คอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ในทุกๆ สังคม การจะแก้ปัญหานี้ได้ แค่ฝากความหวังให้กับผู้มีอำนาจอย่างเดียวคงจะไม่พอ แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศให้มาเป็นพลังในการช่วยผลักดันด้วย ถึงจะประสบความสำเร็จ หรืออย่างน้อยๆ ก็เริ่มต้นขึ้นได้จริง (ไม่รวมถึงว่า บางครั้งตัวผู้มีอำนาจที่ใครๆ ต่างก็ฝากความหวังนั่นแหล่ะ ที่เป็นตัวการในการคอร์รัปชั่นเสียเอง)
ดังเช่นความพยายามในการผลักดันมาตรการปราบโกงรอบใหม่ของรัฐบาลโคลอมเบีย ที่ท้ายสุดต้องจบลงด้วยความล้มเหลว หลังจำนวนประชาชนที่ออกมาร่วมลงประชามติมีไม่มาก ขาดไปเพียง 4.7 แสนเสียงเท่านั้น ก็จะถึง 12.1 ล้านเสียง ขั้นต่ำของการรับรองมาตรการดังกล่าว (ต้องการเสียง 1/3 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด 36.3 ล้านคน)
“99% ของผู้ที่มาร่วมโหวต เห็นด้วยกับความริเริ่มนี้ น่าเสียดายที่มันมีจำนวนไม่มากพอ” อิวาน ดูเก้ ปธน.โคลอมเบีย กล่าวอย่างเสียดาย
“ยังขาดพลังสนับสนุนอีกนิดเดียว แต่เราจะไม่หยุดที่จะเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไป” แองเจลิกา โลซาโน ส.ว. จากพรรคกรีน หนึ่งในผู้สนับสนุนมาตรการเหล่านี้อย่างแข็งขันให้สัญญา
สำหรับมาตรการปราบโกงดังกล่าว มีเนื้อหา 7 ข้อ ดังนี้
1.) กำหนดวาระดำรงตำแหน่ง ส.ส. และ ส.ว. ได้ไม่เกิน 3 วาระ
2.) ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินทั้งหมด
3.) ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเปิดเผยการลงมติทั้งหมด
4.) ให้รัฐบาลท้องถิ่นและส่วนกลางเปิดเผยแผนการใช้งบประมาณทั้งหมด
5.) ผู้ที่ศาลตัดสินให้ลงโทษในคดีคอร์รัปชั่น จะต้องเข้าคุก และไม่ได้รับการอภัยโทษ
6.) โครงการใดที่ศาลตัดสินว่ามีการคอร์รัปชั่น ให้ถือว่าสัญญาดังกล่าวเป็นโมฆะ
7.) ลดเงินเดือนสมาชิกรัฐสภา จากมากกว่าเงินเดือนขั้นต่ำ 40 เท่า เหลือ 25 เท่า
เบื้องหลังของเหตุที่มีโหวตเตอร์ชาวโคลอมเบียมาลงคะแนนไม่มากนัก ส่วนหนึ่งเกิดเพราะนักการเมืองจำนวนหนึ่งคัดค้าน ทำให้ฐานเสียงไม่ออกมาลงคะแนน อีกส่วนเกิดจากการที่ภาครัฐจัดประชามติได้ไม่ดีพอ ทำให้คนจำนวนไม่น้อยเลือกที่จะอยู่กับบ้าน
เคยมีการประเมินกันว่า อัตราการคอร์รัปชั่นระหว่างปี 1991-2011 ของโคลอมเบีย มีขนาดใหญ่โตเทียบเท่ากับ 4% ของ GDP ของประเทศ เลยทีเดียว
อ้างอิงจาก
https://www.afp.com/en/news/205/colombians-fail-approve-tough-anti-corruption-measures-doc-18m53i4
#Brief #TheMATTER