ขณะที่โรงละครกำลังหนาวจัด บทละครเริ่มเร่าร้อนแรงขึ้นทุกขณะจิต จนองก์สุดท้ายในตอนจบเรื่องราวและตัวละครก็ระเบิดทะลักออกมาในที่สุด เหมือนน้ำรักที่แตกหลั่งออกมาหลังเสร็จกามกิจ
ฉันออกจากประตูโรงละครอย่างงงๆ เบลอๆ หลังชมละครเวทีเรื่อง “ปรารถนา-ภาพเหมือนของเข้าสิง” ถึง 3 ชั่วโมงกว่า ใช่… 3 ชั่วโมง ถือว่าโหดมากสำหรับละครเวที ทั้งนักแสดง ทีมงานและผู้ชม แต่ 3 ชั่วโมงนั้นถือว่าเป็นเวลาที่สมเหตุสมผลกับเซ็กซ์เด็ดๆ คราวนึง ที่เราจะเผลอใช้มันไปเศษ 1 ส่วน 8 ของ 1 วัน ‘ทำ’ กันจนลืมไปว่าโลกภายนอกหมุนไปอย่างไรบ้าง
จริงๆ นะ…ฉันออกมาจากโรงละครอย่างเบลอๆ เพลียๆ เหมือนเพิ่งถูก ‘ทำ’ และได้ ‘ทำ’
เดาว่าเป็นความตั้งใจของผู้กำกับการแสดงและเขียนบท โทชิกิ โอกาดะ (Toshiki Okada) เพราะเมื่อปีที่แล้ว ฉันได้มีโอกาสชมงานของเขาเรื่อง ‘ซูเปอร์ พรีเมี่ยม ซอฟท์ ดับเบิ้ล วานิลลา ริช’ (Super Premium Soft Double Vanilla Rich) ที่ให้ผู้ชมเป็นพยานให้กับสภาวะชีวิตวน loop ไปเรื่อยๆ ของตัวละครที่ต้องอุทิศตนเองเป็นกิจวัตรประจำวัน ราวกับสายพาน ภายใต้ความน่ารักรสหวานสดใสและความคุ้นชิน มันกลับซ่อนความดาร์กและน่าสยดสยอง จนผู้ชมเองเข้าถึงความรู้สึกอารมณ์มหรสพวนลูปนั้นได้ ไม่เพียงอ่านใจนักแสดงออกทั้งๆ ที่เขาไม่ได้พูดหรือแสดงออกมาตรงๆ แต่ยังทำให้ตัวผู้ชมกลายเป็นส่วนเดียวกับบรรยากาศละครเรื่องนั้น
“ปรารถนา-ภาพเหมือนของเข้าสิง” คือละครเวทีภาษาไทยของเขาที่มาจากนวนิยายต้นฉบับของอุทิศ เหมะมูล ที่ได้อุทิศเรื่องราวความปรารถนาเป็นเรื่อง ‘ร่างของปรารถนา’ (พิมพ์ครั้งแรก ปี 2560 ในเดือนเมถุน มิถุนายน) และเป็นอีกงานศิลปะแขนงหนึ่งที่ถ่ายทอดนวนิยายเรื่องนี้ หลังจากมีนิทรรศการศิลปะผลงาน ‘ภาพร่างของปรารถนา เข้าสิงโดย อุทิศ เหมะมูล’ จัดแสดงที่ Artist+Run Gallery เมื่อปี 2560
ละครเรื่องนี้คือชีวประวัติของ ‘เข้าสิง’ ที่เดินทางมาครึ่งค่อนอายุขัย โชกโชนไปด้วยประสบการณ์และทิ้งความทรงจำให้ไว้ มีทั้งการแสวงหา สนใจใคร่รู้ด้วยความตื่นเต้น อหังการ การโลดโผนโจนทะยาน สนุกสนานและเจ็บปวด คำโกหก ล่อลวง หลงใหล เขาทดลอง ลองอย่างที่ไม่มีผิดและไม่มีถูกไปพร้อมกับคนรักและคนที่เขาร่วมรักด้วยไม่ว่าจะเป็นรุ่นพี่กวีสาว, เพื่อนร่วมชั้นเรียนชื่อ ‘รักเจ้า’, ‘ฟ้า’, ‘น้ำ’, ทั้งฟ้าและน้ำพร้อมกันแบบสามคนอลเวง และสุดท้าย ‘วารี’ เด็กหนุ่มที่เป็นแบบให้เขาวาดภาพ และเป็นภาพสะท้อนตัวตนของเขาเอง
