ที่ผ่านมา การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 มาตรา 77 ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐ ต้องจัด ‘รับฟังความคิดเห็นประชาชน’ ก่อนจะออกกฎหมายใดๆ มักเป็นไปในเชิงพิธีกรรรมเสียมากกว่า บางเวทีรับฟังความคิดเห็นมีแต่ตัวแทนภาครัฐ หรือการเปิดรับฟังความเห็นผ่านเว็บไซต์ หลายครั้งก็มีคนมาแสดงความคิดเห็นแค่หลักหน่วย (อันนี้เรื่องจริง บางฉบับมีแค่คนเดียว)
แต่ สนช.กำลังจะสร้างสถิติใหม่ขึ้นมา เมื่อ ‘ร่างกฎหมายแก้ไขกฎหมาย กกต.’ มีผู้มาร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านทางเว็บไซต์ของ สนช.อย่างล้นหลาม ถึงกว่า 7,700 พันคน ทุบสถิติก่อนหน้านี้ คือ ‘ร่างกฎหมายเทียบตำแหน่งข้าราชการทหารกับพลเรือน’ ที่มีผู้ร่วมแสดงความเห็นสูงสุด 299 คน ถึง 25 เท่า! ทั้งที่ยังมีเวลาให้แสดงความเห็นถึง 18 ส.ค.นี้ เหลืออีกตั้งหลายวัน (ดูที่นี่ https://bit.ly/2AZW9i8)
เนื้อหาของร่างแก้ไขกฎหมาย กกต. ที่สมาชิก สนช. 36 คนร่วมลงชื่อเสนอ คือการล้ม ‘ผู้ตรวจการเลือกตั้ง’ จำนวน 616 คน ที่ กกต.ชุดปัจจุบันเลือกเอาไว้แล้ว และให้ กกต.ชุดใหม่เข้ามาเลือกแทน โดยจะให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลขึ้นมาช่วยทำหน้าที่ ซึ่งเนื้อหาเป็นเรื่องเชิงเทคนิคกฎหมายมากๆ น่าสนใจว่าเหตุใดถึงมีคนให้ความสนใจมากขนาดนี้
โดยยอด ‘ผู้เห็นด้วย‘ กับความพยายามของสมาชิก สนช.กลุ่มนี้ มีถึง 89% จากผู้มาร่วมแสดงความเห็นทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม หากใครเคยเข้าไปลองใช้เว็บไซต์รับฟังความคิดเห็นของ สนช.ดูดีๆ จะพบกับจุดอ่อนใหญ่ประการหนึ่ง นั่นคือการที่ให้ผู้ร่วมแสดงความเห็นทุกคน โหวตว่าเห็นด้วย-ไม่เห็นด้วย ‘กี่ครั้งก็ได้’ (ไม่เชื่อลองเข้าไปทำกันดู) นอกจากนี้ เมื่อลองสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่มาแสดงความเห็นดูดีๆ จะพบว่าเสียงเห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยค่อนข้างสูสีกัน แต่ทำไมคะแนนโหวตกลับต่างกันราวฟ้ากับเหว?
ก็เลยไม่รู้ว่า มีประชาชนจำนวนมากสนใจเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายนี้อย่างจริงๆ จังๆ หรือมีผู้ช่วยลับคอยกดโหวตเห็นด้วยรัวๆ แต่ไม่ขอแสดงความคิดเห็น กันแน่
อ้างอิงจาก
https://www.posttoday.com/politic/news/560366
http://web.senate.go.th/w3c/senate/secretariat.php?url=content&id=844
#Brief #TheMATTER