เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ชอบถ่ายรูป เทคโนโลยีทุกวันนี้มันก็ช่วยให้การถ่ายรูปง่ายขึ้นมากเนอะ บางทีแค่มือถือเครื่องเดียว ถ้าเก่งหน่อยก็ถ่ายได้เหมือนใช้กล้องดีๆ สักตัวแล้ว เราเลยได้เห็นช่างภาพทั้งมือใหม่ มืออาชีพ อยู่เต็มไทม์ไลน์ไปหมด แล้วมันก็ยิ่งสนุกมากขึ้นเพราะอุปกรณ์ที่เยอะแยะน่าเล่น ก็ทำให้เราเห็นเทคนิคต่างๆ มากมาย ช่างภาพบางคนก็ใช้กล้องฟิล์ม บางคนใช้กล้อง Mirrorless บางคนก็ DSLR หรือบางคนใช้แค่มือถือก็มี
ทุกคนที่กำลังอ่านตรงนี้ก็คงมีกล้องเป็นของตัวเองแล้วแหละ ไม่ว่ามันจะเป็นกล้องประเภทไหนก็ตาม แล้วก็เชื่อว่าเวลาที่หยิบกล้องขึ้นมาถ่าย มันก็คงมีบางแว้บที่เราคิดว่าอยากจะถ่ายได้สวยแบบช่างภาพเก่งๆ บางจังน้า เขาทำยังไงกัน มีเคล็ดลับอะไรบ้าง ฝึกนานไหม ใช้กล้องอะไร ฯลฯ
The MATTER ไปหาคำตอบมาให้ กับเจ้าของผลงานภาพถ่ายที่น่าสนใจทั้ง 7 คนนี้
Child’s Holiday
“บอกก่อนเลยว่าเราไม่ใช่ช่างภาพที่เก่งอะไรเลย เวลาที่เราจะถ่ายงานอะไรเราจะต้องเข้าใจมันก่อน เพราะแต่ละงานวิธีการทำงานมันต่างกันไปเลย เช่น เวลาเราถ่ายเบื้องหลังเราต้องทำตัวเป็นอากาศไม่มีตัวตนในนั้น ไม่ไปรบกวนการทำงานของกองหลัก ไม่ไปรบกวนสมาธินักแสดง เราจะลั่นชัตเตอร์มั่วๆ ไม่ได้ แต่พอมาถ่ายแฟชั่นก็จะเป็นอีกแบบ เพราะงั้นมันหมายถึงเราต้องรู้และเข้าใจว่าเรากำลังจะถ่ายอะไรก่อน พอมันรู้ทุกๆ อย่างจะตามมา พอรู้ว่าถ่ายงานอะไรก็จะรู้ว่าเรารู้สึกอะไรกับมัน รู้ว่าเราควรจะใช้กล้องอะไร อุปกรณ์อะไรบ้าง ควรใช้ฟิล์มแบบไหน
“เราไม่เก่งเราเลยต้องคิดเยอะ ทำงานกับตัวเองให้แน่นๆ ก่อน เราเองก็อุปกรณ์ไม่ได้เยอะ แถมถ่ายฟิล์มด้วย มันเลยต้องทำงานให้ละเอียดที่สุดเท่าที่จะทำได้ อย่างที่รู้ว่าเราไปเดาอะไรกับฟิล์มมันไม่ได้ขนาดนั้นว่ามันจะออกมาเป็นแบบไหน มันเลยต้องทำการบ้านหน่อย”
www.facebook.com/childsholiday
ปลั๊ก สุทธิวัฒน์ สังข์คง
“เรื่องทางเทคนิคมันเป็นสิ่งที่ต้องทดลองด้วยตัวเอง เดี๋ยวนี้ก็มีสื่อเกี่ยวกับภาพถ่ายเยอะมาก หาดูหรือเสพกันแทบจะไม่ทัน การถ่ายภาพมันกลายเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ใครๆ ก็สามารถถ่ายภาพได้ บางคนไม่ได้เป็นช่างภาพมืออาชีพก็ถ่ายออกมาได้ดี บางคนถ่ายออกมาได้ดีกว่าช่างภาพอาชีพด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นสิ่งแรกเลยที่คิดว่าจำเป็นน่าจะเป็นแพชชั่น เราต้องลุ่มหลง เราต้องหมกมุ่นกับมัน แล้วอีกอย่างที่สำคัญสำหรับผมก็คือเราต้องรู้จักตัวเอง”
เบ๊น ธนชาติ ศิริภัทราชัย
“เราจะบอกคนถ่ายรูปใหม่ๆ ว่าพยายามหาความเป็นระเบียบ ความสบายตา เวลาเราสอนถ่ายรูปเราไม่ได้บอกว่าจงถ่ายอันนี้สิ มันสวยนะ เพราะว่าแต่ละคนมันมีความสวยต่างกันไป เราจะบอกว่าพอถ่าย subject แล้วคนชอบไปพลาดที่ background กัน คือ background มันรกอะ มันก็แย่งทุกอย่างไปจาก subject เวลาคนเห็นอะไรสวยจะคิดว่าแค่ถ่ายก็จบแล้ว แต่ไม่ได้คิดว่าข้างหลังมันเต็มไปด้วยอะไรก็ไม่รู้เต็มไปหมด เราพยายามจะบอกให้กำจัดอะไรพวกนี้ออก
