ธรรมชาติของการเรียนรู้มักจะไม่ชอบฝืนตัวเอง สมองก็เช่นกัน ยิ่งคุณตั้งใจมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งคว้าน้ำเหลว ลืม ‘คอร์สเรียนลัด 12 ชั่วโมง’ ไปได้เลย สมองคุณไม่มีทางยัดข้อมูลมหาศาลขนาดนั้นเพียงเพื่อให้คุณไปสอบเลื่อนตำแหน่งหรอก เมื่อเวลาผ่านไปแล้วความรู้นั้นก็จะระเหิดหายไปราวอากาศธาตุ มาพบงานวิจัยใหม่ๆ ที่พาคุณไปเอ็นจอยกับภาษาที่ 2 โดยไม่ต้องฝืน และให้สมองคุณมีพื้นที่วิ่งเล่นและเติบโตราวเด็กๆ ที่น่ารักน่าชังดีกว่า
การมีทักษะสื่อสารภาษาที่ 2 ที่ 3 หรือ ที่ 4 ทำให้คุณได้แต้มต่อกว่าคนอื่นเสมอในทุกๆ มิติ มันเป็นเรื่องยากที่คุณจะทำมาหากินโดยมีเพียงภาษาเดียวในสนามที่มีการแข่งขันสูง และประตูแห่งโอกาสก็ดันผลุบๆ โผล่ๆ เหมือนหอยหลอด ที่ต้องคอยหยอดปูนขาวถึงจะขึ้นมาจากดินเลนเพื่อทักทาย ทักษะการสื่อสารที่มากขึ้นก็คล้ายกับถุงปูนขาวที่คุณสามารถโรยเรียกแขกหรือเรียกโอกาสได้ดังใจ ดังนั้นอย่าเสียเวลาพูดเรื่องหอยหลอดและปูนขาวกันอีกเลย มาหาวิธีเรียนง่ายๆ ผ่อนคลายสมองกันดีกว่า
-
เรียนภาษาใหม่ ให้เหมือน ‘เด็ก’
คุณผ่านช่วงเวลาเรียนภาษาที่ดีที่สุดมาแล้ว มันคือช่วงวัยเด็กที่ยังพูดไม่รู้ประสีประสา ได้ยินอะไรก็พูด สนใจอะไรก็ฟัง เห็นไอ้โน้นน่าขยี้ดีก็เอามือไปจับ ง่ายและตรงไปตรงมา
งานวิจัยจากรั้ว Harvard แนะนำว่า วัยที่ควรเรียนภาษาที่ 2 มากที่สุดคือ ช่วงอายุ 3 – 4 ขวบ มันเป็นช่วงที่สมองเปิดรับผัสสะทั้ง 6 อย่างกระตือรือร้น การมองเห็น ได้ยินเสียง รู้รสชาติ ผิวสัมผัส กลิ่น และการลงมือทำโดยสัญชาตญาณ
ไม่มีเด็กในวัยนี้แคร์เรื่องการเรียนภาษาเพื่อไปทำอะไร พวกเขามองมันเป็น Input ของธรรมชาติ และเด็กๆมีแนวโน้มจะซึมซับกลไกของภาษาจากการถ่ายทอดของมนุษย์ด้วยกันมากกว่า ‘สิ่งของที่ไร้ชีวิต’
เด็กเพียง 10 เดือน พยายามเรียนรู้ภาษาแรกจากการมองเห็น และการประสานสายตากับผู้พูด การจ้องที่สลับไปมา (Gaze shifting) ในเด็กวัยเรียนรู้เชื่อมโยงถึงคลังคำศัพท์ที่มีอยู่ในสมอง ดังนั้นอิทธิพลของพ่อแม่ ผู้เลี้ยงดู และครูคนแรกๆ มีความสำคัญในการกระตุ้นภาวะการเรียนภาษาอย่างยิ่งยวด โดยเฉพาะเวลาเล่นสนุก ที่เด็กๆ จะมีการเรียนรู้ได้ดีกว่า
แต่จะมาพูดถึงอดีตกันอยู่ทำไม เพราะยังไงฉันก็ไม่มีทางกลับไปเป็นเด็กอีกแล้ว
ถูกต้อง! การเรียนภาษาที่ 2 ในวัยผู้ใหญ่ทำได้ยากกว่า แต่มันก็ไม่ได้แล้งกลยุทธ์เลยซะทีเดียว เมื่อรู้ว่าเด็กเรียนรู้โลกรอบตัวเขาอย่างไร มันก็ยิ่งจำเป็นที่คุณจะกระตุ้นความเป็นเด็กกลับมาอีก
-
ดูมือดูไม้ ภาษาท่าทาง คือของดี
มนุษย์ไม่ได้สื่อสารเหมือนหุ่นยนต์ไร้ชีวิตเสียหน่อย (ตรงกันข้าม หุ่นยนต์ต่างหากที่พยายามสื่อสารให้เหมือนมนุษย์มากขึ้น) ในชีวิตจริงเราไม่ได้สื่อสารด้วยเสียงเพียงอย่างเดียว แต่การปฏิสัมพันธ์ล้วนมีภาษาท่าทาง ก็คือ ‘อวัจนภาษา’ (Non-verbal) มนุษย์สื่อสารกันโดยใช้อากัปกิริยา ท่าทาง น้ำเสียง สายตา ที่ทำให้คุณเข้าใจบริบทการสื่อสารมากขึ้นที่เรียกกันว่า ‘Social Cues’ ทำไมพูดคำว่า Wonder แล้ว ตาเขาเบิกกว้างและหน้าผากย่นลง? ทำไมเวลาได้ยินคำว่า Beautiful แล้วใครๆ ก็ยิ้ม? แต่เวลาพูดอะไรที่นามธรรมมากๆ ถึงมือไม้ถึงออก?
