สัตว์ทุกชนิดมีสีของเลือดเหมือนกันไหม กวางเรนเดียร์ของซานตาครอสเป็นตัวผู้หรือตัวเมียกันแน่ แล้วรู้หรือเปล่าว่าจมูกของน้องหมาตรวจจับความร้อนได้ด้วยนะ?
เมื่อโลกกว้างคือพื้นที่เติบโตของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ ความแตกต่างทางชีวภาพภายใต้เวลานับหลายล้านปีที่สิ่งมีชีวิตทั้งหลายวิวัฒนาการตัวเองกันมา ก็กลายเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์พยายามศึกษาทำความเข้าใจมาตลอด แต่ละชนิดมีลักษณะร่างกายและพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป ชีววิทยาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราค้นพบและเข้าใจความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเล่าถึงชีวิตของพืชและสัตว์ที่ห่างไกลจากชีวิตประจำวันของเรา ให้กลายเป็นเรื่องสนุกได้ เราจึงขอพาทุกคนมาอ่านเรื่องราวแสนพิศวงของชีววิทยาไปกับ ณภัทร เอมดี นักศึกษาปริญญาโท แอดมินเพจ นี่แหละชีวะ เพจเฟซบุ๊กที่จะช่วยย่อยเรื่องราวทางชีววิทยาตั้งแต่ระดับเซลล์ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ให้กลายเป็นเรื่องสนุกๆ สำหรับคุณ
อยากให้เริ่มจากคอนเซปต์ของเพจ นี่แหละชีวะ ก่อนว่า เป็นเพจเกี่ยวกับอะไร
เพจของเราก็ตามชื่อคือเพจที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับชีววิทยา โดยคอนเซปต์ก็คือ เราอยากให้ทุกคนเห็นความเท่ห์ ความเจ๋ง ความคูลของวิชาชีวิวิทยา ให้เข้าใจว่ามีสิ่งแปลกๆ มีสิ่งมหัศจรรย์ในโลกของชีววิทยาเต็มไปหมดเลย แล้วเราก็ชีววิทยาอยู่แล้ว ชอบมากถึงขนาดที่อยากให้คนอื่นชอบตามเราไปด้วย อยากเอาเรื่องนี้มาอวดมาโม้ให้คนอื่นฟัง
ความชอบนี้ กลายมาเป็นเพจนี่แหละชีวะได้อย่างไร
ถ้าให้พูดจริงๆ คือยาวมาก ตั้งแต่เรียนชั้น ม.ต้นมา ผมก็เป็นคนที่สนใจเรื่องชีววิทยามาตลอด แล้วก็มีความคิดว่า อยากเขียนหนังสือเกี่ยวกับชีววิทยาขึ้นมา พยายามเขียนอยู่สักพักหนึ่งเลยในช่วง ม.ปลาย แต่ ก็รู้สึกว่า การเขียนหนังสืออาจจะยังไม่เหมาะกับเรามาก เพราะตอนนั้นผมอาจจะเขียนออกมาในเชิงวิชาการไป
หลังจากนั้นเลยก็เริ่มเปลี่ยนความคิดตอนเข้ามหาวิทยาลัย เพราะตอนนั้นผมได้เรียนหลายวิชา แล้วบางวิชาเราจะต้องอ่านงานวิจัยแล้วเอามาเล่าให้เพื่อนๆ ในคลาสฟัง ผมชอบความรู้สึกตอนนั้นมาก ได้หยิบงานวิจัยใหม่ๆ หยิบเรื่องที่น่าสนใจมาเล่าให้คนอื่นฟัง ผมเลยได้ไอเดียว่า ไม่เขียนหนังสือเป็นวิชาการ เป็นตำรา แต่เราเอางานวิจัยมาเล่าเป็นเรื่องสั้นๆ กระชับ แบบสนุกๆ น่าจะดีกว่า เลยคิดอยากทำเพจตั้งแต่ตอนนั้น แล้วพอเรียนจบปีสี่ก็เริ่มทำเพจเลย
ตอนที่อยากเขียนหนังสือ มีหนังสือที่เป็นแรงบันดาลใจให้เราด้วยหรือเปล่า
จริงๆ ผมอยากทำเป็นพ็อกเก็ตบุ๊ก อยากที่ชอบเลยก็ของแทนไท ประเสริฐกุล เล่มที่ชอบที่สุดคือ ‘Mimic เลียนแบบทำไม’ เป็นหนังสือเกี่ยวกับสัตว์หลายๆ ชนิดที่พยายามเลียนแบบสิ่งต่างๆ ทั้งเลียนแบบสิ่งมีชีวิตด้วยกันเอง และสิ่งไม่มีชีวิต
อีกเล่มที่ชอบคือของ นพ.ชัชพล เกียรติขจรธาดา ชื่อเรื่อง ‘เรื่องเล่าจากร่างกาย’ หน้าปกสีครีมๆ พิมพ์ออกมาครั้งแรกช่วงที่ผมเรียนอยู่ประมาณมัธยม ผมอ่านแล้วชอบมากๆ เลยครับ เป็นหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊กแรกๆ ที่ผ่านแล้วรู้สึกว่า เราต้องเรียนด้านนี้
จากที่บอกว่า คอนเซปต์ของเพจคือความเท่ ความคูล อยากรู้ว่าในมุมมองของคุณ ชีววิทยามันเท่อย่างไร?
