อิ่มหนำทุกครั้งที่เจอคุณยาย ไม่ว่าในวัฒนธรรมไหน คุณย่าคุณยายก็ชอบที่จะหาอะไรให้หลานกิน มีงานศึกษาตั้งคำถามว่า คนรุ่นย่ายายที่ไม่สามารถผลิตทายาทได้แล้ว บทบาทของคุณยายเชิงวิวัฒนาการมนุษย์คืออะไร คำตอบที่นักวิชาการให้คือ บทบาทคุณยายมีผลกับการอยู่รอดของพวกเราอย่างสำคัญ—จากการชอบป้อนข้าวป้อนน้ำให้หลานนี่แหละ
Kristen Hawkes นักมานุษยวิทยาจาก University of Utah เป็นคนที่เสนอแนวคิดชื่อ grandmother hypothesis (สมมติฐานคุณยาย) ไว้ตั้งแต่ปี 1997 แนวคิดสำคัญคือบอกว่าบทบาทของคนรุ่นยายส่งผลกับอายุที่ยืนยาวขึ้นของเรา เป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการและทำให้อัตราการรอดชีวิตของมนุษย์สูงขึ้น แต่ก็เป็นธรรมดาของทฤษฎีที่จะมีคนตั้งคำถามว่าคุณยายอาจจะสำคัญ แต่ไม่ได้เกี่ยวกับอายุที่ยืนยาวขึ้นของเรารึเปล่า เช่นงานศึกษาโต้แย้งในปี 2010 ตีพิมพ์ใน Proceedings of the Royal Society B
ในปี 2012 สองปีต่อมา ทาง Kristen Hawkes เลยทำการศึกษาร่วมกับนักวิชาการทางชีววิทยาโดยใช้แบบจำลองทางวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ความสำคัญของคุณยายในโครงสร้างสังคมของเรานี้ จากการสร้างแบบจำลองและการคำนวนทางคณิตศาสตร์ ด้วยการใส่ตัวแปรแบบคุณยายเข้าไปในแบบจำลองวิวัฒนาการ คือให้มีลิงชิมแปนซี 1% ที่มีอายุขัยเท่ามนุษย์ และมีภาวะหมดวัยเจริญพันธุ์—หมดประจำเดือนแบบมนุษย์
ผลคือจากการใส่ประชากรคุณยายลงในแบบจำลองของชิมแปนซีในโลกเสมือนจริง จากที่ชิมแปนซีในโลกแห่งความจริงมีอายุขัยราวๆ 35-45 ปี และมักจะตายหลังจากที่มีลูกตัวแรกได้ไม่นาน สายพันธุ์ชิมแปนซีจำลองที่มีคุณยายกลับมีอายุขัยยืนยาวขึ้นไปอยู่ที่ 60-70 ปี โดยในบรรดาประชากรเพศเมียวัยผู้ใหญ่ทั้งหมดมีสัดส่วนคุณยายชิมแปนซีถึง 43%—ตามเทรนสังคมสูงวัยในสังคมเรา
สมมติฐานนี้บอกว่า เหตุผลที่คุณยายเป็นตัวแปรของสังคมและสายพันธุ์คือ ตัวคุณยายเองมีบทบาทอยู่ที่การช่วยหาอาหารและเลี้ยงดูเด็กๆ ที่ยังไม่สามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้คนรุ่นแม่สามารถมีลูกต่อไปได้ เรียกได้ว่า พอแม่มีลูกหนึ่งคนและผละออกจากอก คนรุ่นยายนี่แหละที่เป็นคนเลี้ยงต่อ ตัวเลขจากแบบจำลองบอกว่า ครอบครัวลิงที่มีคุณยายอยู่มีอัตราการรอดของสมาชิกรุ่นหลานอย่างมีนัยสำคัญ
ประเด็นของวิวัฒนาการมนุษย์ ที่สมาชิกเพศหญิงของเรามีการหมดวัยเจริญพันธุ์และยังมีชีวิตต่อจึงดูจะเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ แทนที่จะหมดวัยเจริญพันธุ์แล้วก็หมดอายุขัยเช่นสิ่งมีชีวิตตระกูลลิงอื่นๆ บทบาทของคุณยายในฐานะผู้ช่วยดูแลสมาชิกรุ่นหลานจึงมีนัยสำคัญกับวิวัฒนาการและวัฒนธรรมมนุษย์ ทำให้ผู้เป็นแม่สามารถมีลูกคนที่สองและสามต่อไปได้ โดยมีคุณยายเป็นผู้ช่วยเหลือเลี้ยงดู นอกจากการเลี้ยงดูด้วยอาหารแล้ว การเลี้ยงดูโดยคุณยายยังส่งผลกับการรู้สึกถ่ายโอนการพึ่งพาไปสู่คนอื่นๆ อันเป็นอีกหนึ่งพื้นฐานสังคมและการตัวรอดของมนุษย์
งานศึกษาดังกล่าวดูเหมือนว่าจะเป็นคำตอบว่าทำไมคุณยายของเราถึงได้ชอบหาอะไรให้เรากินจนอ้วน อาจเป็นร่องรอยหนึ่งจากการวิวัฒนาการของมนุษย์เราก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูล
rspb.royalsocietypublishing.org
rspb.royalsocietypublishing.org