หลังจาก UN ออกรายงานระบุว่า นายทหารระดับสูงของกองทัพพม่า 6 คน รวมถึง พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผบ.ทหารสูงสุดของพม่า (ชายในภาพประกอบ) ควรถูกดำเนินคดีในข้อหา ‘ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์’ ชาวโรฮิงญา ที่มีผู้เสียชีวิตกว่า 7 พันคน หลายหมู่บ้านถูกเผ่า จนชาวโรฮิงญาต้องอพยพข้ามพรมแดนไปบังคลาเทศกว่า 7 แสนคน
และอย่างที่รู้กันว่า ในวันเดียวกันทางเฟซบุ๊กได้แบนบัญชีส่วนตัวหรือเพจของนายทหารระดับสูงหลายราย รวมถึงเพจของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย
ล่าสุด ผู้แทนเฟซบุ๊กได้ตอบอีเมล์หลายฉบับถึงผู้สื่อข่าวนิตยสารไทม์ ถึงสาเหตุที่แบนการใช้งาน 18 บัญชีส่วนตัว และ 52 เพจ ที่เกี่ยวข้องกับนายทหารระดับสูงในกองทัพพม่าว่า เป็นผลมาจากการตรวจสอบภายใน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นปีนี้ และพบว่า บัญชีส่วนตัว-เพจเหล่านั้น (ซึ่งทำตัวให้คนเข้าใจผิดว่าไม่เกี่ยวข้องกัน) ทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ ในการโปรทหารพม่า และปล่อยข้อมูลเท็จหรือเนื้อหาที่เป็นการใส่ความชาวโรฮิงญา โดยเฟซบุ๊กได้อ้างถึงข้อมูลการลงทะเบียน การแชร์ IP Address หรือการใช้แอดมินคนเดียวกันของเพจต่างๆ เหล่านั้น
ทั้งนี้ เนื้อหาโพสต์ในบรรดาเพจเหล่านั้นกว่าครึ่ง ถ้าไม่ปฏิเสธความรับผิดชอบของกองทัพพม่าต่อเหตุรุนแรง กล่าววิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลพม่าของออง ซาน ซูจี ก็มักย้ำเรื่อยๆ ว่าโรฮิงญาไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยในพม่า เป็นผลให้เฟซบุ๊กอ้างเรื่อง “โฆษณาชวนเชื่อแฝงอย่างเป็นระบบ” (constituted covert propaganda) มาสั่งแบน
เฟซบุ๊กยังให้ข้อมูลกับไทม์ว่า ขบวนการ propaganda ที่เชื่อมโยงกับกองทัพพม่านี้ สามารถเข้าถึงผู้ใช้งานเฟซบุ๊กได้สูงสุด 12 ล้านคน หรือคิดเป็น 2/3 ของผู้ใช้งานเฟซบุ๊กในพม่าทั้งหมด
และแม้จะออกแอ็กชั่นเร็วขนาดนี้ แต่ทางเฟซบุ๊ก ก็ถูกกล่าวโทษจากรายงานของ UN เรื่องโรฮิงญาด้วยเช่นกันว่า เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ความเกลียดชังต่อชาวโรฮิงญา และตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นค่อนข้างช้า แถมยังไม่มีประสิทธิภาพ
อ้างอิงจาก
http://time.com/5383780/myanmar-facebook-propaganda-rohingya/
https://www.bbc.com/thai/international-45321092
https://thematter.co/brief/news-1535367564/58345
#Brief #TheMATTER