สัญญาณเล็กๆ เหล่านี้กระตุ้นให้คุณเข้าใจรูปแบบการออกเสียงได้แม่นยำขึ้น สัมผัสได้ถึงเนื้อหาที่ซ่อนเร้นในวลี และพัฒนาโครงสร้างแกรมม่าให้แข็งแรงโดยไม่ต้องท่องจำ อย่าลืมทักษะการมองเห็นอันล้ำค่า มันช่วยคุณได้เสมอ
-
เปิดภาษาที่ 2 ทิ้งไว้ แม้จะไม่ได้ตั้งใจจะฟัง
อย่าตั้งใจไปหมดเสียทุกอย่าง “เอาล่ะ ฉันพร้อมจะเรียนแล้ว” พูดที่ไรก็เร่ิมขี้เกียจต้องก้มไปเกาตาปลาทุกที แต่การเรียนแบบไม่ต้องตั้งใจเลย ทำให้คุณซึมซับภาษาอย่างที่คุณไม่รู้ตัว สมองน่าอัศจรรย์ใจกว่าที่คุณคาดไว้อีกเยอะ
การได้ยินภาษาที่ 2 แบบเป็นเสียง Background ทำให้คุณเรียนภาษาได้เร็วว่า แม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจฟัง เอาหูคุณไปอยู่กับเสียงและภาษาใหม่ๆ ที่หลากหลาย ด้วยการเปิดข่าวภาษาต่างประเทศทิ้งไว้ หรือเปิดเพลงที่ชอบ
งานวิจัยในปี 2015 ตีพิมพ์ใน Journal of the Acoustical Society of America พบว่ากลุ่มทดลองที่ได้ร่วมกิจกรรมต่างๆ โดยที่เปิดเสียงภาษาอื่นๆ ทิ้งไว้ตลอดกิจกรรม มีแนวโน้มที่จะจดจำคำหรือวลีได้ดีกว่า
“สมองชื่นชอบความบังเอิญ มันเก็บเกี่ยวการเรียนรู้โดยไม่รู้ตัว” Melissa Baese Berk นักวิจัยภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Oregon กล่าว
-
เรียนปุ๊บ นอนปั๊บ
ใครว่าการนอนหมายความว่ายอมแพ้? เปล่าเลย คุณกำลังเรียนรู้ในอีกรูปแบบหนึ่งอยู่ต่างหาก
การนอนถูกกีดกันจากระบบการเรียนรู้มาตลอดในอดีต แต่ความก้าวหน้าทางประสาทวิทยา (Neuroscience) ยุคปัจจุบันทำลายกระบวนทัศน์เก่าๆ ลงอย่างสิ้นเชิง มีหลักฐานมากมายจากการตรวจด้วยคลื่นสมองที่ยืนยันว่า สมองคุณกำลังประมวลผลอยู่แม้จะอยู่ในช่วงการนอน และถูกจัดเป็น Subliminal learning ที่หลายๆ สถาบันกำลังจับตามอง หรือการนอนคือการเรียนรู้ที่ดีที่สุด?
