แต่ละคนมีอดีตแย่ๆ ที่อยากลืมกันบ้างไหม? เชื่อว่าทุกคนคงมีวิธีในการ ‘ลืมอดีต’ ที่แตกต่างกัน
แล้วถ้าอดีตนั้นมันไปอยู่ในโลกออนไลน์ ที่ใครๆ ก็สามารถหาเจอได้ผ่านการคลิ๊กไม่กี่ครั้ง แถมยังคงอยู่ไปตลอดกาลล่ะ จะทำอย่างไร? หลักการเรื่อง ‘สิทธิที่จะถูกลืม’ (right to be forgotten) จึงถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อไม่ให้ใครคนใดคนหนึ่ง ถูกอดีต ‘กักขัง’ ไว้ ไม่ให้ได้ใช้ชีวิตไปข้างหน้า
หลายๆ ชาติเคยวางบรรทัดฐานการใช้สิทธิที่จะถูกลืมไว้ ด้วยการให้บริการเซิร์ชเอ็นจิ้นหรือเว็บไซต์ต่างๆ ถอดการค้นหาหรือ URL ของผู้ใช้สิทธินี้ออกจากฐานข้อมูลออนไลน์
แต่ในวันพรุ่งนี้ จะมีคดีสำคัญที่อาจทำให้สิทธิ์ที่จะถูกลืมถูกขยายให้กว้างขวางมากขึ้น ทว่าผู้ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด เตือนว่าอาจเป็นดาบสองคม เพราะจะทำให้ผู้มีอำนาจใช้สิทธินี้ ‘เซ็นเซอร์’ ข้อมูลสำคัญที่ปรากฎบนโลกออนไลน์
ศาลยุติธรรมของสหภาพยุโรป (European court of justice – ECJ) เตรียมตัดสินคดีที่คณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของฝรั่งเศสฟ้องร้องกูเกิ้ล ให้สามารถใช้ ‘สิทธิในการถูกลืม’ กับฐานข้อมูลออนไลน์ทั่วโลก ไม่ใช่แค่เฉพาะกับประเทศนั้นๆ (เช่น ถอดลิงก์ออกจาก Google.com ไปเลย ไม่ใช่แค่ Google.fr เท่านั้น)
แต่ NGO ด้านเสรีภาพในการแสดงออก ที่ติดตามคดีนี้อย่างใกล้ชิด ก็เสนอแนะด้วยความเป็นห่วงว่า ECJ ควรจะตีกรอบเรื่องนี้ให้ชัด ไม่เช่นนั้นต่อไป รัฐบาลใดๆ ก็สามารถเซ็นเซอร์สิ่งที่คนทั่วโลกควรจะเห็นได้ แล้วลองนึกดูว่า ถ้าชาติอย่างจีน รัสเซีย หรือซาอุดิอาระเบีย ใช้หลักการเดียวกันนี้ขึ้นมาล่ะ?
สมดุลระหว่างสิทธิในความเป็นส่วนตัวกับสิทธิ์ในการแสดงออกอย่างเสรีควรจะอยู่ที่ตรงไหน คำตัดสินในคดีนี้ อาจให้คำตอบได้ รอติดตาม
อ้างอิงจาก
http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/636691
#Brief #TheMATTER