“อย่างในไทยมันอาจจะดูรก แต่จริงๆ มันหาได้และมันเป็นแบบฝึกหัดที่ดี เมืองไทยมีอะไรให้ชาเลนจ์เยอะ เวลาเราสอนถ่ายรูปบนถนนส่วนใหญ่ก็รกนะ แต่สุดท้ายมันก็หามุมได้แหละ จะบิดกล้องยังไง เสยยังไง จะถ่ายอะไรอันไหนสวย เราพยายามบอกเขาว่าไม่ต้องไปถ่ายอะไรเวอร์ๆ ออกทริปถ่ายนก ถ่ายน้ำตก เราจะเน้นให้เขาถ่ายพวกของในชีวิตประจำวันแหละ พยายามหามุมใหม่ๆ ให้มัน เช่นถ่ายของธรรมดาให้ดูสวยได้ อะไรแบบนี้”
www.facebook.com/BenzThanachart
1 Step Journey
“การถ่ายภาพมันเป็นการผสมผสานกันระหว่างการเรียนรู้ที่จะใช้อุปกรณ์ กับเรื่องมุมมอง การออกเดินทางจะทำให้เราเปิดมุมมองในการถ่ายภาพมากขึ้น ไปในที่ที่ไม่รู้จักจะช่วยฝึกทักษะในการจัดองค์ประกอบภาพและควบคุมกล้องไปพร้อมๆ กัน ความท้าทายอยู่ที่ภาพบางภาพเกิดขึ้นเพียงเพราะจังหวะและโอกาสที่อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นอีก หากเราไม่ออกไปตามหา โอกาสคงไม่วิ่งเข้ามาหาเรา”
www.facebook.com/1stepjourney
หฤษฎ์ ศรีขาว
“ความรู้สึกร่วมและความจริงใจคือสิ่งสำคัญในการถ่ายภาพ เพราะเมื่อไหร่ที่ผมรู้สึกว่ามีบางสิ่งที่มีความหมายต่อผมอย่างมาก และผมไม่อยากให้มันหายไปเฉยๆ ผมจะพยายามถ่ายภาพสิ่งๆ นั้นให้ออกมางดงามที่สุดโดยอัตโนมัติ”
www.kathmanduphotobkk.com/?p=7442
ทวีพงษ์ ประทุมวงษ์
“ผมว่าการถ่ายภาพแนวสตรีทมันเป็นการสลายตัวตนอย่างนึง เพราะความโหดร้ายของการถ่ายภาพแนวนี้คือ ไม่ว่าเมื่อวานเราจะได้ภาพดีขนาดไหน แต่พอเข้าวันใหม่ ทุกอย่างเริ่มต้นใหม่หมด ต้องเดินใหม่ ต้องพยายามหาภาพใหม่ๆ ซีนใหม่ๆ พบกับความผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้จะไปเดินที่ไหนดี ขับรถออกจากบ้านสาย รถติด กว่าจะได้เดินถ่าย แสงหมด แสงดีไม่มีซับเจ็กต์ ซับเจ็กต์ได้ฉากไม่ลงตัว หรือทุกอย่างลงตัวแต่เคยมีคนเล่นมุกนี้ มุมนี้บ่อยแล้ว
“กว่าจะได้ภาพที่ชอบจริงๆ เป็นอะไรที่ต้องเฆี่ยนตีตัวเองซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าอย่าพอใจอะไรง่ายๆ
ความสำเร็จของเมื่อวานไม่สามารถการันตีได้ว่าพรุ่งนี้จะได้ภาพดีๆ อีก ที่เราทำได้ก็คือ ‘เดินต่อไปเรื่อยๆ’ เตรียมพร้อมตลอดเวลา มีสมาธิตรงหน้า และไม่ทิ้งทุกโอกาสที่มากระทบใจเรา”
อิศเรศ เฉลิมโสภณ
“ดูรูปให้เยอะในทุกๆ แนว หาช่างภาพที่เราชอบ แล้วดูให้ลึกไปอีกว่าเค้าชอบใคร อย่าหลงไปกับภาพสวยๆ ที่ได้ไลก์เยอะๆ แต่วันรุ่งขึ้นเราก็ลืมภาพนั่นไป จับผิดภาพตัวเองให้เยอะที่สุด จับกลุ่มกับเพื่อนๆ วิจารณ์งานกัน สุดท้ายคือออกไปสังเกตชีวิตบนท้องถนนแล้วเดินถ่ายให้บ่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้”