ที่จริง ผมเคยเขียนถึงสภาวะ ‘โอหังคลั่งอำนาจ’ หรือที่นักจิตวิทยาเรียกว่า Hubris Syndrome ไปหลายครั้งมาก เช่นในคอลัมน์ Powerism ของ The MATTER หรือในที่อื่นๆ
ถ้าถามว่า ทำไมถึงสนใจเรื่องนี้ คำตอบน่าจะอยู่ในหนังสือชื่อ A Social History of Madness หรือ ‘ประวัติศาสตร์สังคมของความบ้า’ ที่เขียนโดย รอย พอร์เตอร์ (Roy Porter) นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษที่ทำงานเรื่องประวัติศาสตร์การแพทย์เป็นหลัก และเคยเป็นผู้อำนวยการของสถาบัน Wellcome Institute for the History of Medicine อยู่ที่ University College London ด้วย มุมมองของ รอย พอร์เตอร์ จึงแหลมคม เพราะไม่ใช่มุมมองที่มาจากการแพทย์หรือนักประวัติศาสตร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่นำโลกสองใบนี้มาเชื่อมร้อยต่อกัน
หนังสือเล่มนี้ที่จริงไม่ใช่หนังสือใหม่ เพราะตีพิมพ์ตั้งแต่ปี ค.ศ.1989 โน่นแล้ว แต่ลองดูสิ่งที่เขาเขียนเอาไว้สิครับ
ประวัติศาสตร์ของความบ้าคือประวัติศาสตร์ของอำนาจ เพราะความบ้าในแง่มุมของอำนาจ อาจเป็นได้ทั้งไร้สมรรถภาพใดๆ โดยสิ้นเชิง หรืออาจทรงพลังมหาศาลได้ ความบ้านั้นคุกคามโครงสร้างอำนาจแบบปกติ ความบ้าคือการพล่ามพูดไม่หยุดหย่อนอย่างไร้ที่สิ้นสุด บ่อยครั้งเป็นการพูดคนเดียวอย่างคลั่งไคล้ถึงอำนาจ
สิ่งที่รอยเขียนเอาไว้คือการบอกเราว่า ‘อำนาจ’ กับ ‘ความบ้า’ นั้นเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ออก แน่นอน สภาวะทางจิตหลายอย่างอาจเกิดจากปัญหาทางกายภาพของสมอง ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับอำนาจโดยตรง แต่ในอีกด้านหนึ่ง รอย พอร์เตอร์ บอกว่า พอคนเรามี ‘อำนาจ’ ขึ้นมามากๆ แล้ว ก็เป็นไปได้ที่พยาธิสภาพของสมองมักจะเปลี่ยนไป และก่อให้เกิด ‘ความบ้า’ อีกแบบหนึ่งขึ้นมา
เคยมีการศึกษาของนักประสาทวิทยาชื่อ ซุควินเดอร์ โอบิ (Sukhvinder Obhi) แห่งมหาวิทยาลัย McMaster ในออนตาริโอ โดยดูการทำงานของสมอง ว่าสมองของคนที่มีอำนาจและคนที่ไม่มีอำนาจนั้น เมื่อถูกกระตุ้นแล้วจะทำงานต่างกันอย่างไร พบว่าตัว ‘อำนาจ’ นั้น สามารถไปทำลายกระบวนการ ‘เข้าอกเข้าใจ’ คนอื่น กระบวนการนี้เกิดขึ้นจากเซลล์ประสาทแบบกระจก (Mirror Neuron) ซึ่งทำให้เรารับรู้ว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไรได้เหมือนการส่องกระจก และเชื่อกันว่าเป็นกระบวนการพื้นฐานทางสมองที่ทำให้มนุษย์กลายเป็น ‘สัตว์ฝูง’ ที่มีการให้และรับในทางสังคมจนดำรงเผ่าพันธุ์มาถึงทุกวันนี้ได้
แต่ในผู้ที่มีอำนาจ การทำงานของสมองแบบนี้
จะลดน้อยลง ทำให้ ‘เข้าใจ’ คนอื่นได้น้อยลง
มีความรู้สึกเจ็บปวดหรือสุขทุกข์ร่วมกับคนอื่นได้น้อยลง และทึกทักว่าสิ่งที่ตัวเองคิดหรือเป็นนั้นดีงามยิ่งใหญ่จนไม่ต้องฟังใคร นักจิตวิทยาบางคนเรียกว่าเกิดอาการ Empathy Deficit หรือ ‘ขาด’ ความเข้าใจคนอื่น ซึ่งถ้าให้ยกตัวอย่างที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน ก็คือต่อให้มีคนตายเป็นพันเป็นหมื่นคนเพราะการกระทำ (หรือละเว้นการกระทำ) ของตัวเอง ผู้มีอำนาจก็เข้าใจเรื่องนี้ไม่ได้ เห็นอกเห็นใจใครไม่ได้ – ยกเว้นแต่ตัวเอง
นักจิตวิทยาอีกคนหนึ่ง คือ ดาเชอร์ เคลต์เนอร์ (Dacher Keltner) จากมหาวิทยาลัยเบิร์กลีย์ ได้เปรียบเทียบคนที่ ‘ตกอยู่ใต้อิทธิพลของอำนาจ’ (Under the Influence of Power) กับคนทั่วไป เขาพบว่าพวกที่ถูกอำนาจครอบงำนั้น จะมีพฤติกรรมการแสดงออกต่างๆ เหมือนกับผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางสมองร้ายแรงในระดับ Traumatic Injury หรือพูดอีกแบบหนึ่งก็คือ คนที่บ้าอำนาจนั้น มักจะมีอาการเหมือนสมองได้รับความกระทบกระเทือนในระดับที่อาจเรียกได้ว่า ‘สมองเสื่อม’ กันเลยทีเดียว
ลักษณะสำคัญของคนบ้าอำนาจ คือมักจะหุนหันพลันแล่น ปากไม่ดี มองเห็น ‘ความเสี่ยง’ ต่างๆ น้อยลง พาคนอื่นไปเสี่ยงตายกับการตัดสินใจของตัวเองโดยไม่ยั้งคิด เพราะนึกว่านั่นคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว และมีความสามารถในการเข้าใจคนอื่นๆ น้อยลง มองโลกจากมุมมองของคนอื่นๆ น้อยลง หรือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางโลกมากขึ้น
คนที่คิดศัพท์คำว่า Hubris Syndrome ขึ้นมา คือ เดวิด โอเวน (David Owen) ซึ่งเป็นทั้งแพทย์และนักการเมืองชาวอังกฤษ นี่เป็นอีกครั้งที่ศาสตร์สองศาสตร์มาบรรจบกัน นั่นคือศาสตร์เรื่องการเมืองและการแพทย์ โอเวนเป็นแพทย์มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1962 โดยทำงานที่โรงพยาบาลหลายแห่ง เขาสนใจทั้งด้านประสาทศาสตร์ (Neurology) และจิตวิทยา แต่ต่อมาเขาหันมาสนใจเรื่องการเมือง และทำงานการเมืองจนได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกพรรคแรงงาน และเคยเป็นถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศในช่วงปี ค.ศ.1977-1979
โอเวนบอกว่า โรค ‘โอหังคลั่งอำนาจ’ หรือ Hubris Syndrome นั้น
มักจะปรากฏขึ้นมาเมื่อคนคนหนึ่งอยู่ในอำนาจเป็นเวลานาน
ยิ่งนานเท่าไรก็ยิ่ง ‘เสี่ยง’ ต่อสภาวะนี้มากขึ้นเท่านั้น แต่แน่นอนว่าภาวะไม่ได้เกิดกับทุกคนที่ได้อำนาจ เพราะคนที่ยังรักษาตัว (และสมอง) ให้ปลอดจากอาการนี้ได้ก็มีอยู่ แต่ส่วนใหญ่คนที่รอดพ้นจากอาการป่วยแบบนี้ มักจะไม่อยากอยู่ในอำนาจหรือพยายามหาวิธีรักษาอำนาจเอาไว้ยาวนานเกินควร
ต่อไปนี้คือลักษณะอาการ ที่เดวิด โอเวน เคยสรุปเอาไว้ว่าผู้ที่มีลักษณะโอหังคลั่งอำนาจมักจะเป็นกัน ซึ่งหลายอาการจะสอดคล้องกับสภาวะที่เรียกว่า Narcissistic Personallity Disorder หรือมีอาการ ‘หลงตัวเอง’ ด้วย อาการดังกล่าวได้แก่
- มีแนวโน้มที่จะเห็นโลกเป็นเหมือน ‘สนามประลอง’ ที่ตัวเองเอาไว้ใช้เพื่อบริหารอำนาจ และแสวงหาความยิ่งใหญ่ในอำนาจนั้นๆ
- มีแนวโน้มที่จะทำสิ่งต่างๆ โดยพยายามให้ตัวเอง ‘ได้แสง’ ที่ดี (cast the individual in a good light) ทำให้ ‘ภาพลักษณ์’ ของตัวเองออกมาดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นจึงไม่ค่อยพึงพอใจ หากถูกลูบคมลบหลู่ภาพลักษณ์ต่างๆ
- มีความกังวลสนใจต่อภาพลักษณ์และการนำเสนอตัวเองมากอย่างไม่ได้สัดส่วน ซึ่งก็มีด้วยกันได้หลากหลายรูปแบบ
- มีความคิดแบบ ‘พระผู้ไถ่’ (Messianic Way of Thinking) คือคิดว่าตัวเองมา ‘โปรดสัตว์’ อยู่ตลอดเวลา และแสดงวิธีคิดแบบนี้ออกมาผ่านการพูดและอากัปกิริยาต่างๆ ที่หลายคนอาจเรียกว่า ‘มารยาท’ หรือ manner (พูดอีกอย่างก็คือมักจะมีมารยาทบกพร่อง)
- ข้อนี้น่าสนใจมาก เพราะโอเวนบอกว่าคนที่มีอาการแบบนี้ มักจะเชื่อมโยงอำนาจของตัวเองเข้ากับ ‘ประเทศชาติ’ หรือ ‘องค์กร’ ที่ใหญ่กว่าตัวเอง และพยายามอย่างยิ่งที่จะทำให้คนอื่นๆ เห็นว่าผลประโยชน์ของสองอย่างนี้ (คือของประเทศชาติหรือองค์กร – กับผลประโยชน์ของตัวผู้เป็น Hubris Syndrome เอง) เป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งก็อาจทำให้เราพอเข้าใจได้ว่า ทำไมคนเหล่านี้ถึงไม่ตะขิดตะขวงใจเลยเวลารักษาผลประโยชน์ของตัวเองโดยแอบแฝงอยู่ใต้คำว่า ‘ความมั่นคงของชาติ’ หรือ ‘ผลประโยชน์ของประเทศชาติ’ รวมไปถึงการประกาศได้หน้าตาเฉยว่ารักชาติ ทั้งที่พฤติกรรมกำลังทำลายชาติอยู่
- มีความมั่นใจเกินขีด กับการตัดสินพิพากษาของตัวเอง คือคิดว่าสิ่งที่ตัวเองตัดสินออกมานั้นถูกต้องที่สุดแล้ว และมักจะพยายาม ‘ด้อยค่า’ คำแนะนำหรือคำวิพากษ์วิจารณ์จากคนอื่นๆ (โดยบางครั้งก็บอกว่าคนอื่นๆ มาด้อยค่าตัวเอง แต่พยายามพูดแบบนั้นนั่นแหละ ที่คือการด้อยค่าในตัวของมันเอง)
- มีความเชื่อมมั่นในตัวเองสูงมากอย่างเกินจริง (Exaggerated Self-Belief) จนอาจเข้าสู่สภาวะที่เริ่มคิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่เหนือทุกสิ่ง (Omnipotence) และสามารถบรรลุสิ่งต่างๆ ได้ด้วยตัวเอง ไม่ต้องการความช่วยเหลือจากใคร
- มีความเชื่อแปลกๆ ว่า แทนที่ตัวเองจะต้อง ‘รับผิดรับชอบ’ (Accountable) ต่อเพื่อนร่วมงานหรือสาธารณชนหรือต่อสภา กลับเห็นว่าตัวเองมีหน้าที่ต้องตอบสนองต่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า (ซึ่งส่วนมากเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นหรือเหนือธรรมชาติ) เช่นตอบสนองต่อ ‘เทพ’ หรือต่อความเชื่อในประวัติศาสตร์บางอย่างที่สอดคล้องกับตัวเอง
- มีความเชื่อมั่นไม่สั่นคลอนว่า ในการตรวจสอบต่างๆ เหล่านั้น ถึงอย่างไรตัวเองก็จะรอดปลอดภัยอยู่เสมอ (ด้านหนึ่งอาจเพราะเชื่อว่าจะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากสิ่งเหนือธรรมชาติที่ว่า)
- ไม่สามารถรับรู้ความเป็นจริงได้ มักมีสภาวะ ‘แยกตัว’ ออกไปจากความเป็นจริง และมักพยายามอยู่ในโลกที่แวดล้อมไปด้วยคนที่ให้ความเห็นในแง่บวกกับตัวเองเท่านั้น
- มีอาการไม่อยู่นิ่ง ร้อนรนกระวนกระวาย หุนหันพลันแล่น ปากไวใจเร็ว
- มีแนวโน้มที่จะยอมให้ ‘วิสัยทัศน์อันกว้างไกล’ ของตัวเอง ปิดบังความจำเป็นที่จะต้อง ‘ฟัง’ คนอื่นๆ ไม่ว่าวิสัยทัศน์นั้นจะทำได้จริงหรือเปล่า ต้องใช้ต้นทุนมากแค่ไหน หรืออาจจะเกิดผลลัพธ์ที่ไม่พึงปรารถนาอะไรขึ้นได้บ้าง พูดง่ายๆ ก็คือฟังคนอื่นไม่เป็นนั่นเอง
- มีอาการ ‘ไร้สมรรถภาพ’ ที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ ให้ลุล่วง ที่เป็นอย่างนี้เพราะต่อให้พยายามทำตามนโยบาย แต่ก็มักจะผิดพลาดเพราะความเชื่อมั่นในตัวเองจนล้นเกิน จึงมองข้ามรายละเอียดในการปฏิบัติตามนโยบายเหล่านั้นดังที่ควรจะเป็น
(ดูรายละเอียดที่สรุปย่อมมาแล้วได้ที่ http://www.daedalustrust.com/about-hubris/the-14-symptoms-in-full/)
ทุกวันนี้ เราพบเห็นอาการ ‘โอหังคลั่งอำนาจ’ ที่ว่ามาข้างต้นได้ในหลายระดับของสังคม และยิ่งวันก็อาจพบได้มากขึ้นทุกที เพราะความโองหังคลั่งอำนาจมักจะดึงดูดคนที่เป็นแบบเดียวกันเข้าสู่วังวนของอำนาจ แล้วก็สุมหัวกันครองอำนาจต่อไปไม่สิ้นสุด
ผู้นำที่มีอาการ ‘โอหังคลั่งอำนาจ’ นั้น เป็นผู้นำที่ทำให้คำว่า ‘อำนาจ’ กับ ‘ความบ้า’ เข้าใกล้กันมากจนแทบแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกัน อันเป็นอาการที่ ‘อันตราย’ อย่างมากต่อสังคม
แต่ปัญหาสำคัญก็คือ – ผู้นำแบบนี้มักจะไม่รู้ว่าตัวเองมีสภาวะแบบนี้
นั่นยิ่งทำให้อันตรายซ้อนอยู่ในอันตรายมากขึ้นไปอีก