อธิบายยากมาก แต่ผมมองว่า มันคือสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากขอบเขตที่เรารู้จักในชีวิตประจำวันทั่วไป เป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดเลยว่าจะมีอยู่บนโลกนี้ เราเคยรู้จักกฎเกณฑ์บางกฎเกณฑ์ในสังคมมนุษย์ หรือตามตำราชีววิทยา แต่เรื่องที่ผมมองว่ามันเท่ คูล ฉีกออกไปจากตำรา เป็นเรื่องที่แบบเราไม่เคยรู้มาก่อนเลย ทั้งๆ ที่แบบเราก็เรียนกันมาหลายเรื่อง แต่ยังมีอีกมากมายในโลกนี้ที่หลายคนจินตนาการไม่ออกว่ามีด้วย
ในเพจเองก็เอาความเป็นชีววิทยามาทำให้ดูเข้าถึงง่าย เข้าใจง่ายขึ้นด้วย อย่างนี้มองว่า ศาสตร์ของชีววิทยาเกี่ยวข้องกับตัวเรายังไงบ้าง?
จริงๆ มันก็ตรงไปตรงมามากๆ เนอะ เพราะว่าชีววิทยาก็เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของเรา ก็ตามชื่อเลย คือเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิต และมนุษย์เราก็เป็นสิ่งมีชีวิต ดังนั้นเราจึงขาดความรู้ด้านนี้ไม่ได้เลย ที่สำคัญมากๆ ในมนุษย์ที่เราพอจะนึกถึงได้ง่ายๆ ก็คือเรื่องของสุขภาพและโภชนาการ หรือการแพทย์ มันจำเป็นมากๆ ที่เราจะต้องมีความรู้เพื่อเข้าใจว่าเราจะผ่านวิกฤตการณ์โรคต่างๆ ไปได้อย่างไร เราจะเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพยังไง เราจะดูแลตัวเองอย่างไร ผมว่านี้คือสิ่งที่ค่อนข้างสำคัญและเกี่ยวข้องกับตัวเรามากๆ
แต่ยอมรับว่าเพจของผมไม่ค่อยได้พูดเกี่ยวกับการโยงกับตัวเราเท่าไหร่ เราพูดถึงสิ่งที่ค่อนข้างไกลตัวจากมนุษย์ไปเลย ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มองว่า อ่านแล้วสนุกจังเลย เช่น เรื่องของสิ่งมีชีวิตที่น่าสนใจที่เราไม่เคยรู้มาก่อน
ถ้าอย่างนั้น จะเลือกเรื่องมาเล่าให้คนอื่นฟังต่อจากปัจจัยอะไร
ที่มาที่ไปของเรื่องที่เล่าในเพจ มีสามแหล่ง ที่มาแรกก็คือมาจากพวกจากฝั่งนักข่าววิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ก็มาจากต่างประเทศที่เขาจะเอางานวิจัยใหม่ๆ มาแชร์กัน ซึ่งเขาก็จะคัดกรองมาแล้วงานวิจัยไหนที่น่าสนใจและน่าดึงดู อันนี้เป็นงานอดิเรกผมเลยที่จะเข้าไปเช็คข่าวพวกนี้อยู่ตลอดเวลา
อีกทางก็คือคือสำนักพิมพ์งานวิจัยโดยตรงเลย บางครั้งผมก็จะเข้าไปในเว็บไซต์ของสำนักพิมพ์ แล้วดูว่าวันนี้มีงานวิจัยไหนอัพขึ้นมาแล้ว และผมก็จะไปลองอ่านดูว่าอันไหนน่าสนใจ แล้วหยิบมาเล่าให้คนอ่านต่อ
และที่มาสุดท้าย ก็มาจากความรู้ที่ผมเรียนมา แล้วคิดว่าอันนี้คนที่อยู่นอกแวดวงชีววิทยาน่าจะไม่เคยรู้กัน และถ้าเขารู้กันเขาน่าจะประหลาดใจใช้ได้เลย เลยเอามานำเสนอให้ได้อ่านกัน
แต่หลายคนก็จะมองว่า ชีววิทยาเป็นเรื่องที่น่าเบื่อ ไม่เกี่ยวกับเขาเลย คิดเห็นอย่างไรบ้าง
ผมว่าไม่แปลกนะที่เขาจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ใครจะไปอยากรู้เรื่องแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในปล่องภูเขาไฟ ใครจะไปอยากรู้ปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลลึก ฟังแล้วก็ไกลตัวจริงๆ แหละ ผมเข้าใจ เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นไม่ได้มีผลต่อชีวิตของเรา
แต่จริงๆ สิ่งมีชีวิตมันเชื่อมโยงกันหมดนะ ทั้งในเชิงความสัมพันธ์ ณ ปัจจุบัน ที่สิ่งมีชีวิตแต่ละชีวิตก็ต่างส่งผลต่อกันและกัน มีการใช้ชีวิตพึ่งพาอาศัยกัน บางพวกแข่งขันกัน มีเป็นปรสิต มีหลายความสัมพันธ์มากบนโลกใบนี้ รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่มีมาตั้งแต่อดีตด้วย ซึ่งก็คือวิวัฒนาการที่หล่อหลอมพวกเรากลายมาเป็นญาติพี่น้องห่างๆ กัน ที่ต่างกันอย่างสุดขั้วอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้
เห็นในเพจมีเล่าเรื่องโปเกม่อนกับชีววิทยาด้วย เล่าให้ฟังหน่อยได้ไหมว่าคอนเทนต์นี้มีที่มายังไง ทำไมโปเกม่อนถึงมาเกี่ยวข้องกับชีววิทยาได้
โดยส่วนตัวผมเป็นคนชอบดูโปเกม่อน แล้วก็เคยเล่นเกมโปเกม่อนมาก่อน ผมมองว่าคอนเซปต์มันคือมอนสเตอร์สุดแสนมหัศจรรย์ แล้วหลายๆ ตัวก็ได้ต้นแบบมาจากสิ่งมีชีวิตในชีวิตจริงนี่แหละ ผมก็เลยรู้สึกว่ามันเกี่ยวข้องกับชีววิทยาจริงๆ นะ แล้วมันสามารถเอามาแสดงให้เห็นถึงความพิเศษของสิ่งมีชีวิตหรือสัตว์แต่ละตัวได้ ก็เลยเกิดเป็นคอนเทนต์นี้ขึ้น
คอนเทนต์นี้เป็นการเอาความชอบของผมมาผสมกัน แล้วโปเกม่อนก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจากชีววิทยาจริงๆ หลายตัวด้วยนะ กลับกันชีววิทยาเองสุดท้ายแล้วก็ได้รับแรงบันดาลใจจากโปเกม่อนเหมือนกัน ผมเลยรู้สึกว่ามันสุดยอดมากเลยที่สองส่วนนี้เชื่อมโยงกัน
เช่น สิ่งมีชีวิตบางตัวที่มนุษย์ค้นพบ ในทางชีววิทยาก็นำชื่อโปเกม่อนมาตั้งเป็นชื่อวิทยาศาสตร์ด้วย มีตัวหนึ่งที่เท่มากครับ คือมีโปเกม่อนตัวหนึ่งชื่อว่า พเทอรา หรือชื่อภาษาอังกฤษคือ Aerodactyl โปเกม่อนตัวนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์จริงๆ เป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์พวกเทอร์โรซอร์ (Pterosaur) อันนี้คือตัวอย่างของโปเกม่อนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากชีววิทยา แล้วหลังจากนั้น เขาก็เอาชื่อ Aerodactyl มาตั้งให้กับสัตว์ดึกดำบรรพ์อีกทีนึง ผมเลยมองว่ามันมีอิทธิพลกันในสองทาง แล้วก็เท่มากๆ
ในเพจก็พูดถึงชื่อวิทยาศาตร์อยู่บ่อยๆ อยากรู้ว่าชื่อวิทยาศาสตร์สำคัญยังไง เราควรรู้ไหมนะ และรู้แล้วจะได้อะไร
ชื่อวิทยาศาสตร์เป็นชื่อที่นักอนุกรมวิธานทั่วโลกใช้ร่วมกันในการเรียกสิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดอย่างเฉพาะเจาะจง เป็นการตกลงร่วมกันว่าทั่วโลกจะใช้ชื่อนี้ ความสำคัญของชื่อวิทยาศาสตร์คือทำให้นักวิจัยรู้ว่าจะพูดถึงสิ่งมีชีวิตตัวไหน มันมีความเฉพาะเจาะจงและสื่อสารได้เข้าใจทั่วถึง
ชื่อวิทยาศาสตร์นั้นสำคัญมาก เพราะจะทำให้เรารู้ว่าเรากำลังพูดถึงตัวอะไรอยู่ ไม่ใช่ว่าเราบอกว่าเราไปเจอนกชนิดหนึ่งไม่มีปีกเลยนะ ซึ่งถ้าเราบอกว่า เจอนกไม่มีปีก แต่มันคือนกชนิดไหนล่ะ มันก็ควรจะมีชื่อเฉพาะเจาะจงหน่อย
นอกจากนี้ ชื่อวิทยาศาสตร์ยังมีความสำคัญในการจัดจำแนกสิ่งมีชีวิตระดับสปีชีส์ด้วย เพราะสิ่งมีชีวิตมีการจัดลำดับหลายหมวดหมู่มาก ตั้งแต่หมวดหมู่ใหญ่ๆ ไปจนถึงหมวดหมู่ย่อยๆ เช่น สัตว์มีกระดูกสันหลังถือว่าเป็นหมวดหมู่ที่ใหญ่มาก หรือถ้าเกิดย่อยลงมาก็ยังมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม แล้วก็ไล่ระดับลงไปถึงระดับสปีชีส์ ซึ่งการระบุสปีชีส์นี่แหละที่เราจะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์อ้างถึง
มันช่วยทำให้เราเข้าใจสิ่งมีชีวิตนั้นๆ มากขึ้นด้วยใช่ไหม
ใช่ เราต้องมีชื่อเรียกเพื่อที่เราจะได้อธิบายได้อย่างถูกต้องแต่ที่เพจพูดถึงชื่อบ่อยไม่ใช่อะไรเลย คือผมเห็นว่าบางครั้งชื่อวิทยาศาตร์สามารถตั้งให้สร้างสรรค์ได้ ไม่ใช่แค่ตั้งไปเฉยๆ เหมือนชื่อคนเราก็มีสร้างสรรค์กัน อย่างชื่อคนไทยก็มีความหมายใช่ไหม ชื่อวิทยาศาสตร์ก็ไม่ต่างกันเลย คือพยายามจะมีความหมายมากๆ คือหลายครั้งชื่อวิทยาศาสตร์แค่เราอ่านก็นึกภาพออกแล้วว่าสิ่งมีชีวิตตัวนั้นหน้าตาเป็นยังไง หรืออยู่ที่ไหน มันจะมีการระบุอยู่
นึกถึงก่อนหน้านี้ เคยมีข่าวว่า มีการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ให้งูสปีชีส์นึงตามชื่อของตัวละครใน Harry Potter ซึ่งดึงเอาลักษณะร่วมของตัวละครกับสัตว์มา ทำให้เห็นความพยายามของการเอาป๊อปคัลเจอร์มาตั้งชื่อวิทยาศาสตร์เหมือนกัน
ใช่เลย ที่เราพยายามนำเสนอคือชื่อวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับป็อปคัลเจอร์เหมือนกัน ในเพจจะมีเล่าถึงชื่อวิทยาศาสตร์ที่ตั้งตามการ์ตูนของ Ghibli เรื่อง My Neighbor Totoro หรือที่ตั้งตามหนังดังเรื่อง Godzilla กับ Finding Nemo ด้วย หลายเรื่องเลยที่เอาชื่อวิทยาศาสตร์มาตั้งได้ และทำให้สิ่งมีชีวิตตัวนั้นเป็นที่จดจำ
แล้วจริงๆ ก็มีชื่อวิทยาศาสตร์ที่มีความเฉพาะตัวสูงมากคือคนไทยอ่านแล้วจะเข้าใจ เพราะเขียนด้วยภาษาที่ถอดออกมาเป็นภาษาไทยเลย มีหลายตัวมาก ที่อยากเล่าคือ ชื่อวิทยาศาสตร์จะมีสองชื่อ ชื่อสกุล และชื่อระบุชนิด ก็เหมือนชื่อนามสกุลกับชื่อตัวเราแหละครับ ทีนี้ มีนกตัวนึงได้ชื่อว่านกหัวโล้น คือชื่อวิทยาศาสตร์ชื่อ ‘นกหัวโล้น (Nok Hualon)’ เลย การตั้งแบบนี้ทำให้คนไทยและคนลาวอ่านได้ ซึ่งจริงๆ เขาตั้งจากภาษาลาวนะ เพราะเป็นการค้นพบที่ประเทศลาว แต่คนไทยก็อ่านออกเหมือนกัน
แล้วมีคอนเทนต์ไหนในเพจที่ชอบมากที่สุดไหม และชอบเพราะอะไร
มีเรื่องหนึ่งที่ผมชอบมาก บอกก่อนว่ามันคือเรื่องเกี่ยวกับตัวไร มันคือไรที่อยู่บนผิวหนังของเราโดยเฉพาะคนใบหน้า มันชื่อว่า face Mite คือหัวข้อของบทความคือหัวข้อของผมคือไม่มีใครอยู่คนเดียว เพราะทุกคนมีไรอยู่บนใบหน้า
ที่ผมชอบบทความนี้ของตัวเองก็เพราะว่า วิธีการเขียนบทความมันต่างไปจากบทความอื่นเลย เพราะมันจะมีการเล่นคำของคำว่าไร บทความจะเริ่มด้วยประโยคถามตอบระหว่างคนสองคน เริ่มต้นด้วยคำถามว่า “เธอมองหน้าเรา หน้าเรามีไรอยู่เหรอ” คนตอบก็จะบอกว่า “ใช่ หน้าเธอมีไรอยู่นะ” แล้วระหว่างการถามตอบกันก็จะมีการเล่นคำว่าไรบ่อยมาก เช่น ไรคืออะไร ไรมีประโยชน์อย่างไร
เป็นการเอาคอนเซปต์ของเนื้อหามาผสมวิธีการเล่าอีกทีนึง?
ใช่ ไม่ใช่แค่เนื้อหามันน่าสนใจ แต่ว่าชอบวิธีการเล่าเรื่องในบทความนั้นด้วย ประทับใจในตัวเองมากตอนทำเรื่องนี้
มีเรื่องของสัตว์อันไหนอีกไหม ที่แปลกๆ ไปจากความเข้าใจของมนุษย์เราและอยากจะแชร์ให้คนอ่านได้ฟัง
มีอันนึงที่ผมพอจะนึกออกอยู่ เรื่องตะขาบ อันนี้เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ที่ผมชอบ เวลาที่เรานึกถึงรูปร่างตะขาบ ทุกคนก็จะคิดว่ามันเป็นสัตว์ที่ลำตัวเป็นปล้อง ตัวยาวหน่อยๆ และก็มีขายั้วเยี้ยเลย และก็สิ่งที่ทุกคนมักจะกลัว คือกลัวตะขาบกัด เพราะว่าทุกคนจะเห็นว่ามันเหมือนมีเขี้ยวแหลมๆ สองอันละก็จึ้กเข้าไปที่ขาเรา
ซึ่งจริงๆ คำว่ากัดอาจจะเป็นคำที่ไม่ถูกต้องตามหลักกายภาพศาสตร์ของตะขาบเท่าไหร่ เพราะว่าจริงๆ โครงสร้างที่เหมือนเป็นเขี้ยว จริงๆ ไม่ใช่เขี้ยว แต่มันคือรยางค์ขาที่งอกออกมาทำหน้าที่คล้ายกับเขี้ยว แต่ไม่ใช่เขี้ยว
ดังนั้น การใช้คำว่าตะขาบกัดอาจจะไม่ถูกต้องมากนัก ถ้าใช้คำว่าตะขาบหนีบ ตะขาบตอด อาจจะพอได้ ถ้านึกภาพก็เหมือนว่าเรายื่นมือออกมาแล้วเอาปลายเล็บของเรามาหนีบคนข้างหน้า นี้คือวิธีการของตะขาบใช่ล่าเหยื่อ แต่มันก็มีพิษอยู่ดีนะ อันตรายอยู่ดี
จากที่ทำเพจมา มองเห็นผู้อ่านของตัวเองเป็นกลุ่มไหน?
ผมทำเพจมาตั้งแต่ปี 2019 ก็รู้สึกว่า คนอ่านคนเทนต์ผมมีความหลากหลายมากเลย มีตั้งแต่เด็กมัธยม นักศึกษามหาวิทยาลัย คนที่ศึกษาสายวิทยาศาสตร์ คนที่เรียนครู แม้กระทั่งผู้ใหญ่ อาจารย์ นักวิจัยรุ่นใหม่ก็มาอ่านเหมือนกัน ซึ่งผมดีใจมากที่คนเหล่านี้ติดตามเพจผม
หลายครั้งผมก็เห็นการถกเถียงกันในคอมเมนท์ มีคนคุยเรื่องวิทยาศาสตร์ใต้คอมเมนท์กัน ทำให้ผมรู้สึกว่าบรรยากาศดีมากเลยที่ได้เห็นคนมาถกเถียงกัน เป็นเหมือนพื้นที่สำหรับคนที่ชอบในเรื่องนี้ด้วย
คอนเทนต์ส่วนใหญ่มักเปิดด้วยประโยคคำถาม เช่น ปลาอะไรเลือดไม่ใช่สีแดง กวางเรนเดียร์ของซานตาครอสเป็นเพศอะไร ทำไมถึงต้องเปิดคำถาม แล้วคำถามมันสำคัญอย่างไร?
ผมมองว่าการตั้งคำถามคือสิ่งสำคัญ เทียบได้กับประตูที่เปิดให้เราไปสู่ความรู้ใหม่ เหมือนว่าเมื่อใดก็ตามที่มีคำถาม เมื่อนั้นเราก็จะมีความสนใจในสิ่งนั้นๆ ผมรู้สึกว่าการจั่วหัวด้วยคำถามทำให้คนอยากเข้ามาหาคำตอบมากขึ้น
ถ้าไม่มีการตั้งคำถามก็คงจะไม่มีการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างที่เราทำ งานวิจัยต่างๆ เราขับเคลื่อนด้วยคำถาม เราตั้งคำถามแล้วได้คำตอบ แล้วคำตอบก็นำมาซึ่งคำถามต่อไปเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่าถ้าหากมนุษย์ปราศจากการตั้งคำถามแล้ว เราก็คงไม่ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมายขนาดนี้
ที่บอกว่า คนอ่านบางส่วนเป็นครูด้วย อยากรู้ว่า มองเรื่องของการเรียนวิชาชีววิทยาในห้องเรียนว่ายังไง
หลายคนบอกว่า เรียนวิชาชีววิทยาต้องท่องจำ ซึ่งผมมองว่า นี่คือสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เพราะว่าถ้าเราอยากจะเห็นภาพรวมเพื่อทำความเข้าใจทั้งหมด เราต้องรู้จักแต่ละจุดให้ได้ก่อน เพื่อนำมาประกอบกันเป็นภาพใหญ่ หรือแม้แต่คำศัพท์บางอย่างที่เหมือนภาษาต่างดาวเลย คนอาจจะคิดว่า จำไปแล้วไม่ได้อะไร แต่สุดท้าย เราจะสามารถเอาไปอธิบายสิ่งต่างๆ ได้
แต่แน่นอนว่า ผมไม่ได้บอกว่าให้ท่องจำอย่างเดียว คือท่องจำอย่างเดียวก็คงจะเป็นภาระให้กับผู้เรียนมากเกินไป ผมอยากจะให้ท่องจำแล้วสามารถเอาไปใช้ประกอบคอนเซปต์ความรู้ได้จริงๆ มากกว่า
ทำนองว่า ท่องจำให้รู้พื้นฐาน เพื่อที่จะให้เราต่อยอดไปทำความเข้าใจเนื้อหาความรู้ในองค์รวม
ใช่ หลายคนจะพูดประมาณว่า ในห้องเรียน สอนแต่ท่องจำ ไม่เน้นให้ทำความเข้าใจเลย คือผมเข้าใจนะว่าทำไมต้องท่องจำ แต่ที่เราต้องเพิ่มในห้องเรียนคือการให้นักเรียนสามารถเอาความจำเหล่านี้ไปเชื่อมโยงและเข้าใจภาพรวมที่ใหญ่กว่าเดิมได้ นี่คือสิ่งสำคัญเลย
ถ้าอย่างนั้น ห้องเรียนชีววิทยาควรสอนหรือปรับอะไรเพิ่มเติมตรงไหนไหม
ถ้าเกิดตอบในมุมมองผมเองก็จะบอกว่า สอนให้เด็กเห็นว่าสิ่งเหล่านี้มันเท่ มันเจ๋ง อาจจะเป็นการยกตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์มาประกอบเข้ากับบทเรียน และทำให้นักเรียนรู้ที่มาที่ไปของสิ่งมหัศจรรย์เหล่านั้นโดยอิงจากเนื้อหาบทเรียนของเรา ผมคิดว่ามันทำได้นะ
หรือถ้าเกิดว่าเราไม่สามารถทำให้เด็กๆ รับรู้ถึงความเท่ ความสนุกของมันได้จริงๆ เพราะเรื่องพวกนี้เป็นรสนิยมเนอะ อย่างน้อยสุดเราก็ควรทำให้เด็กรู้ว่าสิ่งที่เรียนมา เอาไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง
มันคือวิธีการสื่อสารให้สนุก ให้น่าสนใจด้วย ตัวอย่างเช่น ที่ถามเรื่อง ปลาอะไร เลือดไม่มีสีแดง? ในบทเรียนเราพูดแค่ว่า เลือดคนมีสีแดง เพราะมีเม็ดเลือดแดง แล้วในเม็ดเลือดแดงก็มีสารผลิตโปรตีนสีแดงที่ชื่อว่าฮีโมโกลบิน ก็ดูไม่ค่อยมหัศจรรย์เท่าไหร่เลยเนอะ เป็นความรู้ที่รู้แล้วยังไงต่อ แต่ถ้าเราแนะนำเด็กๆ ว่า สัตว์มีกระดูกสันหลังส่วนใหญ่มีเลือดสีแดงนะ แต่มันมีตัวหนึ่งนะที่เลือดไม่มีสีเลย เราก็จะสามารถนำเสนอเรื่องน่าสนุกให้เด็กฟังได้ และเด็กก็น่าจะรับความรู้ได้ง่ายขึ้นด้วย
ยังมีอีกประเด็นคือเรื่องที่สังคมไทยยกย่องสายวิทย์มากกว่าสายการเรียนอื่นๆ อันนี้มาถามความเห็นคนที่เรียนสายวิทย์เลยว่า มีความคิดเห็นยังไงบ้าง
