“Love isn’t something natural. Rather it requires discipline, concentration, patience, faith, and the overcoming of narcissism. It isn’t a feeling, it is a practice.”
Erich Fromm
เราเคยรู้สึกว่าความรักเป็นเรื่องธรรมชาติ เป็นเรื่องของความรู้สึก ‘คลิก’ เวลาที่เราคลิกกับใครสักคน ตกหลุมรักใครสักคน Erich Fromm นักปรัชญาชาวเยอรมันเห็นแย้งว่า ความรักมันไม่ใช่เรื่องธรรมชาติขนาดนั้น แต่มันคืออะไรที่ต้อง ‘บริหารจัดการ’ ความรักต้องการวินัย การเอาใจใส่ น้ำอดน้ำทน ศรัทธา และการเอาชนะ ‘การหลงตัวเอง’
‘ภาวะหลงตัวเอง?’ เป็นคำที่น่าสนใจว่าถ้าเราจะรักใครซักคน เราต้องเอาชนะการหลงตัวเองด้วยหรอ การที่เราบอกว่า ‘ฉันนี่มันก็เพอร์เฟ็กต์ในระดับหนึ่ง’ เราคนธรรมดาๆ ที่ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเพอร์เฟ็กต์อะไรขนาดนั้นนี่นับเป็นการหลงตัวเองมั้ยนะ หรือว่าจริงๆ ตามคำพูดของ Fromm เองก็หมายถึงว่าเราทุกคนต่างก็มีภาวะหลงตัวเองกันอยู่ สิ่งที่เราทำคือการบริหารจิตบริหารใจ เพื่อเอาชนะภาวะหลงตัวเองที่เราต่างมี เพื่อที่จะ ‘รัก’ ใครอีกคน
คำว่ารักกับหลง ดูเป็นเส้นแบ่งของปฏิบัติการทางความรักของมนุษย์เรา ในระดับเบื้องต้น การคัดแยกระหว่างความรู้สึกว่าเรากำลังรักคนๆ นี้หรือหลงคนๆ นี้ ความรักและความหลงดูจะเป็นคำนิยามแยกแยะได้ยาก ในตำนานนาร์ซิสซัส ชายหนุ่มผู้ทะนงในรูปลักษณ์ถูกสาปให้ตกหลุมรักเงาสะท้อนของตัวเองและกลายเป็นคำนิยามของความหลงตัวเอง สิ่งที่นาร์ซิสซัสเป็นคือการหลงใน ‘ภาพสะท้อน’ จนต้องจบชีวิตลงในท้ายที่สุด ความยากของ ‘ความรัก’ จึงยิ่งซับซับซ้อนขึ้นอีกขั้น คือในที่สุดแล้วเรากำลังรักคนคนอื่น หรือรักการที่เราเป็นเงาสะท้อนที่ให้คนอื่นคอยจ้องมองและกำลังปรารถนาตัวเราอยู่ เพราะว่านี่ไงฉันออกจะสมบูรณ์แบบขนาดนั้น ทำไมเธอถึงไม่เลือกฉัน ทำไมไม่มีฉันเพียงคนเดียว
การหลงตัวเองในระดับทั่วๆ ไปอาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว นักจิตวิเคราะห์บอกว่าเราต่างเรียนรู้ตัวตนของตัวเองโดยมีประกายของความหลงตัวเองแฝงอยู่เสมอ เรามองกระจกแล้วมักเห็นภาพที่สมบูรณ์แบบของตัวเราเอง เรามักรู้สึกว่า แหม เรา (ในกระจก) นี่มันช่างใช้ได้ ไม่ธรรมดา
นักจิตวิทยาบอกว่าปัญหาของอาการหลงตัวเองคือ บางครั้งเรามีคนอื่นเพื่อสะท้อนถึง ‘ความเหมาะสม’ หรือความคูลของตัวเราเอง เรามีคนรักในระดับนี้ สมฐานะ สมหน้าตาของเรา
ความรักเลยเป็นเรื่องซับซ้อนและอาจจะเป็นไปตามที่ Fromm บอกว่าเราต้องเอาชนะ ‘อาการหลงตัวเอง’ คือการเรียนรู้ว่าความรักเป็นเรื่องของคนสองคน ไม่ใช่แค่เป็นเพียงภาพสะท้อนของใครคนใดคนหนึ่ง ‘เป็นแค่เรื่องของฉัน (all about me)’ เราต้องการคนอีกคนไม่ใช่เพื่อยืนยันตัวตนของตัวเราเอง
การหลงตัวเองมีหลายระดับ และถ้าเราหลงตัวเองมากไปอาจนำไปสู่ความทุกข์ทางความสัมพันธ์ได้ จากการศึกษาพบว่าคนหลงตัวเองมีแนวโน้มที่มีเสน่ห์เป็นพิเศษ เป็นคนที่สามารถเริ่มความสัมพันธ์ได้ง่ายๆ แต่สุดท้ายมักจะไม่สามารถรักษาให้ความสัมพันธ์นั้นได้ราบรื่นไปจนตลอดรอดฝั่ง ไอ้อาการ ‘ทุกอย่างคือเรื่องของฉัน’ เธอต้องการฉัน ฉันเปนคนพิเศษ นี่แหละที่ทำให้ความสัมพันธ์ที่ควรจะมีคนสองคนอยู่ในนั้นมีปัญหา
ความรักเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นสิ่งที่เราต้องคอยทบทวนเสมอว่า ในความรู้สึกของเราตอนนี้ เรากำลังรู้สึกอะไร เรากำลังรักคนอื่น หรือเรากำลังคิดว่าเราเป็นคนที่พิเศษที่ควรคู่กับอีกฝ่ายอยู่
แต่ก็อย่างที่นักปรัชญาชาวเยอรมันว่า ความรักคือการฝึกฝนการประคับประคองความรู้สึกของคนสองคน ซึ่งส่วนที่ยากจากคำแนะนำนั้น คือการที่เราต้องเอาชนะตัวเอง และโอนย้ายความหลงและเรียนรู้ที่จะรักคนอื่น อย่างสุขภาพดียิ่งขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก