‘Power tends to corrupt, and absolute power corrupts absolutely’
อำนาจเป็นสิ่งหอมหวาน แต่ในขณะเดียวกันหนทางแห่งอำนาจก็เป็นหนทางอันตราย ในเกมของอำนาจ ตัวมันเองไม่ได้น่ากลัวเพียงเพราะสามารถใช้ทำลายผู้อื่นได้ แต่เพราะสุดท้ายอำนาจอาจจะทำร้ายคนที่แสวงหาและครอบครองอำนาจนั้นเองเช่นกัน
ดินแดนของอำนาจเป็นดินแดนลึกลับ เป็นดินแดนที่ทำให้คนที่เราเคยรู้จักกลายเป็นคนแปลกหน้า คนที่เราเคยคาดหวัง เคยเชื่อถือ เมื่ออยู่ในอำนาจแล้วอาจจะถูกพลังของอำนาจกลืนกินจนกลายเป็นอื่น
ในการเดินทางอันยาวนานของมนุษย์ เกมของอำนาจดูจะเป็นเกมสำคัญหนึ่งที่มนุษย์อย่างเราๆ เข้าไปพัวพัน นักปรัชญาและนักคิดจำนวนมากมักมีคำกล่าวเตือนใจเรื่องอันตรายของอำนาจอยู่เนืองๆ Lord Acton นักปกครองและประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษเป็นเจ้าของคำกล่าวว่า “อำนาจนั้นย่อมย่อยยับ และอำนาจที่สัมบูรณ์ย่อมพังผู้ครอบครองอำนาจอย่างแน่นอน คนที่ยอดเยี่ยมทั้งหลายกลับกลายเป็นเลวทรามได้เสมอ”
อำนาจกัดกินหัวใจได้แค่ไหน?
Henry Adams นักประวัติศาสตร์อุปมาถึงอันตรายของอำนาจว่าอำนาจเป็นเหมือนเนื้อร้ายที่กัดกินความเห็นอกเห็นใจเหยื่อ จากความเปรียบที่เราสังเกตผู้คนที่ถูกอำนาจทำลาย ในระดับที่เป็นรูปธรรม Dacher Keltner นักจิตวิทยาจาก UC Berkeley ทำการทดลองและศึกษาผู้คนที่อยู่ใต้อิทธิพลของอำนาจ Keltner พบว่าคนที่ได้รับผลกระทบจากการมีอำนาจมีสภาวะไม่ต่างอะไรกับคนที่สมองได้รับการกระทบกระเทือน คือคนที่ตกอยู่ในบ่วงอำนาจกลายเป็นคนที่หุนหันพลันแล่น มีความเลินเล่อและที่สำคัญที่สุดคือ สูญเสียความสามารถในการมองเห็นจากมุมมองของคนอื่น⏤สูญเสียความเห็นอกเห็นใจและเข้าอกเข้าใจไป
นอกจากการศึกษาเชิงจิตวิทยาและเชิงพฤติกรรม ในการศึกษาสมองและประสาทวิทยา Sukhvinder Obhi นักประสาทวิทยาศึกษาสมองจัดการสแกนสมองของคนที่ทรงอำนาจและคนทั่วๆ ไป เขาพบว่าคนที่มีอำนาจสูญเสียกระบวนการ ‘การลอกเลียน (Mirroring)’ พฤติกรรมที่ว่าคือการที่มนุษย์ทำท่าทางลอกเลียนคนอื่น ซึ่งการลอกเลียนนี้มันคือการที่มนุษย์สนอกสนใจและแสดงถึงการได้รับอิทธิพลจากคนอื่น นักวิจัยบอกว่าพฤติกรรมนี้คือใจความสำคัญของ ‘ความเห็นอกเห็นใจ’ ในมนุษย์ ตรงนี้เองนี่นักวิทยาศาสตร์บอกว่ามันเป็นความย้อนแย้งของอำนาจ
คือการที่เราจะได้อำนาจเราต้องสนใจและเข้าใจคนอื่น แต่เมื่อเราได้อำนาจแล้ว เรากลับมีแนวโน้มที่จะสูญเสียหนทางที่เราจะได้อำนาจนั้นมา
‘อหังการ (Hubris)’ ในแนวคิดแบบกรีกเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่อันตรายยิ่งที่มนุษย์ควรระวัง อหังการทำให้มนุษย์มัวเมาในความยิ่งใหญ่ของตัวเองจนหลงลืมความกระจ้อยร่อยของตัวเองไป Lord David Owen นักประสาทวิทยาที่เข้าเป็นสมาชิกรัฐสภาอังกฤษเป็นนักวิทยาศาสตร์อีกรายที่ประจักษ์ในพฤติกรรมมนุษย์และผลพวงของอำนาจต่อเหล่ามนุษย์ตัวน้อยๆ โรคอหังการ ‘Hubris syndrome’ เป็นหนึ่งในโรคที่ลอร์ดโอเว่นเห็นว่าเข้ากัดกินหัวใจของเหล่าผู้อำนาจ จากการศึกษาและสังเกตการณ์รวมไปถึงผลทางคลินิก เจ้าโรคอหังการนี้ไม่ใช่แค่ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม แต่ลอร์ดโอเวนเห็นว่าเป็น ‘อาการผิดปกติ (Disorder)’ อย่างหนึ่ง เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการครอบครองอำนาจโดยเฉพาะอำนาจที่มาจากความสำเร็จที่ท่วมท้นมากๆ โดยจากผลการทดลองทางคลินิก 14 กรณีบอกว่าผลของการครอบครองอำนาจนั้นแสดงออกมาเป็นอาการเช่น แสดงอาการดูแคลนผู้อื่น สูญเสียการรับรู้กับโลกแห่งความเป็นจริงรอบตัว ลงมือทำสิ่งต่างๆ อย่างหุนหันพลันแล่นหรือทำอะไรด้วยความสับสนวุ่นวาย รวมไปถึงแสดงอาการของความไร้ความสามารถ
พอเราพูดเรื่องอำนาจ เราอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่เราทุกคนต่างอยู่ในเกมของอำนาจ เราต่างแสวงหาอำนาจ สิ่งสำคัญของมนุษย์ตัวน้อยๆ อย่างพวกเราคือการเล่นเกมของอำนาจ
แต่ชัยชนะของเราในเกมของอำนาจ แท้จริงอาจคือการไม่ถูกอำนาจทั้งหลายกลืนกินจนเกินไป
ที่มา