ผมรู้สึกเหมือนกันนะว่าสังคมเรายกย่องเด็กสายวิทย์มากกว่าสายอื่น ไม่รู้ว่าจริงไหม แต่เรารู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน ซึ่งการยกย่องวิทยาศาสตร์ ผมมองว่าดีนะ เพราะผมชอบ (หัวเราะ) อยากให้คนอื่นมาชอบเหมือนกัน แต่ว่าถ้าการชอบสิ่งหนึ่งมาทำให้สิ่งอื่นโดนบดบังไปผมว่าคงไม่ดีหรอก ผมอยากให้ทุกศาสตร์ได้รับการเชิดชู ได้รับการยกย่องเหมือนๆ กัน ผมเป็นคนชอบสิ่งที่มันหลากหลาย ผมไม่อยากให้อะไรๆ ดูเป็นไปทางเดียวกันหมด ถ้าทุกอย่างเหมือนกันหมด ก็คงไม่สนุก
แล้วในแวดวงอาชีพวิทยาศาสตร์ของประเทศเรา เทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว เป็นอย่างไรบ้าง ต้องการการสนับสนุนอะไรเพิ่มไหม
ผมอาจจะยังเรียกว่าตัวเองเป็นนักวิทยาศาสตร์ได้ไม่เต็มตัวนัก เพราะยังเรียน ป.โท อยู่ที่เดนมาร์ก แต่ในมุมมองของผมก็คือว่า ขนาดที่ว่าประเทศไทยจะยกย่องสายวิทยาศาสตร์มากกว่าสายอื่นแล้ว แต่ทำไมทุนวิจัยถึงน้อยจังเลย มันยากมากเลยนะที่เราจะขอทุนวิจัยเพื่อตอบข้อสงสัยบางอย่างได้ บางครั้งเราต้องการทั้งทุนทั้งอุปกรณ์ทั้งเทคโนโลยี แต่ในไทยมันทำไม่ได้ง่ายๆ บางครั้งบางวิธีเราอาจจะต้องส่งไปทำต่างประเทศด้วยซ้ำ เรายังขาดแคลนเครื่องมือในการหาคำตอบวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเยอะ
อีกอย่าง บ้านเราจะมีคำว่า ‘งานวิจัยขึ้นหิ้ง’ หมายถึง งานวิจัยที่เน้นหาคำตอบที่เป็นเชิงความรู้มากกว่านำมาประยุกต์ใช้ งานแบบนี้วงการวิทยาศาตร์เรียกว่า สายเพียว สายบริสุทธิ์ มีเยอะมากครับ แล้วส่วนใหญ่คนไทยเองยังรู้สึกว่ามันไม่มีประโยชน์จะทำไปทำไม นี้คืออีกที่มาว่าทำไมทุนน้อย ผมก็เข้าใจครับ บางคนสงสัยว่า ศึกษาแล้วเอาไปทำประโยชน์อะไรได้ แต่มันคือธรรมชาติของวงการนี้ที่เราจำเป็นจะต้องสะสมความรู้พื้นฐานให้แน่นพอเพื่อนำไปต่อยอดได้ ซึ่งผมคิดว่าผู้ใหญ่ และคนให้ทุนควรจะเข้าใจสิ่งนี้ไว้
การมีงานวิจัย มีประโยชน์กับผู้คนยังไงบ้าง
งานวิจัยจะช่วยทำให้เราเข้าใจธรรมชาติแปลกๆ มากขึ้น อย่างที่ผมจะเอามาลงในเพจบ่อยๆ ผมรู้สึกว่าส่วนใหญ่ผมก็เอางานวิจัยมาจากต่างประเทศ แต่ถามว่ามีงานวิจัยไทยเอามาลงบ้างไหม ก็มีนะงานสองงาน แต่ผมรู้สึกว่าเรายังทำได้ดีกว่านี้ ความฝันผมเลยนะอยากเอางานวิจัยของคนไทยมาลงเยอะๆ แต่ก็ยังไม่ค่อยเห็นเรื่องสนุกๆ เท่าไหร่ ด้วยสาเหตุอย่างที่พูดไป
ตอนนี้ พอได้ไปเรียน ป.โท อยู่ที่ประเทศเดนมาร์ก มองเห็นจุดแตกต่างในการเรียนวิทยาศาสตร์ของเดนมาร์กกับไทยอย่างไรไหม
มาเรียนที่นี่แล้วสนุกดีนะ ในวิชาเรียนอาจารย์ไม่ใช่แค่พูดให้ความรู้อย่างเดียว แต่ว่าหลายครั้งเขาจะหยิบยกงานวิจัยให้เรามาถกเถียงกันด้วยครับ มันจะมีคลาสพิเศษว่าสัปดาห์นี้เรามาคุยเรื่องงานวิจัยกัน อย่างข้อสอบที่นี้แทบจะเอางานวิจัยมาเป็นคำถามเลย แล้วก็ตรงนี้สำคัญเลยว่าก็ไม่เน้นท่องจำจริงๆ นะ คือก็มีท่องระดับหนึ่งแหละ บางจุดก็ต้องท่อง แต่แค่ท่องเพื่อนำมาคิดต่อได้ ผมชอบมากเลย
แล้วเขาก็เชิญนักวิจัยมาเล่าในคลาสบ่อยมาก ผมชอบมาก รู้สึกประทับใจ มีวิชานึงชื่อว่าวิชาสันทนา เป็นวิชาที่ให้นักเรียนออกมาเล่างานวิจัย ซึ่งสันทนาที่นี่เท่มาก เราจะได้ออกไปเล่างานวิจัย เสร็จแล้วนักวิจัยที่ทำงานนั้นก็จะเข้ามาในคลาสมาเล่าต่อจากเรา จนผมอดคิดไม่ได้ว่า ทำไมมันเท่อย่างนี้นะ
อยากรู้ว่า ถ้าเทียบเพจนี่แหละชีวะ เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่ง จะเทียบกับอะไร?
