เคยเจอเพื่อนที่ไม่ได้เจอกันเป็นสิบปีในที่ที่คาดไม่ถึงบางมั้ย หรือเคยเจอคนที่ใส่เสื้อผ้าเหมือนเราแป๊ะเวลาเดินบนท้องถนน หรือในที่ทำงานเดียวกันบ้างรึป่าว? หลายคนเจออย่างนี้เข้าไปคงรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องที่เหลือเชื่อซะจริง (หรือว่าจะเป็นบุพเพฯ?)
แต่สำหรับ Joseph Mazur นักคณิตศาสตร์ผู้เขียนหนังสือ “Fluke”แล้ว เรื่องบังเอิญพวกนี้ ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรเลย หากเราเข้าใจหลักการความน่าจะเป็นทางคณิตศาสตร์
ตัวอย่างเช่น โอกาสที่คนสองคนเป็นใครก็ไม่รู้จะมีวันเกิดวันเดียวกันมีความเป็นไปได้น้อยมาก หรือในทางกลับกัน โอกาสที่เขาทั้งสองจะมีวันเกิด “ต่างกัน” มีมากถึง 99.7% แต่เมื่อค่อยๆ เพิ่มจำนวนคนเข้าไป ความ “เป็นไปไม่ได้” ก็จะน้อยลงเป็นทวีคูณ
ด้วยตัวอย่างเดิม หากเพิ่มคน 15 คนเข้าด้วยกัน ความเป็นไปไม่ได้ก็จะลดลงเหลือ 74.7% และหากเพิ่มจำนวนเป็น 23 คน ความเป็นไปไม่ได้ก็เหลือแค่ 50% และเมื่อเพิ่มเป็น 60 คน ความเป็นไปไม่ได้ก็แทบเป็นศูนย์ พูดง่ายๆ ว่าในบรรดาคน 60 คน มีโอกาสเกือบ 100% ที่คน 1 คู่ในนั้นจะมีวันเกิดตรงกัน
อย่าว่าแต่เรื่องบังเอิญแค่นี้่ นักคณิตศาสตร์รายนี้ยังกล่าวว่า โอกาสที่ลิงจะกดคีย์บอร์ดเป็นภาษาคนอ่านรู้เรื่องยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ หากใช้ลิงหลายตัว และใช้ความพยายามหลายครั้ง ซึ่งด้วยกระบวนการนี้ก็จะทำให้เกิด “ความบังเอิญ” สูงขึ้น จนเราแปลกใจ (ทั้งๆ ที่มันไม่ควรจะแปลกใจ)
แล้วทำไมคนเราจึงคิดว่า เรื่องบังเอิญมันเป็นสิ่งที่น่าแปลกใจเสียเหลือเกิน? ตรงนี้ คุณ Mazur บอกว่านั่นเป็นเพราะเราไม่เข้าใจคำว่า ความน่าจะเป็น เหมือนอย่างที่ FiveThirtyEight ประเมินว่าโอกาสที่ ฮิลลารี คลินตัน จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อยู่ที่ราว 70% ส่วนโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ที่ราว 30% พอคนเห็นตัวเลขนี้ ก็จะนึกเอาว่า คลินตันคงจะชนะอย่างถล่มทลาย แต่เขากลับบอกว่า ต่อให้มีความน่าจะเป็นแค่ 30% แต่โอกาสที่ ทรัมป์จะชนะคลินตันได้ง่ายๆ ก็ยังมีอยู่
และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เรามักจะเลือกที่จะใส่ใจเป็นบางเรื่อง พูดง่ายๆ ว่า ถ้าเป็นเรื่องบังเอิญล่ะก็ เรามักจะสังเกต และจดจำได้เสมอ แต่เราไม่เคยใส่ใจกับความไม่บังเอิญที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
อย่างเรื่องวันเกิด คนที่จะเกิดตรงกันกับเรามีน้อยมากก็จริง แต่เมื่อเรารู้จักคนมากขึ้นโอกาสที่เราจะเจอคนเกิดวันเดียวกับเรามันก็มีมากตาม และพอเราเจอเข้าสักคนก็จะรู้สึกว่ามันบังเอิญจนน่าแปลกใจ แต่ความจริงแล้วนั่นเป็นเพราะเราเพิ่มความน่าจะเป็นให้กับตัวเองเรื่อยๆ โดยลืมสังเกตไปว่าเราต้องผ่านคนมากี่คนต่อกี่คน ถึงจะเจอคนที่มีวันเกิดตรงกันสักคน
ที่มา: Weforum.org