นอกจากดาวโลกของเรา จักรวาลเรามีดวงดาวมากมาย ที่เรายังไม่รู้จัก ที่บางดวงนักวิทยาศาสตร์เพิ่งได้สำรวจ ส่งยานเดินทางไปถึงเก็บข้อมูล ทั้งยังมีดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาลของเรา ที่นักวิทยาศาสตร์พยายามค้นหามายาวนานอย่าง ‘Planet X’ แต่ก็ยังไม่พบ กลับไปพบดาวเคราะห์แคระดวงใหม่ที่อยู่ห่างไกลแทน
นักดาราศาสตร์ค้นพบดาวเคราะห์แคระที่อยู่ห่างไกลสุดขอบระบบสุริยะจักรวาลดวงใหม่ ที่ชื่อว่า ‘Goblin’ โดยตั้งชื่อนี้เพราะ นักวิทยาศาสตร์คนแรกที่สังเกตเห็นดาวดวงนี้ พบมันในช่วงฮาโลวีนปี 2015 ซึ่งมันอยู่ไกลกว่าดาวพลูโต มีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 40,000 ปี และยังมีระยะห่างมากกว่าระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ถึง 2,000 เท่า
แม้ว่าจะมีการค้นพบตั้งแต่ปี 2015 แต่การพบเจอ ‘Goblin’ เพิ่งได้รับการเปิดเผย และนักดาราศาสตร์ค้นพบมันระหว่างการตามหาดาวเคราะห์สมมติขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า ‘ Planet X’ ระหว่างการสงสัยการโคจรรอบดาวพลูโต และค้นหาในบริเวณพื้นที่ Oort Cloud ซึ่งเป็นเหมือนเมฆฟองสบู่รอบๆ ระบบสุริยะ ซึ่งเต็มไปด้วยยอดน้ำแข็ง และดาวหางระยะยาว
Scott Sheppard นักดาราศาสตร์ที่สถาบันคาร์เนกี้กล่าวว่า วงโคจรของ Goblin ไม่เคยมาใกล้พอที่จะทำให้ดาวเคราะห์ยักษ์ในระบบสุริยะของเราได้รับอิทธิพลจากแรงโน้มถ่วงของพวกมัน ซึ่งเขาและทีมได้ค้นพบขอบของระบบสุริยะตั้งแต่ปี 2012 แต่การค้นพบ Goblin จะทำให้เข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณขอบเหล่านั้นมากขึ้น
ทั้งนักวิจัยที่ร่วมในการค้นพบนี้ยังเชื่อว่า อาจจะเจอดาวอีกนับพันเช่น Goblin ที่ออกมาจากชายขอบของระบบสุริยะ เพราะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบมันระหว่างที่วงโคจรของมันในรอบ 40,000 ปี เข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด
นอกจากนี้ การค้นพบครั้งนี้ยังถือเป็นหลักฐานที่น่าสนใจ เพราะยิ่งทำให้นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ดาว Planet X มีอยู่จริง เพราะจากการจำลอง นักวิจัยพบว่า Goblin โคจรเหมือนถูกต้อนโดยดาวเคราะห์ แต่ไม่เคยอยู่ใกล้ดาวเคราะห์ขนาดใหญ่เลย ซึ่งคล้ายกับที่พลูโต ไม่เคยโคจรใกล้ดาวเนปจูน แม้ว่าวงโคจรของพวกมันจะข้ามกัน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ายิ่งค้นหาดาวเคราะห์ในบริเวณขอบได้เยอะ จะทำให้เราเข้าใจระบบสุริยะ และตามหา Planet X ได้ โดย Sheppard มั่นใจว่า “ผมคิดว่า เราเข้าใกล้ถึง 90% ที่เกือบจะพบ Planet X แล้ว”
#Brief #TheMATTER