พ่อแม่ก็อยากให้ลูกๆ เก่ง ยิ่งยุคหนึ่งเราวัดความสำเร็จของเด็กๆ จากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ดูตั้งแต่ว่าหนูลูกได้เกรดเท่าไหร่ ไปจนถึงทักษะความสามารถต่างๆ ทั้งในเชิงวิชาการ เช่น ทักษะทางภาษา ทักษะทางคณิตศาสตร์ และความสามารถพิเศษทั้งหลาย—ดนตรีและกีฬา—พ่อแม่จึงค่อนข้างคาดหวังและเข้มงวดกับหนูๆ ในการรับการศึกษา ไปจนถึงจัดตารางเวลาเพื่อฝึกฝนทักษะต่างๆ เด็กอนุบาลยังต้องติวกันจนเป็นเรื่องธรรมดา
แต่ไอ้ความธรรมดาและตารางที่แสนเข้มงวดนี้ทำให้ ‘การเล่น’ หายไปจากตารางชีวิตเด็กๆ ในสหรัฐฯ เองก็ดูจะมีวิธีคิดแบบเดียวกัน จนระยะหลังหน่วยงานและคนที่เกี่ยวข้องในเชิงพัฒนาการเด็กเริ่มออกมาบอกว่า ‘การเล่น’ (play) เป็นเรื่องสำคัญนะ ล่าสุดมีความพยายามให้การเล่นกลายเป็นเรื่องระดับการแพทย์ ทางสถาบันกุมารเวชศาสตร์อเมริกัน (American Academy of Pediatrics) ออกรายงานถึงพลังของการเล่น และแนะนำให้กุมารแพทย์จ่าย ‘การเล่น’ (prescription for play) ให้กับเด็กสุขภาพดีในวัยสองขวบปีแรกเพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ
ในรายงาน The Power of Play: A Pediatric Role in Enhancing Development in Young Children ของทางสถาบันกุมารเวชศาสตร์เพิ่งมีการเผยแพร่ไปเมื่อเดือนสิงหาคม ตัวรายงานนี้เป็นทั้งรายงานทางการแพทย์และเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับหมอเด็ก ตัวรายงานพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ให้ความสำคัญกับการจัดตารางการศึกษาที่ทำให้การเรียนรู้ผ่านการเล่นลดน้อยลง เน้นย้ำว่าพัฒนาการของเด็กๆ ส่วนหนึ่งอยู่ที่การจัดการความเครียดและความกดดัน ไปจนถึงตัวการเล่นเองก็เป็นองค์ประกอบสำคัญที่ช่วยให้เด็กๆ พัฒนาในทุกๆ ด้าน ดังนั้นในยุคที่คนเน้นเรื่องการสั่งสอนและให้ความสำคัญกับการเล่นน้อยลง กุมารแพทย์จึงถือเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องการเล่นและความเข้าใจเรื่องการเล่นให้กับเหล่าผู้ปกครอง
ตัวรายงานเองรวบรวมผลการศึกษาและข้อมูลทางการแพทย์ที่รายล้อมเรื่องประโยชน์ของการเล่นและพัฒนาการของเด็กๆ โดยเฉพาะในวัยอนุบาล รายงานกล่าวว่า ‘การเล่นไม่ใช่เรื่องไร้สาระ’ การเล่นทั้งการที่เด็กเล่นคนเดียว เล่นกันเอง เล่นกับผู้ใหญ่ช่วยพัฒนาสมองของเด็กๆ พัฒนาทักษะในการจัดการต่างๆ (executive functions)ไปจนถึงทักษะทางสังคมและอารมณ์
เจ้าทักษะในการจัดการถือเป็นทักษะที่เราได้จากการเล่น โดยรวมแล้วคือทักษะหลายๆ ด้านที่ทำให้เด็กจดจ่อและให้ความสนใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง รู้จักควบคุมตัวเองและจัดการ ส่งเสริมทักษะในการแก้ปัญหา มีจิตใจที่ยืดหยุ่น ในที่สุดแล้วเด็กๆ ที่จดจ่อและพยายามระบายสีเทียนก็จะส่งผลกับการลุกขึ้นแต่งตัวและจากการชีวิตในโรงเรียนในท้ายที่สุด
นอกจากเรื่องทักษะแล้ว การเล่นยังเป็นการสร้างบรรยากาศสำคัญ เช่นความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย ไปจนถึงสานสายใยระหว่างเด็กและคนที่ดูแลอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่ทำให้เด็กเติบโตขึ้นอย่างมั่นคงแข็งแรง ในทางกลับกันผู้ใหญ่เองก็ได้รับประโยชน์จากการเล่นกับเด็กด้วย ทำให้กลับไปสดใสและรื้อฟื้อความเป็นเด็ก ได้เรียนรู้ทักษะทางภาษาและการสังเกต
เรื่องเล่นจึงกลายเป็นเรื่องใหญ่ จากรายงานของสถาบันบอกว่า เนี่ย เป็นหน้าที่ของกุมารแพทย์ที่จะต้องดูแลเรื่องพัฒนาการที่ถูกต้องเหมาะสมของเด็กๆ ดังนั้น หมอเด็กจึงมีหน้าที่ที่จะส่งเสริมการเล่นเพื่อให้เด็กๆ เติบโตขึ้นอย่างเหมาะสม เด็กๆ ควรจะต้องมีวัยเด็กที่ดี ได้แสดงความสงสัยและเรียนรู้โลกใบนี้และและรักษาจินตนาการที่ดีเยี่ยมของหนูๆ ไว้
ในรายงานก็เลยให้แนวทางไว้หลากหลาย ทั้งส่งเสริมให้ผู้ปกครองมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กน้อย ส่งเสริมเวลาเล่นแบบอิสระของเด็กๆ จนถึงแนะนำให้จ่ายการเล่นให้กับเด็กๆ ในช่วงสองขวบปีแรกทุกคนที่สุขภาพดีเมื่อแวะมาหาหมอ—ประมาณว่าลูกคุณสบายดีจ้า แต่ให้ใส่การเล่นไว้ในตารางการดูแลด้วยนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
pediatrics.aappublications.org