“ปัญหาของโลกนี้คือ คนฉลาดๆ ทั้งหลายก็ไม่มั่นใจในตัวเอง ในขณะที่พวกไม่ค่อยฉลาดกลับสุดแสนจะมั่นใจ” Charles Bukowsk นักเขียนและกวีอเมริกันเชื้อสายเยอรมันตั้งข้อสังเกตความเป็นไปของโลกไว้อย่างน่าคิด ในชีวิตเรามักจะเจอคนเก่งๆ ขยันๆ จำนวนมากที่มักจะรู้สึกว่าตัวเองยังไม่เก่งจริง เป็นของปลอม เป็นคนที่ไม่ควรคู่จะยืนอยู่ท่ามกลางคนเก่งๆ คนอื่น
อาการที่รู้สึก ‘ด้อยประสิทธิภาพ’ หรือรู้สึกไม่ควรคู่กับความสำเร็จ (จนเกินควร) เรียกว่า ‘imposter syndrome’ คือรู้สึกว่าฉันนี่มันไม่ใช่ ‘ของจริง’ จุดที่เรายืนอยู่และความสำเร็จทั้งหลายเป็นแค่ของปลอม เรามันคนขี้เกียจ ไม่ได้เรื่องได้ราว คิดไปต่างๆ นาๆ
เจ้า imposter syndrome ในทางการแพทย์ยังไม่นับว่าเป็นโรคทางจิตเวชอย่างเป็นทางการ แต่ความแคลงใจและความคิดแง่ลบต่อตัวเองในที่สุดก็อาจจะสัมพันธ์กับปัญหาต่อสภาพจิตใจเช่นความวิตกกังวล หรืออาการซึมเศร้าด้วย นึกภาพถ้าอยู่ในจุดที่มีแต่คนเก่งๆ งานระดับเทพๆ ไอ้อาการรู้สึกว่า ‘ไม่ใช่ของจริง’ อาจจะไม่ใช่แค่ความคิดแง่ลบที่คิดๆ แล้วก็หายไป แต่อาจนำไปสู่อาการที่จริงจังไปกว่านั้น
จุดเริ่มต้นที่นักจิตวิทยาเริ่มสนใจและอธิบายปรากฏการณ์ ‘รู้สึกว่าไม่เก่งจริง’ เริ่มต้นขึ้นในปี 1978 นักจิตวิทยา 2 คนชื่อ Suzanne Imes และ Pauline Rose Clance พูดถึงปรากฏการณ์ของกลุ่มคนที่ประสบความสำเร็จ แต่ลึกๆ แล้วกลับรู้สึกว่าไม่คู่ควร คิดว่าที่ตัวเองสำเร็จได้ก็เพราะโชคมากกว่าความสามารถจริงๆ ซึ่งความรู้สึกดังกล่าวจะนำไปสู่ความกลัวว่าจะมีใครมาเปิดโปงว่า นี่ไง ความสำเร็จของแกนี่มันไม่ใช่ของแท้ มันเป็นของปลอม
การศึกษาปรากฏการณ์ imposter syndrome ดังกล่าวให้ความสำคัญและพบว่าอาการดังกล่าวเกิดในผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จสูงๆ เป็นหลัก ซึ่งก็เข้าใจได้เพราะบริบททางสังคมยุคก่อนหน้านั้น ความเสมอภาคและพื้นที่ของผู้หญิงยังไม่ค่อยได้รับการยอมรับเท่าไหร่ การไม่ยอมรับความสำเร็จนั้นอาจจะส่งผลไปถึงการยอมรับความสามารถของตัวของผู้หญิงเองด้วย ซึ่งการศึกษาในยุคต่อๆ มาก็พบว่าผู้ชายก็มีอาการที่ว่าไม่ต่างกัน
ความรู้สึก ‘ไม่เก่งจริง’ เป็นอาการที่เกิดได้ทั่วไป ไม่ใช่แค่คนธรรมดาๆ แบบเรา คนที่มีความสามารถระดับเทพที่มีผลงานประจักษ์ทั้งหลายก็ต่างมีความระแวงสงสัยในความสามารถของตัวเองทั้งนั้น Maya Angelou นักเขียนหญิงอเมริกันผิวสีระดับตำนานบอกว่าขนาดเธอเขียนหนังสือ 11 เล่มแล้ว เธอก็ยังหวาดๆ อยู่ตลอดว่า สุดท้ายจะโป๊ะแตกแน่แล้วว่าฉันนี่มันไม่เก่งจริง
สำหรับ Neil Gaiman นักเขียนชายคนดัง (ล่าสุด American Gods เพิ่งได้รับการทำเป็นซีรีส์) บอกว่าตัวเองมีอาการที่ว่าเหมือนกัน คือมีผู้อ่านถามว่า ได้ข่าวว่านีลกำลังเจอกับอาการ imposter syndrome โดยตัวผู้อ่านเองก็กำลังเผชิญหน้ากับปัญหานี้อยู่เหมือนกัน อยากจะขอคำแนะนำหน่อย
นีลบอกว่า แนะนำหนังสือชื่อ Presence ของ Amy Cuddy ในนั้นมีประเด็นเรื่อง Imposter Syndrome แล้วมีบทสัมภาษณ์เขาในนั้นด้วย
นอกจากนี้นีลยังพูดถึงประสบการณ์ที่เจอมาเองแล้วช่วยได้ คือเป็นตอนที่นีลได้ไปร่วมวงกับคนเทพๆ ทั้งศิลปินและนักวิทยาศาสตร์ นักเขียนและคนที่ค้นพบสิ่งยอดเยี่ยมมากมาย วินาทีนั้นเองนีลรู้สึกตัวเล็กขึ้นมา รู้สึกว่าเขาไม่ควรค่าที่จะอยู่ในวงของผู้คนที่ยอดเยี่ยมเหล่านี้ วันหนึ่งในงานนีลได้พบกับชายคนหนึ่งที่ชื่อเดียวกัน นีลบอกว่าชายสูงวัยผู้นั้นเป็นคนสุภาพ น่ารัก และสิ่งที่ชายคนนั้นก็พูดสิ่งเดียวกันกับที่เขาคิดอยู่พอดีว่า ‘พอผมมองไปที่พวกคุณ แล้วคนอย่างผมมาทำอะไรที่นี่ฟะเนี่ย พวกคุณทำสิ่งที่ยอดเยี่ยม ผมก็แค่ไปในที่ๆ มีคนส่งผมไป’
เกแมนด์จึงบอกว่า ‘ก็ใช่นะ แต่คุณคือคนแรกที่ไปเหยียบบนดวงจันทร์ ผมว่ามันก็ถือว่าไม่ธรรมดาแหละนะ’ ในตอนนั้นนีล เกแมนด์บอกว่าตัวเองก็รู้สึกดีขึ้นนิดหน่อย เพราะขนาด นีล อาร์มสตรอง ยังรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งจริงเลย ดังนั้นแปลว่าอาการนี้มันก็เป็นเรื่องธรรมดาแหละ ดังนั้นการเติบโตขึ้นมันก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าผู้คนที่ทำงานหนัก มีโชคนิดหน่อย ออกจากพื้นที่ที่ตัวเองเคยชินบ้าง พวกเราแค่ทำสิ่งที่ทำอยู่ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งชีวิตมันก็แค่นี้
ที่มา