18 ธ.ค.ของปี 2010 คือวันเริ่มต้นของปรากฎการณ์อาหรับ ที่ประชาชนในหลายๆ ชาติของตะวันออกกลางลุกฮือขึ้นมาประท้วงขับไล่ผู้นำที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนานเป็นสิบๆ ปี พร้อมกับจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้ต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรอบที่ผู้มีอำนาจกำหนดให้เท่านั้น
อียิปต์เป็นชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือตัว Hosni Mubarak ประธานาธิบดีที่ครองอำนาจมา 30 ปีเต็มต้องลงจากตำแหน่ง แต่หลังจากนั้นก็ใช่ว่าประชาชนจะได้มีอำนาจอย่างแท้จริง เพราะแม้จะเลือก Mohamed Morsi ให้มาเป็นประธานาธิดีคนต่อไป แต่ก็อยู่ได้เพียงปีเศษ ก่อนถูกกองทัพยึดอำนาจ ขณะที่ผู้นำคนปัจจุบัน ก็คือ พลเอก Abdel Fattah el-Sisi ผู้นำการรัฐประหารคราวนั้นนั่นเอง
ในสภาวะที่การเมืองยังไม่เสถียร และการประท้วงเป็นเรื่องอ่อนไหว ยิ่งมีตัวแบบจากฝรั่งเศสที่มีการชุมนุมขับไล่ผู้นำอยู่ด้วยแล้ว ทางการอียิปต์จึงตัดสินใจคุมเข้มการจำหน่าย ‘เสื้อกั๊กเหลือง’ สัญลักษณ์การประท้วงในฝรั่งเศส โดยอนุญาตให้ขายส่งกับบริษัทที่ทางการรับรองเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ขายปลีกให้กับคนทั่วๆ ไปที่เข้ามาขอซื้อเด็ดขาด
เพราะแม้จะชนะเลือกตั้งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบถึง 97% แต่การเลือกตั้งที่ส่งให้ พล.อ.อัลซิซี่ได้เป็นผู้นำต่ออีกสมัยก็ถูกวิจารณ์ว่าไม่โปร่งใส มีการใช้สารพัดวิธีกดดันให้คู่แข่งคนสำคัญถอนตัว จนทำให้มีผู้ออกมาใช้สิทธิไม่ถึงครึ่งหนึ่ง – สถานะของประธานาธิบดีอียิปต์คนปัจจุบัน จึงยากจะพูดว่าแข็งแกร่ง มีประชาชนจำนวนมากให้การยอมรับ
ครั้งหนึ่ง เหตุการณ์อาหรับสปริงเคยเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการประท้วงต่อต้านผู้นำทั่วโลก มาครั้งนี้ กลับเป็นอียิปต์เสียเองที่กลับการประท้วงในชาติอื่นๆ จะลามกลับมาในประเทศ จนส่งผลต่อเก้าอี้ของผู้นำรัฐบาล
อ้างอิงจาก
https://qz.com/africa/1491362/egypt-restricts-yellow-vest-sales-fears-new-arab-spring-protests/
https://apnews.com/38a1a03c66234372b2149f3013f642ed
https://www.nytimes.com/2018/01/24/world/middleeast/egypt-sisi-election.html
#Brief #TheMATTER