เรามักได้ยินคำพูดทำนองว่า เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม หรือการเข้าประเทศไหนก็ต้องปรับตัวต่อธรรมเนียมปฏิบัติของประเทศนั้นๆ ให้ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ประเด็นนี้ก็ค่อนข้างมีรายละเอียดที่ลึกซึ้ง และชวนให้เกิดข้อถกเถียงอยู่เหมือนกัน อย่างกรณีที่เกิดในสวิตเซอร์แลนด์
เรื่องราวคือ สามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งเป็นชาวมุสลิม ถูกเจ้าหน้าที่ของสวิตเซอร์แลนด์ปฏิเสธการให้สถานะพลเมือง โดยเจ้าหน้าที่อ้างอิงว่าสามีภรรยาคู่นี้ไม่ยอมจับมือทักทายกับคนต่างเพศ ขณะเดียวกัน พวกเขาก็ประสบปัญหาในระหว่างที่ตอบคำถามจากคนต่างเพศด้วยเหมือนกัน
The Guardian และ BBC รายงานถึงคำยืนยันจากทางการสวิตเซอร์แลนด์ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ปฏิเสธการให้สถานะพลเมืองจากเกณฑ์เรื่องความแตกต่างทางศาสนา หากแต่ว่าตัดสินจากการที่พวกเขาเพราะ ‘ขาดความเคารพในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ’ สอดคล้องกับ Pierre-Antoine Hildbrand ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการที่มีส่วนตั้งคำถามกับคู่สามีภรรยา ที่ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วยกับการตัดสินครั้งนี้
ท่ามกลางความสงสัยถึงหลักเกณฑ์การให้สถานะพลเมือง ทางการของสวิตเซอร์แลนด์ยังได้ชี้แจงว่า เหตุผลหลักๆ ที่ไม่ให้สถานะพลเมืองกับสามีภรรยาคู่นี้ก็เพราะทั้งสองคนไม่มีคุณสมบัติที่จะผ่านเกณฑ์การให้สถานะ ทั้งนี้ คนที่จะได้รับสถานะเป็นพลเมืองสวิตเซอร์แลนด์นั้น จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมเนียมของสวิตเซอร์แลนด์ให้ได้
ในมุมของคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิเสธสถานะครั้งนี้ มองกันว่า ชาวมุสลิมหลายๆ คนยึดหลักปฏิบัติบางอย่างที่จะไม่จับมือคนต่างเพศจริงๆ นะ พร้อมกับเห็นว่าการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่เองก็ไม่ค่อยยุติธรรมเท่าไหร่
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2016 ก็เคยมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการจับมือในสวิตเซอร์แลนด์มาแล้ว เมื่อทางการเคยออกกฎให้นักเรียนต้องจับมือกับครูหลังเลิกเรียนเพื่อแสดงความเคารพตามธรรมเนียม หลังจากที่นักเรียนชาวซีเรียสองคนไม่ยอมทำตาม เพราะมองว่าเป็นสิ่งที่ผิดต่อหลักปฏิบัติทางศาสนาของพวกเขา
กรณีที่เกิดขึ้นนี้ก็ช่วยให้เราเห็นถึงข้อถกเถียงที่ค่อนข้างสำคัญพอสมควร ทั้งคำถามต่อเกณฑ์การให้สถานะพลเมือง รวมถึง มุมมองและการให้ความหมายต่อการจับมือ (และการไม่จับมือ) ที่แตกต่างกันซึ่งประเด็นเหล่านี้ก็น่าคิดกันต่อไม่น้อยเลย
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.co.uk/news/world-europe-45232147
#Brief #TheMATTER