนี้มอง แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือคำว่า drag ได้เข้าสู่กระแสหลักในไทยแล้ว ไม่ว่าจะในรายการ ใน reaction gif. สั้นๆ หรือบนท้องถนนในการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ
แต่จากสายตาของคนที่ไม่คุ้นเคยและไม่ได้มีส่วนร่วมไปการดูโชว์ของ drag queen อาจเห็นมันเพียงเครื่องแต่งกาย ลิปซิงก์ การแต่งหน้า ซึ่งแม้จะเป็นส่วนสำคัญในวัฒนธรรมนี้ อีกส่วนที่สำคัญไม่แพ้กันคือจุดกำเนิดและประวัติศาสตร์ของวัฒนธรรมที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง และเต็มไปด้วยการวิพากษ์สังคมในรูปแบบต่างๆ นี้ ความเข้าใจที่ลึกซึ้งนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของการส่งต่อภาพจำที่ตรงและไม่บิดเบือนภาพลักษณ์ของกลุ่มที่เราพูดถึง ฉะนั้นมาทำความรู้จักวัฒนธรรมนี้ในแง่มุมอื่นๆ กันเถอะ
จุดเริ่มที่มาจาก ballroom culture
ถ้าย้อนไปยังประวัติศาสตร์ การแต่ง Drag นั้นสามารถย้อนกลับไปได้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 บนละครเวทีของเชคสเปียร์ที่นักแสดงชายต้องแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าผู้หญิงหากเขาได้รับบทตัวละครหญิง โดยเชื่อกันว่าคำว่า drag มาจากคำอธิบายที่เดรสของพวกเขา ‘ลาก’ ไปกับพื้น
แต่จริงๆ แล้วในอีกมุม วัฒนธรรม drag ที่เรารู้จักกันในปัจจุบันมจากวัฒนธรรมย่อยเรียกว่า ballroom culture ที่เกิดขึ้นช่วงราวๆ ค.ศ. 1970s
Ballroom Culture เริ่มขึ้นที่ฮาร์เล็ม, นิวยอร์ก โดย ballroom เป็นที่รวมตัวของกลุ่มคน LGBTQIAN+ โดยเฉพาะคนผิวดำกับละตินอเมริกัน ที่มีสถานะทางสังคมไม่สูงไปกว่าชนชั้นกลาง เพื่อทำโชว์แข่งกัน โดยมีกรรมการให้คะแนน และเมื่อวัฒนธรรมเหล่านี้งอกงามและพัฒนาต่อไปก็อาจมีธีมในการทำโชว์แตกต่างกันออกไป
การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมนี้ไม่ใช่เพียงเพราะความสนุกสนานอย่างเดียว แต่เป็นจุดตัดระหว่างเพศ ฐานะ โอกาส และเชื้อชาติ ฉะนั้นสิ่งที่ขาดไปไม่ได้ในการพูดถึงและ represent เกี่ยวกับวัฒนธรรมนี้คือเรื่องการเมืองและสังคม การเสียดสี และการวาดฝันของตัวเองออกมาในเครื่องแต่งกายและท่าเต้น
“คุณไม่ได้เป็นผู้บริหารจริงๆ แต่คุณดูเหมือนผู้บริหาร ราวกับว่าคุณกำลังบอกโลกว่า “ฉันสามารถเป็นได้ถ้าคุณให้โอกาส” โดเรียน คอรี่ นักแสดง drag กล่าวในสารคดี Paris is Burning ในหัวข้อการอธิบายรูปแบบการแสดง ‘Realness’ ที่ให้ผู้แข่งขันแต่งตัวเป็นอะไรก็ตามที่บ้าน ballroom กำหนด เช่น ผู้บริหาร ทำโชว์ให้เหมือนคนรวย หรือทำโชว์เหมือนควีนที่มาบอลรูมครั้งแรก
เมื่อวัฒนธรรม ballroom อยู่ในแสงไฟ
เวลาผ่านไป วัฒนธรรมใต้ดินนี้แม้จะยังเป็นความสนใจเฉพาะกลุ่ม แต่ก็เริ่มเข้าสู่กระแสหลักอย่างแท้จริงเมื่อช่วงปี ค.ศ.1990s ท่าเต้น Vogue ที่เกิดขึ้นจาก ballroom ไปโผล่อยู่ในเพลงของมาดอนน่า Vogue และเมื่อ รูพอล อันเดร ชาร์ล drag queen แอฟริกันอเมริกันค่อยๆ มีชื่อเสียงในสื่อกระแสหลัก ผ่านการที่มิวสิควิดีโอของเขา Supermodel (You better work) ได้ออนแอร์บน MTV ในปี ค.ศ.1993 ก็ได้ทำให้เขาและวัฒนธรรม drag เป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลก
ซึ่งภาพ drag queen ที่เราคุ้นเคยที่สุดในปัจจุบันมาจากรายการ RuPaul’s Drag Race ของรูพอลที่เกิดขึ้นครั้งแรกในค.ศ. 2009 โดยโชว์จะมีฟอร์แมตไม่ต่างกันมากจากโชว์ที่เกิดขึ้นใน ballroom ที่มีภารกิจต่างๆ ตั้งแต่โชว์การออกแบบชุด การแสดง การแต่งหน้า ไปจนการลิปซิงก์ ต่างกันที่ว่าครั้งนี้จากเดิมผู้ชมที่เป็นหนึ่งใน drag queen จะเพียงกลุ่มเล็กๆ ในห้อง ballroom แต่การแข่งขัน Drag Race นั้นได้รับถ่ายทอดออกไปสู่สายตาคนอเมริกันทั้งประเทศ และในปัจจุบัน สู่สายตาคนทั่วโลก
แม้ภาพของการเป็นชนชั้นล่างจะไม่อยู่ให้เห็นเท่าจุดกำเนิดของมัน แต่โชว์ก็ไม่เคยหันหน้าหนีจากรากนี้เลย กล่าวคือโชว์ยังคงไว้ซึ่งการพูดถึงปัญหาของผู้ถูกกดทับในเลนส์ของโลกปัจจุบัน หลายๆ ครั้งในรายการมักมีการพูดเกี่ยวกับประเด็นสังคม การเมือง และปัญหาเรื่องเพศ ไม่ว่าจะความเป็นชาย ความหลากหลายทางเพศ ไปจนถึงการทำโชว์เพื่อรำลึกไปถึงการประท้วง Stonewall Riot ที่เป็นจุดเริ่มต้นของมูฟเมนต์การเรียกร้องเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศในปัจจุบันและ Pride Month
มากกว่าความบันเทิง คือการเป็นก้าวแรกสู่ความเข้าใจ
แม้ว่าเรื่องต่างๆ ที่ถูกพูดถึงในรายการจะเป็นเรื่องที่หนัก แต่มันถูกพูดถึงอย่างสบายๆ และย่อยง่าย สำหรับผู้ชมบางคน โดยเฉพาะที่ไม่ได้อยู่ในสหรัฐผู้อาจไม่เคยรู้จักการประวัติศาสตร์และเหตุการณ์สำคัญของการขับเคลื่อนเหล่านี้มาก่อน การดูโชว์เหล่านี้อาจเป็นครั้งแรกที่จุดประกายให้พวกเขาอยากรู้จักวัฒนธรรมนี้มากขึ้น
นอกจากความอยากรู้ การศึกษาเกี่ยวกับ ballroom culture สามารถนำไปสู่ความเข้าอกเข้าใจได้อีกด้วย ในสารคดี Paris is Burning ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต ความหมาย ตัวตน และภาพรวมของวัฒนธรรมนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 ถึง ค.ศ.1990 มีบทสัมภาษณ์จากสารคดีสั้นๆ ที่เล่าเรื่องของ drag queen หลากหลายมุมมอง ไม่ว่าจะเป็นนางโชว์ยุคบุกเบิกผู้ทำหน้าที่เป็นเหมือนผู้ปกครองแก่เด็กเล็กๆ ที่ถูกครอบครัวผลักไสออกจากบ้าน ไปจนวัยรุ่นข้ามเพศมากความฝันที่ถูกกดทับจากสังคมรอบตัว
“Ballroom คือที่ที่เรารู้สึกใกล้ที่สุดกับการเป็นซุปเปอร์สตาร์ เหมือนการรับออสการ์อะไรแบบนั้น หรือเป็นโมเดลเดินแบบ รู้มั้ยว่าเด็กในงานนี้แทบไม่มีอะไรเป็นของตัวเอง บางคนไม่กินข้าวด้วยซ้ำ พวกเขานอนใต้ทางด่วน หรือบนท่าเรือ แต่เมื่อถึงเวลาพวกเขาถึงกับขโมยของ แต่งตัวเพื่อมาร่วมงาน เพื่อทำให้ฝันของพวกเขาเป็นจริงในหนึ่งคืน” เป๊ปเปอร์ ลาเบจา drag queen แม่แห่งบ้านลาเบจาพูดเกี่ยวกับความสำคัญของวัฒนธรรมนี้สำหรับคนที่ถูกกดทับในสังคม แม้แต่กับคนที่ไร้บ้านไร้สถานะทางสังคม พวกเขาคือคนที่ถูกสังคมและบ้านทอดทิ้งจนต้องทำผิดกฎหมายเพื่อความอยู่รอด และเพื่อความฝันที่ยังเป็นสิ่งสำคัญสำหรับวัยรุ่นเสมอ
การได้รู้จักวัฒนธรรมนี้ผ่านการแสดง drag จึงเป็นเหมือนขั้นตอนแรกของความเปิดใจ และขั้นต่อมาคือเมื่อเราได้ฟังเสียงจากผู้ที่มีประสบการณ์ตรงจากการถูกสังคมกดทับ ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจเกิดขึ้นได้ง่าย
และเมื่อเกิดความเข้าใจแล้ว การอาจช่วยสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อความหลากหลาย ไม่ว่าจะเรื่องความหลากหลายทางเพศ ชนชั้น และเชื้อชาติ ซึ่งอย่างที่เราว่าไป การเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมนี้อย่างรอบด้านสามารถทำให้คนเข้าใจประเด็นเหล่านี้ได้ทั้งหมดพร้อมกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก