ในแต่ละประเทศ ต่างก็มีกฎหมายของแต่ละแห่งแตกต่างกันไป โดยเฉพาะบางแห่งที่เป็นรัฐมุสลิม อย่างประเทศมาเลเซีย ก็ได้มีการใช้กฎหมายชารีอะห์ หรือกฎหมายตามหลักศาสนาอิสลาม ที่มีการลงโทษแตกต่างจากกฎหมายของประเทศทั่วไปด้วย
ศาลมาเลเซีย มีคำสั่งลงโทษด้วยการโบยผู้หญิง 2 คน อายุ 22 ปี และ 32 ปี จำนวน 6 ครั้ง หลังจากทั้งคู่ถูกจับได้เมื่อเดือนเมษายนว่า ทั้งสองพยายามมีเพสสัมพันธ์กัน บนรถที่จอดอยู่ในสวนสาธารณะรัฐตรังกานู ทางเหนือของกรุงกัวลาลัมเปอร์ ซึ่งการโบยนี้จะถูกทำต่อหน้าพยานกว่า 100 คน ในบริเวณที่สาธารณะ และทั้งสองยังต้องจ่ายค่าปรับ 3,300 มาเลเซียริงกิต (ประมาณ 25,000 บาท)
นักสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ผู้หญิงในมาเลเซีย เคยถูกลงโทษจากการกระทำความผิดทางเพศมาแล้วหลายครั้ง แต่นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงถูกเฆี่ยนจากการพยายามมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นการลงโทษที่น่าตกใจ และ “กรณีนี้แสดงถึงการถดถอยของสิทธิมนุษยชน ไม่เพียงสำหรับกลุ่ม LGBT แต่เพราะเป็นการลงโทษทางร่างกายที่มีผลกระทบต่อทุกคน”
แม้แต่ส.ส. บางส่วนเองก็ไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายลงโทษนี้ Charles Santiago หนึ่งในสมาชิกสภาของรัฐเซอลาโงร์ แสดงความไม่เห็นด้วยบนทวิตเตอร์ว่า การลงโทษโดยมีคน 100 คนจับตามอง เป็นการกระทำที่น่าตกใจและน่าอาย “เราต้องหยุดโจมตีกลุ่ม LGBT หยุดรุกร้ำพื้นที่ส่วนตัวพวกเขา หยุดทำร้ายพวกเขา เราควรจะเติบโตขึ้น และเรียนรู้ที่จะกลมกลืนกับความแตกต่าง”
Khairy Jamaluddin ส.ส.ของเริมเบาเองก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน โดยวิจารณ์ผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “อิสลามสอนให้เราดูแลศักดิ์ศรีของมนุษย์ทุกคน” และการเมตตาควรเป็นหนึ่งทางในการลงโทษ
การโบยตีผู้หญิงเป็นเรื่องต้องห้ามในกฎหมายแพ่งของมาเลเซีย แต่ถูกอนุญาตให้ใช้ได้ในกฎหมายอิสลามในบางรัฐที่มีการใช้กฎหมายร่วมกัน ซึ่งแม้ส.ส.บางรัฐ และนักสิทธิฯ บางส่วนจะไม่เห็นด้วย แต่เจ้าหน้าที่ในรัฐตรังกานูก็อ้างว่าการลงโทษแบบชารีอะห์นั้นยุติธรรม โดย Satiful Bahri Mamat สมาชิกสภาผู้บริหารของรัฐกล่าวว่ามันเป็นการให้ความรู้มากกว่าการทำร้าย และการลงโทษด้วยการโบยในที่สาธารณะมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็น ‘บทเรียนสำหรับสังคม’
https://www.theguardian.com/world/2018/sep/04/malaysian-mps-condemn-caning-lesbian-sex
https://www.bbc.co.uk/news/world-asia-45395086
#Brief #TheMATTER