เวลาเราได้ยินการพูดถึง transphobia เรานึกถึงอะไร?
อาจเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นต่อกลุ่มคนที่โดนกดทับ คำพูดทำร้ายจิตใจ การไม่เกียรติเพศของคนคนหนึ่ง ฯลฯ ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความเจ็บปวดได้อย่างมากให้กับคนข้ามเพศ จะมองในมุมใดก็เป็นเรื่องที่ทุกคนต่อต้าน การใช้ความรุนแรง ความหยาบคาย ความไม่เห็นใจกันและกัน
แต่บ่อยครั้งเหลือเกินที่มีคำถามว่า ‘สิ่งที่คนคนนี้ทำนับเป็นเรื่องทรานส์โฟเบียร์แน่หรือเปล่านะ?’ แน่นอนว่าการตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ในชีวิตก่อนจะลงเรือไปกับฟากฝั่งแนวคิดใดแนวคิดหนึ่งเป็นเรื่องที่ควรจะทำ แต่ในหลายๆ กรณีมันอาจวาดภาพความเข้าใจเกี่ยวกับ transphobia ที่จำเพาะเจาะจงอย่างมาก หากให้พูดโดยเหมารวมอาจเรียกได้ว่าแนวคิดของเราเกี่ยวข้องกับ transphobia มักเชื่อมโยงเข้ากับความ ‘ใจร้าย’ ของมันมากกว่าอะไรอย่างอื่น
และความใจร้ายนั้นเป็นส่วนหนึ่งของมัน แต่สิ่งที่เรามักมองข้ามคือ transphobia นั้นเป็นเรื่องของระบบพอๆ กัน ไม่ว่ามันจะสุภาพหรือมีตรรกะมากขนาดไหน
การจะเรียกการเหยียดหยามคนข้ามเพศว่าเป็นคนที่เกลียดชังนั้นก็อาจเรียกได้ แต่แก่นของอคติและหัวรั้นที่นำมาซึ่งความเกลียดชัง (bigotry) นั้นไม่ได้อยู่ที่ความเกลียดชัง แต่อยู่ที่แนวคิดของมันนำไปสู่การถอยหลังเชิงระบบเสียมากกว่า ตัวอย่างเช่นหากเราบอกให้ยกตัวอย่างคนเหยียดสีผิวและเชื้อชาติขึ้นมา เราอาจจะหยิบเอา Ku Klux Klans ขึ้นมาเป็นกลุ่มแรกเนื่องด้วยการกระทำที่สุดโต่งและภาพลักษณ์ที่ชัดเจนของพวกเขา แต่ในความเป็นจริงแล้วนั่นเป็นเพียงหนึ่งในเศษเสี้ยวของประเด็นนั้นๆ
เช่นเดียวกัน เมื่อเราลองมองไปยัง transphobia กลุ่มแรกที่เราอาจจะนึกถึงคือกลุ่มชาวคริสต์ที่เกลียดชังเช่น Westboro Baptist Church ที่ไปถือป้ายต่อต้านมูฟเมนต์หรืองานศพที่เกี่ยวข้องกับทุกอย่างที่พวกเขามองว่าเป็นสิ่งผิดบาปต่อความเชื่อทางคริสต์ศาสนาของพวกเขา นั่นรวมไปถึงการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน LGBTQ+ และเมื่อเราพูดถึงกลุ่มเหล่านั้นเราจะนึกถึงอะไร? ความไร้ตรรกะ เกินเยียวยา เถียงไปก็เสียเวลา ล้าหลัง
แต่หากว่าการเหยียดคนข้ามเพศมันมาในรูปแบบอื่นล่ะ? มันดูมีตรรกะ ดูสุภาพ ดูคุยกันได้ แถมมาจากคนที่ก็ดูเหมือนจะก้าวหน้า (progressive) หน่อยๆ เรานับมันยังไง? บ่อยครั้งการตั้งคำถามเกี่ยวกับว่าอะไรเป็นข้อถกเถียงที่ transphobia หรือไม่ผุดเกิดขึ้นมาจากการแสดงออกประเภทนี้ แต่เพียงเพราะมันมีหลักการและการวางกรอบที่ดูดี มันจะหยุดเป็นการเหยียดคนข้ามเพศไปเลยหรือเปล่า?