‘เข้าสิง’ ศิลปินหนุ่มผู้รักการวาดภาพ คือชื่อตัวละครหลักของนวนิยาย ที่ความกระสันต์ของเขาสัมพันธ์และสัมพัทธ์กับเหตุการณ์ในชีวิต เหตุบ้านการเมือง และระบอบการปกครอง ทว่าไม่มีใครบนเวทีได้เป็นตัวละครเอก เพราะผู้กำกับและนักแสดงได้ปั้นให้ ‘ความปรารถนา’ เป็นตัวเอกของเรื่อง
ตัวละครกลายเป็นร่างของปรารถนาเดียวกันนักแสดงทุกคนจึงเล่นสมดุลเท่ากัน กระจัดกระจายบนเวที และสลับตัวละครเดียวกันได้ เพราะต่างเป็นร่างให้กับความปรารถนา
นักแสดงจึงต้องจำบทตั้งยาวเยียด แถมมีชื่อศิลปินนักศิลปะที่ชวนให้ลิ้นพันกันอีก เล่าเรื่องผ่านบทสนทนาและจังหวะการเคลื่อนไหวที่สื่อความหมาย พวกเขาและเธอเล่นแรงไม่ตกตลอด 3 ชั่วโมงกว่าๆ แถมคอยังแข็งอีกต่างหาก เพราะนอกจากไม่เมาแอลกอฮอล์แล้ว ยังคอไม่หักระหว่างนอนยกสะโพกมากดทับหน้าตัวเองเพื่ออมอวัยวะเพศของตนเอง นักแสดงบางคนก็นอนหงายยกก้นชี้ฟ้าแล้วติ้วตูดตัวเอง
พวกเขาและเธอเสพเมถุนหลายรูปแบบและกลายเป็นร่างที่อัดแน่นไปด้วยเรื่องราวประสบการณ์ที่ความปรารถนามอบให้ แต่ไม่มีใครใช้ร่างกายเปลือง ไม่มีใครเปลืองตัว เพราะร่างกายไม่ใช่ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป
‘ความเงี่ยน’ ก็เช่นกัน ซึ่งนักแสดงในเรื่องพูดคำว่า ‘เงี่ยน’ ได้เต็มปากเต็มคำเหมือนคำทั่วๆ ไป เช่น หิว อิ่ม ง่วง ปวดอึ ไม่รู้ แต่ฟังดูถึงพริกถึงขิง
ชีวิตของตัวละครเรียนรู้และก้าวข้ามกรอบขนบหรือศีลธรรมด้วยความตั้งใจขบถเหมือนกับที่ตั้งใจใช้กิ่งไม้แทนพู่กันและไม่ตั้งใจไม่รู้ตัวเหมือนกับที่โดนลักหลับ กลายเป็นเรื่องราวชีวิตบนเวทีขาวประหนึ่งถูกวาดขึ้นมาบทแคนวาส ที่บางครั้งตัวละครก็ละเลงสีชีวิตนอกกรอบผืนผ้า
อดีตของ ‘เข้าสิง’ ที่พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ตามหลอกหลอน หากแต่สิงสู่ให้เขาเป็นเช่นนั้น เราทุกคนก็เช่นกัน เหมือนตัวละครทุกตัวบทเวทีก็เป็น ‘เข้าสิง’ และถูกสิงสู่ได้ และมันจะวนเวียนไปมาในหัวใจของเรา เพิ่มข้าวของความทรงจำพอกพูนไปเรื่อยๆ เหมือนกองอยู่บนสายพานที่เป็นสัญญะหนึ่งในเรื่อง
