อีกเพียง 48 ชั่วโมง มนุษยชาติก็จะได้เริ่มต้นภารกิจวาดเส้นขอบฟ้าของอวกาศขึ้นมาใหม่ เพราะจรวดที่บรรทุกยานสำรวจ Parker Solar จะถูกปล่อยออกจากฐาน ที่แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ เพื่อขึ้นไปสำรวจอวกาศในจุดที่มนุษยชาติไม่เคยไปถึงมาก่อน – ดวงอาทิตย์
ภารกิจของยานสำรวจที่ตั้งชื่อตามนักวิทยาศาสตร์ Eugene Parker ผู้ค้นพบลมสุริยะ ก็คือการบินเข้าไป ‘แตะ’ ดวงอาทิตย์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าลงจอดบนพื้นผิว เพราะมันทำไม่ได้อยู่แล้ว! แต่เป็นการสำรวจชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ที่ห่างจากพื้นผิวราว 3.8 ล้านไมล์ ที่เรียกกันว่าชั้นโคโรน่า (ใกล้กว่ายานลำอื่นๆ ที่เคยบินไปถึง 7 เท่า) เพื่อทำความเข้าใจดาวฤกษ์อันเป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะดวงนี้ ที่อาจนำไปปรับใช้ทำความเข้าใจความลับอื่นๆ ของจักรวาลด้วย
หลายคนอาจสงสัยว่า เข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์ขนาดนั้นแล้วยานจะไม่ละลายเหรอ? NASA ระบุผ่านเว็บไซต์ว่า ยานลำนี้จะมีเกราะกันความร้อนหนา 4 นิ้ว ทำให้สามารถทนความร้อนได้สูงถึงกว่า 2,500 องศาฟาเรนไฮต์ (ราว 1,400 องศาเซลเซียส) เพียงพอที่จะปฏิบัติภารกิจสำเร็จ
แต่กว่าที่ยาน Parker Solar จะไปถึงชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์ ก็ต้องรอถึง 7 ปีด้วยกัน กว่าจะถึงวันนี้ก็คงต้องภาวนาให้ภารกิจประสบความสำเร็จ เพราะไม่แน่ว่า เราอาจได้ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับจักรวาล ดวงดาวของเรา ไปจนถึงกำเนิดของชีวิต ก็เป็นได้
อ้างอิงจาก
https://www.theverge.com/2018/8/8/17660274/nasa-parker-solar-probe-sun-corona-atmosphere-solar-wind
https://www.nasa.gov/content/goddard/parker-solar-probe-humanity-s-first-visit-to-a-star
#Brief #TheMATTER