“จดจำกันไว้ในวันที่ต้องจากลา”
เมื่อความตายพาใครคนหนึ่งไป ความตายอาจจะพรากลมหายใจ พรากเนื้อหนังอันอบอุ่นของคนที่เรารักไป แต่บางครั้ง ความตาย อาจเป็นสิ่งที่ทำให้คนที่เรารักยิ่งนั้น ยิ่ง ‘ปรากฏตัว’ เด่นชัดและสวยงามมากขึ้น
คงอย่างนี้ละมั้ง เพลง ‘Remember Me’ ในเรื่อง Coco ผู้ที่ลาจากจึงบอกกับคนอยู่ว่า อย่าให้การจากลานี้ทำให้เสียใจเลย สิ่งที่สำคัญคือการจดจำกันไว้ การจากลาและการพรากจากด้วยความตายเป็นสิ่งสามัญของมนุษย์ ในทุกวัฒนธรรมจึงมีพิธีกรรมที่ว่าด้วยความตายเพื่อช่วยให้มนุษย์เราสามารถจัดการกับความเจ็บปวดอันยิ่งใหญ่ในชีวิตนี้ได้ เทศกาล Día de Muertos—The Day of the Dead เป็นอีกหนึ่งในเทศกาลที่ช่วยให้เรารับมือกับการจากไปได้ คนเหล่านั้นไม่ได้หายไปไหน แค่ไปอยู่อีกโลกหนึ่ง รอวันพิเศษเช่นนี้ที่จะย้อนกลับมา หรือรอพบเราอยู่ที่โลกอีกด้าน
ไม่ว่าโลกหลังความตายจะมีจริงหรือไม่ แต่ความจริงคือเมื่อใครคนหนึ่งลากจากโลกนี้ไป สิ่งที่คนเหล่านั้นทิ้งไว้คือตัวตนและเศษเสี้ยวบางส่วน เศษเสี้ยวที่คงยังเหลือไว้ในความทรงจำหรือกระทั่งทิ้งร่องรอยไว้ในร่างกายของเรา
เศษเสี้ยวของกันและกัน
จริงอยู่ว่าการสูญเสียใครสักคนเป็นเรื่องเจ็บปวด แต่ความเจ็บปวดเป็นเรื่องแปลกประหลาดสำหรับมนุษย์ เราเผชิญความเศร้าที่ท่วมท้นเหมือนกับปากแผลที่ฉีกขาด แต่แล้วหัวใจของเราก็ค่อยๆ เยียวยาตัวเอง จากความเศร้ากลายเป็นความงดงาม เมื่อเรายอมรับได้ว่า คนที่เรารักยิ่งนั้นแท้จริงแล้วยังคงอยู่กับเราเสมอ ตัวตนของเขาหรือเธอนั้นเพียงแค่ย้ายไปสู่สถานะใหม่…เข้าไปสู่ความทรงจำ
คำว่า In Memoriam ที่เราใช้ในการแสดงความอาลัยหรือจารึกหน้าหลุมศพจึงมีความหมายทางความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง In Memoriam เป็นภาษาละตินแปลว่าการย้ายไปสู่ความทรงจำ (into memory) เป็นการย้ำเตือนให้กับคนที่ยังอยู่ว่า ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนรูปร่างของคนคนหนึ่งเท่านั้น
นักคิดบางเชื่อว่าความทรงจำเป็นสิ่งที่ไม่เคยหายไปไหน ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อไหร่ความทรงจำในลิ้นชักเก่าๆ จะถูกกระตุ้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ดูเหมือนว่า ตัวตนของผู้คนที่เคยเข้ามาในชีวิตเราก็จะเป็นแบบเดียวกัน ในที่สุดแล้วเราจะพบว่าตัวตนของเรามักมีคนอื่นปรากฏอยู่ในนั้นเสมอ คำบางคำที่เราชอบใช้อาจเป็นคำติดปากของใครอีกคน รสชาติอาหารบางอย่างทำให้เราคิดถึงอาหารจานโปรดของใครสักคน กลิ่นหญ้าสดๆ และดินในหน้าฝนชวนให้เรานึกถึงเพื่อนเล่นในวัยเด็ก