งานวิจัยตีพิมพ์ในวารสาร Cerebral Cortex โดย มูลนิธินักวิทยาศาสตร์สวิสเซอร์แลนด์ (Swiss National Science Foundation) พวกเขาพิสูจน์ว่าการนอนทำให้ผู้เรียนจดจำคำศัพท์ได้แม่นยำขึ้น โดยใช้นวัตกรรม EEG ตรวจคลื่นสมองขณะผู้เรียนทำการนอนหลับ พบกิจกรรมประสาทเกิดขึ้นบริเวณ Parietal lobe หรือส่วนประมวลการใช้ภาษาของมนุษย์
ช่วงเวลาเรียนภาษาใหม่ๆ คือเวลาก่อนนอน คุณควรอ่านหนังสือภาษาที่ 2 หรือฟังบทสนทนาที่น่าสนใจ เมื่อความง่วงเข้าคืบคลานก็อย่าไปฝืน (ยกเว้นเรื่องที่อ่านจะสนุกมาก) นอนเสียโดยดี ปล่อยให้สมองทำหน้าที่จัดเก็บข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ คุณอาจตื่นมาร่ายบทกวีเชคสเปียร์คล่องปร๋อเลยก็ได้
-
อัดเสียงตัวเองไว้สิ แล้วพูดออกมาดังๆ แบบไม่ต้องคิด
คุณสามารถพัฒนาการออกเสียง (Pronunciation) โดยการบันทึกเสียงของตัวเอง แม้มันจะน่าเขินพิลึกที่ได้ยินเสียงตัวเองในมิติเสียงที่ไม่คุ้นเคย หรือการที่คุณได้ยินวลีน่าสนใจจากเพลง ภาพยนตร์ หรือเกมที่ชื่นชอบเป็นพิเศษ พูดมันออกมาให้ตัวเองได้ยิน เลียนเสียงเหล่านั้นอีก พูดซ้ำๆ ระหว่างล้างจาน ถูบ้าน หรือทำกับข้าว จริงๆ มันก็ผ่อนคลายไม่น้อย และกระตุ้นให้คุณคุ้นเคยกับคำเหล่านั้นได้ดียิ่งขึ้น
“พูดซ้ำๆ ทำเหมือนกับเด็กเลยเนอะ” ใช่ไง! เรากำลังกลับไปเรียนคล้ายเด็กอีกครั้ง แม้คุณจะถูกใครๆ แอบดูแคลนก็ตาม แต่คุณรู้ตัวเองอยู่เสมอ ว่ากำลังตามหาอะไร
-
ไทยคำ/อังกฤษคำ ไม่ได้กระแดะ แต่กำลังเรียนรู้
แม้คุณจะรู้สึกไม่สบอารมณ์กับคนที่พูด 2 ภาษาในประโยคเดียว แล้วรู้สึกถึงความดัดจริตอย่างไม่ถูกชะตา แต่ในงานวิจัยใหม่ๆ เผยให้เห็นว่า มันเป็นกลไกเรียนรู้ของผู้ที่สื่อสารแบบ 2 ภาษา (Bilingual) ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปถึง 90 เปอร์เซ็นต์ แม้ในกรณีเด็กๆ ที่อยู่ในช่วงวัยเรียนรู้ พวกเขาจะสื่อสารทำนองนี้เป็นชั่วครั้งชั่วคราว และเติบโตขึ้นเมื่อโครงสร้างทางภาษาทั้ง 2 แข็งแรงพอ
การเปลี่ยนคำที่ต้องการสื่อสารเป็นภาษาอื่นบ้างสลับไปมา ช่วยในการเรียกใช้คำได้รวดเร็วขึ้น อยู่ในบริบทประโยคที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม มันก็ไม่ใช่เรื่องดีที่คุณจะสื่อสารด้วยเทคนิคนี้อย่างเป็นทางการหรือพูดในที่ชุมชน ฝึกฝนในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนสนิทของคุณน่าจะดีกว่า พวกเขาคงเข้าใจว่าคุณกำลังฝึกภาษาอยู่มากกว่าคนอื่นๆ ที่คอยตั้งแง่จับผิด
-
เอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นเลย
ไม่มีอะไรดีกว่าการที่เอาตัวคุณเองไปอยู่ในที่ที่ไม่คุ้นเคยเลยสักนิด และการสื่อสารเป็นเหมือนห่วงยางเส้นเดียวที่จะช่วยให้คุณมีชีวิตรอด สมองคุณจะตั้ง Priority การเรียนรู้มาเป็นอันดับแรก
ที่สำคัญคุณไม่ได้เรียนรู้แค่ภาษา แต่อาจเห็นโครงสร้างทางอารยธรรมที่ถักทอเป็นผืนผ้าขนาดมโหฬารซึ่งล้วนมีอิทธิพลต่อการสื่อสารในสังคมนั้นๆ อยู่กับเจ้าของภาษาจริงๆ หรือทำงานกับพวกเขา พัฒนามันเป็นมิตรภาพ พัฒนามันเป็นความรัก
กำแพงภาษาถูกทำลายลงพร้อมๆ กับกำแพงของหัวใจ จะมาอายอยู่ใย หากมันทำให้คุณบินไกลกว่าคนอื่น
วันนี้เรียนภาษาที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 อะไรดี แต่อย่าลืมผนวกภาษาหัวใจเข้าไปด้วยล่ะ คุณอาจพูดได้ 100 ภาษาแต่ไม่อยู่ในใจใครเลย ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอยู่ไม่ใช่เหรอ? (น้ำเน่าเนอะ)
อ้างอิงข้อมูลจาก