ในหมู่คนรุ่นใหม่เริ่มมีการแชร์ปฏิทินที่ชวนให้สงสัย เมื่อสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ได้กำหนดวันทดสอบ GAT/PAT เพื่อเก็บคะแนนเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา ตรงกับวันเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 8 ปีพอดี !
อย่างที่เรารู้กันว่า เหล่าผู้มีอำนาจและนายทหารออกมายืนยันซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ในวันที่ 24 ก.พ.2562 จะมีการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก หลังยึดอำนาจมาได้ 5 ปี และมีเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2554
แต่ สทศ.กลับกำหนดวันทดสอบ GAT/PAT เป็นระหว่างวันที่ 23-26 ก.พ.2562 ซึ่งคร่อมวันสำคัญที่เยาวชนจะได้ไปใช้สิทธิกำหนดอนาคตของประเทศ และเลือกผู้แทนของตัวเองพอดิบพอดี จึงอาจเป็นปัญหาน่าหนักอกในอนาคต ว่าในวันดังกล่าว เด็กๆ ทั้งหลายจะเลือกไปยังสถานที่ใดกันแน่ เพราะหลายคนมีอายุถึงเกณฑ์ได้เลือกตั้งแล้ว
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดว่า ‘ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง’ คือผู้ที่ =มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้ง หรือเกิดวันที่ 23 ก.พ.2544 หรือก่อนหน้านั้น (ซึ่งข้อกำหนดนี้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ที่กำหนดแค่ว่า =มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในปีที่มีการเลือกตั้ง ผลคือ ทำให้ผู้ที่เกิดระหว่างวันที่ 24 ก.พ.-31 ธ.ค.ของปี 2544 ยังไม่ได้เลือกตั้ง ต้องไปรอครั้งถัดไป)
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะได้มีโอกาสเลือกตั้งครั้งแรก (first time voter) ในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีจำนวนไม่น้อยกว่า 6.4 ล้านคน ซึ่งสมมุติว่าทุกคนเดินทางมาใช้สิทธิชนิด 100% จะสามารถกำหนดตัว ส.ส.ได้ถึง 91 คน (ประมาณกันว่า ส.ส. 1 คน จะได้ใช้คะแนน 70,000 เสียง) จากทั้งหมด 500 คน มีผลถึงขั้นกำหนดได้ว่าจะให้ใครเป็นนายกฯ เป็นรัฐบาล หรือเป็นฝ่ายค้าน จะให้ใครได้สืบทอดอำนาจต่อไปไหม หรือจะพาประเทศกลับสู่เส้นทางอื่น
แต่พอไปกำหนดวันสอบ GAT/PAT ตรงกันวันเลือกตั้ง เชื่อว่าจะจะทำให้น้องๆ หลายคนลังเล วิธีแก้จึงมีอยู่ว่า ถ้าไม่เลื่อนวันสอบ GAT/PAT ออกไป ก็ต้องเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป (แม้อย่างหลังจะเลื่อนมาแล้ว 4-5 ครั้ง)
อ้างอิงจาก
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF
http://www.ombudsman.go.th/10/documents/law/Constitution2550.pdf
#Brief #election #เลือกตั้ง #TheMATTER