ตัวตนในเวอร์ชั่นที่ ‘ดีที่สุด’
มีคำกล่าวว่าเมื่อใครคนหนึ่งจากโลกไป ตัวตนของคนคนนั้นกลับชัดเจนมากขึ้น และกลายเป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด
ความทรงจำคือ ‘เรื่องเล่า’ (narrative) ประเภทหนึ่ง เรื่องเล่ามีการคัดเลือก ตัดต่อ และร้อยเรียง เมื่อเกิดการสูญเสียขึ้น สังคมมักจะมีพิธีกรรมที่เปิดโอกาสให้คนรายรอบมาร่วมกัน นอกจากจะเพื่อแสดงความโศกเศร้าและระบายความรู้สึกแล้ว การมารวมตัวกันนี้นำไปสู่การ ‘เล่าเรื่อง’ เกี่ยวกับคนที่จากไป ในงานศพจึงอวลไปด้วยเรื่องราวต่างๆ มากมาย หลายครั้งที่ในงานกลั้วไปด้วยเสียงหัวเราะ เราเริ่มจับต้นชนปลายและมองเห็นตัวตนของคนๆ นั้นชัดเจนขึ้น เราจดจำภาพของคนที่จากไปได้ชัดเจนยิ่งกว่าตอนที่ยังมีลมหายใจ
Robert Neimeyer นักวิจัยทางจิตวิทยาบอกว่าการโศกเศร้า (grief) คือการที่เราค่อยๆ หาความหมายบางอย่าง จัดการและปะติดปะต่อความหมายเหล่านั้นเข้าด้วยกัน หัวใจของการโศกเศร้าคือการค่อยๆ ประกอบเรื่องเล่าต่างๆ ขึ้นมาใหม่ (reconstruction of narrative)
ดังนั้นในงานศพ พิธีกรรมหนึ่งคือการกล่าวคำอาลัย คำอาลัยมักประกอบขึ้นด้วยเรื่องราวดีงาม เป็นเรื่องราวของคนคนนั้นตั้งแต่ต้นจนจบ เรื่องเล่าที่เพื่อนฝูงและญาติพี่น้องรวมตัวกันบนความเศร้า เวลาเราพูดถึงผู้ล่วงลับก็มักจะเป็นเรื่องราวที่ชวนให้เรายิ่งรักคนคนนั้น หลายครั้งในความเศร้าจึงมักมีเสียงหัวเราะหรือความรู้สึกดีๆ เจือไปกับรอยน้ำตาและความโศกเศร้าเสมอ
สุดท้าย คงอย่างที่เพลงร็อคบอกกับเรา สิ่งที่ดีที่สุดที่เราเหลือคือความฝันและความทรงจำ ในขณะที่อีกเพลงบอกว่าอย่ามองย้อนไปด้วยความเกรี้ยวกราด ชีวิตเรามันก็เท่านี้ และเจ้าความทรงจำนี่แหละที่จะช่วยทำให้เรารู้สึกดีขึ้นทุกครั้งเมื่อเราขุดมันขึ้นมา
พลังพิเศษของ Coco คือการให้คนที่จากลาบอกอะไรบางอย่างให้คนที่ยังอยู่ได้ คำว่า ‘จดจำกันไว้’ คงไม่ได้มีความหมายแค่จำกันได้เพียงอย่างเดียว แต่ในคำขอนั้นคงจะมีคำถามว่า เราอยากจะถูกจดจำแบบไหน เมื่อเราจากโลกนี้ไปแล้ว
แม้ว่าร่างกายของเราจะไม่ได้อยู่เคียงข้างอีกต่อไป แต่ขอให้ตัวตนของเราที่อยู่ในหัวใจของเธอ เป็นเวอร์ชั่นที่ดีที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก