วันนี้ ไต้หวันได้มีการจัดทำประชามติใหญ่ ถึง 10 คำถาม ที่จะมีการถามทั้งเรื่องนโยบายการนำเข้า นโยบายด้านพลังงาน ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน รวมไปถึงประเด็นที่น่าจับตามอง 2 ประเด็นใหญ่คือ การแต่งงานของเพศเดียวกัน และการเปลี่ยนชื่อในการเข้าร่วมแข่งกีฬาโอลิมปิกด้วย
ในประเด็นการเปลี่ยนชื่อเข้าร่วมกีฬาโอลิมปิก ก่อนหน้านี้ ไต้หวันได้ตกลงกับจีนที่จะใช้ชื่อว่า ‘จีนไทเป’ ซึ่งเป็นชื่อที่ตกลงกับจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 แต่ในการโหวตครั้งนี้ ประชาชนสามารถตัดสินใจว่าจะส่งชื่อ ‘ไต้หวัน’ หรือ ‘จีนไทเป’ ในโตเกียวโอลิมปิก ปี 2020 ซึ่งการเปลี่ยนชื่ออาจนำมาซึ่งความตึงเครียดกับจีนแผ่นดินใหญ่ได้
ส่วนประเด็นเรื่อง การแต่งงานของเพศเดียวกันนั้น จะมีการถามประเด็นนี้ถึง 3 ข้อ ซึ่งหากผลการลงประชามติในประเด็นนี้ ได้รับความเห็นชอบจากเสียงส่วนใหญ่ จะทำให้ไต้หวันกลายเป็นชาติแรกในเอเชียที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีการสำรวจของมูลนิธิความคิดเห็นสาธารณะไต้หวัน กลับพบว่า 77% ของประชาชนที่ตอบแบบสำรวจมองว่าการแต่งงานต้องเป็นเรื่องของชายและหญิง ซึ่งอาจทำให้ผลโหวตไม่เห็นด้วยได้เสียงข้างมากได้
แม้ว่ารัฐบาลจะกล่าวว่า ผลของประชามติจะไม่ส่งผลต่อคำสั่งของศาลที่ออกเมื่อเดือนพฤษภา ปี 2017 ที่มติอนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันแต่งงานกันได้ โดยฝ่ายนิติบัญญัติจะร่างและปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ใน 2 ปี แต่ครั้งนี้ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมได้ยื่นเรื่องขอทำประชามติอีกครั้ง ซึ่งผลอาจทำให้การร่างกฎหมายช้าลง และทำให้ผลของกฎหมายอ่อนลงด้วย ซึ่งกลุ่มเคลื่อนไหว LGBT เล่าว่า ในช่วงที่ผ่านมามีการปล่อยข้อมูลผิดๆ ของ LGBT มากมาย เช่น ถ้าไต้หวันผ่านกฎหมายนี้ จะเต็มไปด้วยโรค HIV และ โรงเรียนจะสอนพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศให้เด็กๆ มากขึ้นด้วย
นอกจาก 3 คำถามที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานของเพศเดียวกันโดยตรงแล้ว ยังมี 2 คำถาม ในประเด็นการศึกษาที่ถามถึง ว่าควรหรือไม่ควรในการสอนเรื่องเพศที่ 3 รักร่วมเพศ อารมณ์ และเรื่องเพศสัมพันธ์ ในหลักสูตรการศึกษาพื้นฐานด้วย
.
การทำประชามติในวันนี้ จะควบคู่กับการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่มีการเลือกตำแหน่งนายกเทศมนตรี และเจ้าหน้าที่อื่นๆ อีกกว่า 11,000 ตำแหน่ง ซึ่งถ้าฝ่ายของปธน.ไช่ อิงเหวิน ได้รับเสียงข้างมาก ก็มีแนวโน้มว่าสถานการณ์ของไต้หวัน กับจีนจะตึงเครียดกันต่อไป จากนโยบายและจุดยืนของพรรคที่สนับสนุนการปกครองตนเอง ที่ทำให้รัฐบาลจีนปักกิ่งปฏิเสธการตกลงกับเธอ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2016
อ้างอิงจาก
https://edition.cnn.com/2018/11/23/asia/taiwan-gay-marriage-china-intl/index.html
https://www.bbc.com/news/world-asia-46325538
https://www.voanews.com/a/taiwan-votes-in-elections-seen-as-referendum-on-china-policy/4672071.html
#Brief #TheMATTER