สนช.ลงมติเห็นชอบ 145 ต่อ 0 งดออกเสียง 6 เพื่อผ่านร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการยุติธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้มีประเด็นว่าการให้เบี้ยประชุมกับศาล 12 หน่วยนั้น ถูกตั้งคำถามว่าเป็นการใช้งบประมาณที่มากเกินไปหรือไม่
อย่างไรก็ดี มติชนและผู้จัดการออนไลน์ รายงานตรงกันด้วยว่า ในวาระการเรื่องนี้ ไม่มีสมาชิก สนช. คนไหนที่ลุกขึ้นขออภิปราย รวมถึงขอแปรญัตติเพื่อแก้ไขรายละเอียดของร่างกฎหมานเลยแม้แต่คนเดียว ส่งผลให้ ร่างกฎหมายฉบับนี้ได้รับการเห็นชอบไปแบบไร้เสียงคัดค้านจากสมาชิกภายใน
สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือ คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม จะมีอำนาจออกระเบียบเพื่อกำหนดเบี้ยนประชุมของข้าราชการตุลาการ ซึ่งเข้าร่วมประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและศาลอุธรณ์ได้
ทั้งนี้ เบี้ยประชุมที่ร่างกฎหมายนี้จะรับรอง คือเบี้ยประชุมของประธาน รองประธาน และบุคคลอื่นที่เข้าประชุมใหญ่ของทั้งศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ต่างๆ รวม 24 ครั้งต่อปี โดยมีการประมาณกันว่าน่าจะใช้งบรวมกันถึง 207,360,000 บาท
อัตราเบี้ยประชุมที่ผู้เข้าร่วมประชุมใหญ่ของศาลต่างๆ จะได้รับ หากเป็นประธานคือ 10,000 บาท/ครั้ง รองประธาน 8,000 บาท/ครั้ง บุคคลอื่น ทั้งเลขานุการ ผู้ช่วยเลขานุการ หรือผู้เข้าร่วมประชุมธรรมดา คือ 6,000 บาท/ครั้ง
โดยเหตุผลของการเสนอเบี้ยประชุมในครั้งนี้ มีการอ้างอิงว่า เพื่อเป็นหลักประกันว่า ข้าราชการศาลยุติธรรมจะอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนอย่างละเอียด รอบคอบ และเที่ยงธรรม
ก่อนหน้านี้ มีคำท้วงติงมาจากนักวิชาการด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล โดยตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า มันเป็นการใช้งบประมาณที่มากเกินไป และอาจสื่อได้ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง คสช. สนช. รวมถึงผู้คนในวงการศาล
“ไม่มีการตระหนักถึงเหตุผลของการให้เบี้ยประชุมตอบแทน ทั้งที่เป็นงานตามปกติของฝ่ายตุลาการที่กระทำในเวลาราชการ ความเท่าเทียมกับราชการส่วนอื่นๆ หรือแม้กระทั่งการพิจารณาถึง “หลักความพอเพียง” ที่มักชอบกล่าวอ้างกันเสมอเมื่ออธิบายถึงสถาบันแห่งนี้” อ.สมชาย ระบุ
อ้างอิงจาก
https://mgronline.com/politics/detail/9610000116658
https://www.facebook.com/thematterco/posts/2175192686029455
#Brief #TheMATTER