ทั้งฉาก เสียงแสงสีศิลป์ สัญญะ เครื่องแต่งกาย (น่ารักดี) เทคนิคอะไรต่อมิอะไร เฉียบคมจนลามมาถึงผู้ชมที่ไม่ได้เป็นแต่ผู้นั่งชมมหรสพอย่างเดียว หากแต่กำลังถ้ำมองคนสำเร็จความใคร่ และเสพเมถุนแบบ Voyeurism ส่องชีวิตทางเพศของคนคนนึงที่ไม่ใช่ทั้งผู้หญิงผู้ชาย ไม่ใช่คนหนุ่มคนสาวหรือวัยกลางคน หากแต่เป็นร่างที่บรรจุความปรารถนา และประสบการณ์ที่เกิดจากความร่าน
ผู้ชมกำลังชมละครที่กำลังแสดงบนเวทีเหมือนชมหนังโป๊เรื่องนึง หรือเป็นส่วนหนึ่งของบักกาเกะ (bukkake) ล้อมวงชมกามกิจแล้วสำเร็จความใคร่หมู่รดร่างเบื้องหน้า แต่จะต่างกับหนังโป๊ตรงที่ละครชวนให้ผู้ชมหันมาสำรวจทบทวนเพศวิถีของตนเอง สนทนากับตนเองถึงศีลธรรมหรือบรรทัดฐานทางเพศในใจ มากกว่ากระตุ้นกระสันต์กำหนัด
แม้มนุษย์จะต้องกินขี้ปี้นอน ทว่าการปี้ๆ เอาๆ ของเราไม่ได้มีความหมายเดียวเท่านั้น ภายใต้โลกที่เต็มไปด้วยระบบชนชั้นลดหลั่นซับซ้อนไปเรื่อยๆ ราวปีระมิด ที่กดทับกดขี่กันเอง คนรวยกว่ากดทับคนจนกว่า รุ่นพี่กดขี่รุ่นน้องในระบบอาวุโส ที่ความสติไร้ปัญญาของระบบโซตัสตั้งตระหง่านอยู่ในสถานศึกษา ทั้งละครและนวนิยายเรื่องนี้จึงเล่าเรื่องให้เห็นว่าร่างของเรานั้นไม่ได้มีแค่ความปรารถนาและความร่าน แต่มีทั้งความรุนแรงและการกดขี่ ทั้งเป็นผู้ถูกกระทำและกระทำเอง
ความปรารถนาที่จะปฏิวัติ ขบถ แต่ก็กลายเป็นผู้สยบยอม แช่แข็งผลิตซ้ำโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้โครงสร้างอำนาจและชนชั้น
ชีวิตของ ‘เข้าสิง’ นั้น เขาไม่เพียงเอาตัวเองเข้าไปสิงในขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง การเมืองเองก็เข้าสิงเขาเช่นกัน หากชีวิตของ
‘เข้าสิง’ เข้าร่วมร่วมชุมนุมในเหตุการณ์พฤษภา 2535 ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ในยุคที่หนังแผ่นเฟื่องฟูและรัฐบาลประกาศสงครามกับยาเสพติด เขารักกับเด็กหนุ่มพนักงานร้านเช่าหนัง Tsutaya ผู้ติดยาบ้า ในปี 2553 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ เขาสูดดมร่างเด็กหนุ่มที่เต็มไปด้วยกลิ่นน้ำยาและผงซักฟอกติดเสื้อ เพราะเพิ่งไปร่วมกิจกรรม Big Cleaning Day มาหลัง social cleansing กลางกรุง ขณะเดียวกันการรัฐประหารก็เหมือนสภาวะผีอำ ที่ทำให้ร่างของเราต้องยอมจำนน เหมือนถูกมัดมือมัดปาก เหมือนถูกลักหลับให้ศิโรราบต่อสำเร็จความใคร่ความปรารถนาของผู้อื่น ‘เข้าสิง’ ถูกลักหลับและผีอำในคืนวันรัฐประหาร
