เวลาพูดถึง ‘ลิขสิทธิ์’ (copyright) เราก็มักจะนึกถึงพวกหนังสือ หนัง เพลง เกม หรือผลงานที่ผ่านการคิดสร้างสรรค์อะไรทำนองนั้น เราคงไม่นึกถึงว่า สักวันหนึ่งจะมีใครบางคนไปยื่นฟ้องศาลโดยกล่าวหาอีกฝ่ายว่าละเมิดลิขสิทธิ์ ‘รสชาติของอาหาร’ กันใช่ไหม – แต่คดีเช่นนี้เกิดขึ้นแล้วในยุโรป เป็นคดีดังที่คนสนใจ และล่าสุด มีผลการตัดสินออกมาแล้วด้วย!
ผู้ผลิตครีมชีสยี่ห้อ Heksenkaas ได้ยื่นฟ้องผู้ผลิตครีมชีสยี่ห้อ Witte Wievenkaas ว่าละเมิดลิขสิทธิ์พวกตน ผ่านการ ‘ก็อปปี้รสชาติ’
คดีนี้สู้กันอยู่หลายปี ทั้งในศาลท้องถิ่นของเนเธอร์แลนด์ และขึ้นไปสู่ศาลยุติธรรมแห่งยุโรป ท่ามกลางการจับตาของผู้ผลิตชีสทั่วยุโรป รวมถึงนักกฎหมายต่างๆ ที่เฝ้ามองว่า ศาลสูงสุดของยุโรปจะให้นิยามของคำว่า ‘ลิขสิทธิ์’ ว่าอย่างไร?
ซึ่งผลปรากฏว่า ศาลยุติธรรมแห่งยุโรปชี้ว่า ‘รสชาติของอาหาร’ ไม่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า “รสชาติของอาหารไม่มีตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกได้อย่างแม่นยำและเป็นวัตถุวิสัย” เพราะรสชาติต่างๆ นั้นผันแปรไปตามอายุ ความชื่นชอบ และพฤติกรรมการกินของแต่ละคน หรือเป็นอัตวิสัยมากๆ
แต่ใช่ว่าคดีครีมชีสนี้จะเป็นเกี่ยวกับอาหารคดีแรกของศาลยุติธรรมแห่งยุโรป ก่อนหน้านี้ ก็เคยตัดสินคดีก็อปเครื่องหมายการค้าแท่งช็อคโกแลต 4 ท่อนแบบ Kit Kat (ผู้ฟ้องแพ้), คดีที่ห้ามอ้างว่าน้ำเต้าหู้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากนมวัว (ผู้ฟ้องชนะ) และคดีที่คัดค้านการเรียกไอศกรีมเชอร์เบทผสมแชมเปญโดยใช้คำว่าแชมเปญ (ผู้ฟ้องแพ้)
อ้างอิงจาก
https://www.bbc.com/news/world-europe-46193818
#Brief #TheMATTER