นึกถึงตัวเท่ๆ ตัวนึง แต่อาจจะไม่ได้เหมือนกับเพจเราเป๊ะขนาดนั้นนะ คือทากทะเลชนิดนึง ชื่อกลุ่มใหญ่คือ Sacoglossan Sea Slug เป็นทากทะเลที่ขโมยคลอโรพลาสต์ (ออร์แกแนลที่พบในพืช ทำหน้าที่สังเคราะห์ด้วยแสง) จากสัตว์ที่มันกินเข้ามาไว้ในเนื้อเยื่อของตัวเองได้ และทำให้มันเป็นสัตว์ที่สามารถสังเคราะห์ด้วยแสงได้
ทากทะเลชนิดนี้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ฉีกกฎเกณฑ์ของความเข้าใจของเรากับสัตว์มากเลย เราจะเข้าใจว่า สัตว์ทำไม่ได้หรอก แต่เจ้าตัวนี้ทำได้ เลยคิดว่า อาจจะเป็นตัวแทนของเพจได้ เพราะเป็นตัวแทนของสิ่งที่ไม่คาดคิด ฉีกจากกฎเกณฑ์ในตำรา แล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นความหลากหลายในธรรมชาติของเราด้วย
หลายคนจะบอกว่าชีววิทยาคือศาสตร์ของข้อยกเว้น เพราะมีเรื่องที่ฉีกจากตำราไปเยอะอยู่ และผมชอบเรื่องพวกนี้มาก แต่ว่าถามว่าเป็นข้อยกเว้นได้ไหม ผมคิดว่าอาจจะไม่เชิงนะ เพราะว่าจริงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นความจริงที่ปรากฏอยู่ตรงหน้านานแล้ว เพียงแค่ว่าเราเพิ่งมาค้นพบ เรามีหลักการของเราอยู่จากในอดีต แล้วเราเพิ่งมาเห็นว่าสิ่งนี้มันฉีกออกไปจากกฎที่เรารู้มา แค่นั้นเอง
เหมือนที่คนชอบพูดกันว่า เรายังสำรวจโลกได้ไม่ทั่ว ยังสำรวจท้องทะเลได้ไม่มากเท่าอวกาศ มีอีกหลายอย่างที่เราต้องศึกษา
ใช่ๆ อย่างใต้ทะเลมีสิ่งมีชีวิตที่มหัศจรรย์เต็มไปหมดเลยครับ อย่างเช่น เคยได้ยินปลิงทะเลที่ว่ายน้ำได้ไหม มันจะเหมือนบินเลย แบบกระพือฟึบๆ เหมือนมีครีบออกมา คนจะมองว่า นี่ปลิงเหรอ ดูไม่น่าจะเรียกว่าปลิงได้ หรืออย่างฟองน้ำทะเลลึก ซึ่งพอพูดถึงฟองน้ำหลายคนจะคิดภาพแล้วว่าต้องเป็นสัตว์ที่ร่างกายเป็นรูตามชื่อของมันเนอะ เป็นฟองน้ำ ขนาดชื่อภาษาวิทยาศาสตร์ของเราเรียกกลุ่มนี้ว่าเป็น Phylum Porifera แปลจากภาษาละตินว่า สัตว์มีรู แต่ก็มีฟองน้ำที่ไม่มีรูและมันอยู่ในทะเลลึกด้วย
เห็นมั้ย โลกเรายังมีตัวประหลาดๆ เท่ๆ แบบนี้อีกเยอะแยะเลยนะ