หาก ‘แม่พลอย’ ในเรื่อง ‘สี่แผ่นดิน’ แบ่งออกเป็นรัชกาลๆ ชีวิตของเข้าสิงและคนที่วนเวียนในชีวิตของเขาก็แบ่งออกเป็น รัฐประหารครั้งต่างๆ กลายเป็นตัวละครในเรื่อง ‘3 รัฐประหาร’ ปี 2534, 2549 และ 2557
ร่างที่เป็นของความปรารถนานั้น จึงก็เท่ากับว่าร่างของเรานั้นไม่ใช่ของเราเอง ขณะที่เราเอากันราวกับว่าเราจะสิงสู่ซึ่งกันและกันเอง ไม่ว่าจะร่วมเพศกับเพศเดียวกัน หรือต่างเพศ จะเดี่ยว คู่ หรือผสม มันจึงลืมตัวเหมือนอยู่ในภวังค์ เหมือนครึ่งหลับครึ่งตื่น เหมือนถูกผีเปรตเจตภูติเข้าสิง
ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความย้อนแย้งและเหมือนไม่เป็นตัวของตัวเอง ปัจเจกบุคคล อุดมการณ์ทางการเมือง คุณค่าทางสุทรียศาสตร์และศิลปะ จึงไม่สัมพันธ์กัน เหมือนกับสถาบันสอนศิลปะที่ ‘เข้าสิง’ เข้าไปเรียน สอนเรื่องสุนทรียะ ความงดงาม และการอุทิศตน แต่ก็หล่อเลี้ยงระบบโซตัสที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความกักขฬะ รุนแรง หลงตัวเอง ทำให้ ความจริง ความงาม ความถูกต้อง สามารถย้อนแย้งแยกส่วนและสวนทางกันได้ จนอาจารย์ที่สอนศิลปะก็ชี้นำถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจผิดได้ เช่น ศิลป์ พีระศรีเป็นผู้ก่อตั้งมหาลัยศิลปากร
และเช่นเดียวกัน น้ำรักของผู้ชายที่แตกกระเซ็นออกมา ชอบให้ผู้หญิงดูดกลืนมัน ชโลมเนื้อตัวด้วยมัน แต่ตนเองกลับไม่ต้องการให้โดนเช่นนั้นบ้าง กลายเป็นสิ่งที่พวกเขานึกรังเกียจ ทั้งๆ ที่มันก็เป็นผลผลิตของความหฤหรรษ์ที่สร้างมาด้วยกัน ออกมาจากร่างกายของพวกเขาเองแท้ๆ
แต่การเข้าสิงร่างของปรารถนาความใคร่ และความร่านนั้น ไม่ใช่ความมืดบอด หรือ ‘ดำกฤษณา’ เข้าครอบงำให้หน้ามืดตามัว จูงไปสู่ทางแห่งความเสื่อมเหมือนวรรณกรรมเชิงสังวาสเรื่องเก่า หากแต่มันคือการเดินทางเพื่อไปสู่โลกใบใหม่ๆ เพราะเซ็กซ์ไม่ได้มีความจำเป็นเพื่อสืบพันธุ์ พอๆ กับที่การร่วมรักไม่จำเป็นต้องรักกัน ตัวละครในเรื่องจึงเอากันอย่างเอาเป็นเอาตาย โรมรันพันตูไปทั่วโรงละคร ราวกับจะเข้าสิงร่างซึ่งกันและกัน พร้อมกับผุดอภิปรัชญาชุดใหม่ขึ้นมา