นับตั้งแต่เอ็มวีเพลง ‘ประเทศกูมี’ ปล่อยออกมาโดยแร็ปเปอร์กลุ่ม Rap against dictatorship วันนี้ (26 ต.ค.) น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เพลงนี้พุ่งถึงจุดพีคมากที่สุด โดยเฉพาะจากจุดยืนของทั้งโฆษกรัฐบาล และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ตลอดจน ตำรวจ ปอท.
เมื่อช่วงเช้านี้ กระแสเริ่มต้นจากความเห็นของ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ที่ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า มีโอกาส 50:50 ที่เพลงนี้จะเข้าข่ายผิดกฎหมาย และสั่งให้ตำรวจ ปอท. ในฐานะเจ้าพนักงานที่ดูแลเรื่องโลกไซเบอร์ไปตรวจสอบดูต่อว่า เข้าข่ายขัดคำสั่งของ คสช. หรือไม่
“เตือนคนทำเพลง อย่าทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะไม่เป็นผลดีกับตัวเองและครอบครัว หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นกระทำผิด” พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าว
ด้านรองโฆษก ปอท. พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ ระบุว่า เนื้อหาเพลงนี้ค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทยและทำให้ประเทศเสียหายอยู่หลายเรื่อง ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นคิดว่า ‘น่าจะ’ เข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2) ที่ว่าด้วยการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
รองโฆษก ปอท. อธิบายด้วยว่า เหตุผลที่ต้องเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.คอมฯ มาตรานี้ เพราะเนื้อหาเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ จนอาจจะทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น
ไม่ใช่แค่ฝั่งตำรวจ ด้านโฆษกรัฐบาล พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า รัฐบาลรู้สึกเสียใจต่อเอ็มวีนี้ และกลุ่มแร็ปเปอร์ควรใช้ความสามารถที่มีทำประโยชน์ให้กับประเทศ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเยาวชน
พุทธิพงษ์ ย้ำว่า ผลกระทบจากเอ็มวีที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ส่งผลถึงแค่รัฐบาล แต่ยังทำร้ายประเทศไทยในภาพรวม และเขาเองก็ไม่อยากเห็นเยาวชนออกมาทำร้ายประเทศ “ประเทศไทยเป็นประเทศของเราเอง จึงไม่อยากให้เยาวชนทำร้ายประเทศไทยอีกแล้ว” โฆษกรัฐบาลกล่าว
ในอีกด้านหนึ่ง ช่วงเย็นนี้ เครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านการเรียกตัวแร็ปเปอร์มาให้ปากคำ
แถลงการณ์ ระบุว่า “คนส. ขอเรียกร้องให้ พล.ต.อ. ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยุติการข่มขู่ คุกคาม หรือพยายามเรียกตัวกลุ่มศิลปิน Rap Against Dictatorship มาให้ข้อมูล ปากคำ ตลอดจนการคุกคามในรูปแบบอื่นๆ พร้อมกับเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ที่ได้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นโดยสุจริต มากกว่าปฏิบัติตามลมปากของผู้มีอำนาจที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจ”
ตลอดทั้งวันนี้ กระแสในโลกออนไลน์มีทั้งฝั่งที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยต่อเอ็มวีดังกล่าว ฝั่งที่สนับสนุนกลุ่มแร็ปเปอร์หลายคน ยืนยันว่า สิ่งที่เพลงที่พูดออกมาคือสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศอยู่แล้ว และเนื้อหาในเพลงช่วยให้สังคมมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ในขณะที่ฝั่งที่ไม่เห็นด้วย มองว่า มันเป็นการให้ร้ายประเทศ ส่วนบางคนก็ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับการใช้ถ้อยคำที่หยาบคายในเพลง
ก่อนหน้านี้ The MATTER เคยสัมภาษณ์ ‘Liberate P’ หนึ่งในแร็ปเปอร์ที่ปรากฏอยู่ในเอ็มวีนี้ เขาเคยย้ำถึงความสำคัญของการที่ต้องแร็ปเพื่อวิจารณ์สังคมการเมืองไว้ว่า
“จริงๆ ผมว่ามันไม่มีสังคมการเมืองที่ดีนะ แต่มันต้องเป็นอะไรที่เราสามารถพูดในสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายได้ เราสามารถใช้สิทธิที่ชอบธรรมของประชาชน ซึ่งตรงนี้มันหายไปเรื่อยๆ จากที่เราเคยทำได้ 100 ถูกถอยมา 80 70 60 ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งถ้ายิ่งมีคนเงียบ มันยิ่งลดเรื่อยๆ เพราะจำนวนคนมันพูดน้อยลงเรื่อยๆ คนที่พูดน้อยลงก็กลายเป็นเป้า ก็ยิ่งถูกจำกัดเข้าไปอีก…”
“เราอยากให้ทุกคน ไม่ว่าจะมีความเชื่อทางการเมือง หรือมีจุดยืนแบบไหน ถ้าหากคุณคิดว่าปัจจุบันประเทศเรากำลังมีปัญหา และอยากจะพูดมันออกได้ใช้ช่องทางในพื้นที่เพจ Rap Against Dictatorship ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ระยะยาวที่เราจะทำจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง” Liberate P ให้สัมภาษณ์กับ The MATTER เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
หลังจากนี้ต้องตามไปดูกันว่า เรื่องนี้จะเดินต่อไปอย่างไร จะกลายเป็นคดีความตามที่ตำรวจ ปอท. กำลังพิจารณาอยู่หรือไม่ ขณะเดียวกัน ข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวันนี้ สะท้อนให้เห็นได้ว่า การวิจารณ์สังคมผ่านการแร็ปครั้งนี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมไม่น้อยเลยทีเดียว
อ้างอิงจาก
https://www.thairath.co.th/content/1403829
http://www.nationtv.tv/main/content/378665552/
https://www.naewna.com/politic/372863
https://www.dailynews.co.th/regional/673549
https://thematter.co/brief/news-1540530000/63338
https://thematter.co/pulse/rapper-liberatep-and-politics/51533
#Brief #TheMATTER