โจแอน โรว์ลิง (J.K Rowling) ผู้เขียนนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นผู้ที่อยู่ใจกลางการถกเถียงเกี่ยวกับประเด็น transphobia อยู่บ่อยครั้ง อาจจะมาจากชื่อเสียงของเธอ หรือจากแนวคิดที่อยู่ในจุดตัดที่น่าสนใจของเธอ นั่นคือในฐานะเฟมินิสต์สุดโต่ง ผู้ ‘ตั้งคำถาม’ ต่อคนข้ามเพศ
เราต้องนำคำว่าตั้งคำถามให้อยู่ในเครื่องหมายคำพูดเพราะนั่นคือวิธีการที่เธอวางภาพมันในบล็อกส่วนตัวของเธอ J.K. Rowling Writes about Her Reasons for Speaking out on Sex and Gender Issues เป็น ‘คำถาม’ หรือ ‘ความห่วงใย’ สำหรับวัยรุ่นที่กำลัง ‘มีปัญหา’ หรือ ‘หาทางออกไม่ได้’ ที่อาจหันหากลุ่มคนที่เธอเรียกว่า ‘trans activist’ เรียกง่ายๆ ว่าการแปะป้ายรูปแบบเดียวกันกับเฟมทวิต แต่สำหรับกลุ่มคนข้ามเพศ
ข้อถกเถียงของบล็อกดังกล่าวคือเธอ และเฟมินิสต์สุดโต่งที่มีแนวคิดแบบเดียวกับเธอไม่ได้เหยียดคนข้ามเพศเลย เธอเขียนเองด้วยซ้ำว่า “เฟมินิสต์สุดโต่งไม่ได้กันคนข้ามเพศออกด้วยซ้ำ พวกเขานับรวมชายข้ามเพศเพราะพวกเขาเกิดมาเป็นผู้หญิง” ประโยคที่เมื่ออ่านแล้วถึงกับต้องอ่านซ้ำและมันบ่งบอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมุมมองของเธอต่อคนข้ามเพศ
อีกข้อถกเถียงที่นับว่าอาจเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสตอบรับทั้งหมดนั้นมาจากการที่เธอสนับสนุนมายา ฟอร์สตาร์เตอร์ (Maya Forstarter) ที่โจแอนอธิบายว่าผู้หญิงที่สูญเสียงานจากการบอกว่า ‘เพศมีจริง’ กับการสนับสนุนแมกดาเลน เบินส์ (Magdalen Berns) เลสเบี้ยนผู้เชื่อว่าเลสเบี้ยนไม่ควรโดนแปะป้ายว่าเป็น transphobe หากพวกเธอไม่ต้องการจะเดทกับ ‘คนที่มีองคชาติ’
แต่ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับการวางกรอบภาพ มายาไม่ได้มองแค่ว่า ‘เพศมีจริง’ แต่มุมมองของเธอผ่านเอกสารการไล่ออกจากงานของคือ “ฉันคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่จะที่จะเปลี่ยนเพศ เด็กผู้หญิงโตไปเป็นผู้หญิง เด็กผู้ชายโตไปเป็นผู้ชาย ไม่ว่าจะเปลี่ยนเสื้อผ้า ทำศัลยกรรม อุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย การเปลี่ยนฮอร์โมน การใช้แรงพยายาม หรือการป่าวประกาศแบบใดจะเปลี่ยนตรงนั้นได้” มันคล้ายกับการบอกว่ามีเพียงเพศทางชีววิทยาเท่านั้นที่มีจริง ส่วนแมกดาลินก็เคยเปรียบเทียบการเป็นคนข้ามเพศเข้ากับนักแสดงผิวขาวทาหน้าเป็นคนผิวดำหรือ black face
โจแอน โรว์ลิงทำหน้าที่ฟอกขาวข้อถกเถียงเหล่านั้นผ่านการวางภาพมันใหม่ด้วยคำสรุปใหม่ๆ หามุมมองที่สุภาพขึ้นให้กับแนวคิดที่ก่อความเชื่อทำร้ายคนข้ามเพศ
แต่ความเชื่อเหล่านี้ก็ไม่ได้ทำให้ใครตายใช่หรือไม่? โจแอนเขียนว่าการบอกว่าแนวคิดของเธอกำลัง “ฆ่าคนข้ามเพศผ่านความเกลียดชัง” นั้นเป็นการพูดเกินไป แต่ในความเป็นจริงบ่อยครั้งเหลือเกินที่แนวคิดเหล่านี้ที่โดนนำเสนอออกไปในรูปแบบนี้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในระดับนโยบาย และนโยบายเหล่านั้นนำมาซึ่งความล่าถอยของการเคลื่อนไหวคนข้ามเพศ
กรณีที่น่าจะเด่นชัดที่สุดเกี่ยวกับประเด็นนี้คือจากกรณีที่ความเห็นของแจนิส เรย์มอนด์ (Janice Raymond) หนึ่งในหัวหอกของแนวคิดเฟมินิสต์ที่กีดกันคนข้ามเพศ ในหนังสือของแจนิส The Transexual Empire : The Making of a She-male เธอให้มุมมองและทางออกต่อคำถามเกี่ยวกับคนข้ามเพศว่าวิธีการที่จะทำให้คนข้ามเพศหมดไปที่ดีที่สุดคือการทำให้การเข้าถึงกระบวนการการแปลงเพศนั้นยากที่สุดที่จะเป็นไปได้ ผ่านการจำกัดคลินิกและโรงพยาบาลที่จะรับทำการผ่าตัดรูปแบบดังกล่าว
และในปี 1980 แจนิสเขียนรายงานที่ใช้ข้อถกเถียงเดียวกันกับหนังสือของเธอส่งให้แก่กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา นำไปสู่การตัดสินใจในปี 1981 ที่ Medicare จะไม่รองรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการการผ่าตัดแปลงเพศ การตัดสินใจนั้นถูกใช้จนปี 2014 หรือ 34 ปีหลังจากรายงานดังกล่าวถูกส่งไป
และในขณะที่แจนิสคิดว่าการจำกัดนั้นเป็นทางออกที่มีศีลธรรมที่สุด แต่จากงานวิจัยจำนวนมากจากทั่วโลกตั้งแต่ที่อินเดียจนสหรัฐอเมริกาพบว่าคนข้ามเพศผู้มีความต้องการจบชีวิตตัวเองนั้นนอกจากปัจจัยเช่นการบุลลี่ ความรุนแรงทางเพศ การโดนกันออกโดยครอบครัวแล้ว การถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าทียมโดยระบบ health-care ยังเป็นหนึ่งในเหตุผลของการพยายามฆ่าตัวตายด้วย
แน่นอนว่าแนวคิดในตัวของมันเองไม่ใช่สิ่งที่ฆ่าใคร แต่แนวคิดบางรูปแบบไม่ว่าจะแสดงออกยังไงก็นำความไม่ปลอดภัยไปยังคนทั้งกลุ่มได้
อ้างอิงข้อมูลจาก