โทรไปไม่มีคนรับ ลงทะเบียนแล้วแต่ของก็ยังไม่ได้ กลายเป็นว่าจะต้องนอนอยู่บ้านจนอาการหนักหรือเปล่า?
ปัญหาจากการ Home Isolation ปรากฏให้เห็นอยู่มากในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่เรื่องที่คนเข้าระบบไม่ได้ ไปจนถึงผู้ป่วยที่อาการหนัก แต่ไม่มีโรงพยาบาลรับรักษา จนสุดท้ายก็เสียชีวิต กลายเป็นประเด็นสำคัญในสังคมที่ต้องเร่งแก้ไขทันที
เมื่อผู้ป่วยรอไม่ได้ ปัญหาจึงต้องเร่งแก้ไข แต่อะไรคือบั๊คที่ทำให้ระบบ Home Isolation และการเข้าถึงสถานพยาบาลเกิดปัญหากันแน่?
The MATTER พูดคุยกับ อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และแนวทางในการแก้ไข ซึ่งต้องมาดูกันว่าจะเกิดปัญหาตามมาอีกหรือเปล่า
- โทร 1330 กด 14 แล้วไม่มีใครรับ
ตอบ: สปสช. เพิ่มคู่สายเป็น 2,100 สายแล้ว และจ้างคนเพิ่มมาช่วยกันกระจายรับสายกัน แต่ยังติดปัญหาว่าผู้ป่วยเยอะมาก แม้จะมีการเพิ่มคู่สายมาแล้ว ทำให้กลายเป็น ‘คอขวด’
“นี่เป็นปัญหาโลกแตกมากๆ จริงๆ เราเพิ่มคู่สายนะ จาก 500 เป็น 1,600 ตอนนี้เป็น 2,100 แล้วก็จ้างคนเพิ่มเพื่อมาช่วยกันกระจายรับสายกัน ยังมีสายค้างอยู่บ้าง แต่ก็ลดลงไปเยอะกว่าเดิมแล้ว”
- ช่องทางอื่น เช่น QR Code ให้ผู้ป่วยกรอกข้อมูลเอง แต่ไม่มีใครติดต่อกลับมา
ตอบ: เมื่อต้องให้ประชาชนกรอกข้อมูลเอง จึงทำแบบฟอร์มให้กรอกอย่างง่ายที่สุด แต่ข้อมูลที่ได้มาไม่ชัดเจนพอ นำไปใช้งานจริงได้ยาก ทำให้ต้องทวนข้อมูลกันหลายรอบ
“เราพยายามทำให้ตอบสนองความต้องการ เพราะจำนวนคนไข้มีมาเยอะ แล้วพวกนั้นถ้าจะติดต่อเข้ามาที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 มันก็เป็นคอขวดมาก เราก็เลยคิด ถ้าอย่างนั้นให้ประชาชนยิง QR code แล้วให้ประชาชนคีย์เข้าไปเองน่าจะดีกว่า แต่เราก็ประมาณผิดไปนิดนึง เพราะเรามองว่าง่าย แต่สำหรับคนที่นำไปใช้งานจริง มันยังไม่ชัดเจนพอ เราต้องมาทวนใหม่ จึงทำให้เกิดความล่าช้า”
นอกจากนี้ ยังมีช่องทาง Line ของ สปสช.ด้วย ซึ่งอรรถพรเล่าว่า เป็นช่องทางที่ไม่มีรายชื่อค้าง ตอบได้ไว เพราะมีอาสาสมัครมาระดมช่วยกันตอบ แต่แม้ว่าไลน์จะยอดนิยม ก็ยังไม่ครอบคลุมพอ เพราะยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ไลน์ไม่ได้ จึงต้องติดต่อด้วยการโทรแทน
ประเด็นนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการไม่มีระบบข้อมูลกลางของประชาชน อันเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นหลายครั้งในการละทะเบียนรับสิทธิ์ต่างๆ ที่ประชาชนต้องมากรอกข้อมูลกันเองอยู่เสมอ
- ทำไมถึงไม่มีสถานพยาบาลที่รับดูแลคนไข้?
ตอบ: สปสช.จะจับคู่ประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วเข้ากับคลินิกเข้าร่วมโครงการในละแวกใกล้เคียง ให้ส่งชื่อขึ้นระบบและให้คลินิกกดรับเอง แต่บางครั้งคลินิกยังไม่กดรับ เพราะประเมินกำลังไม่ถูกว่าจะดูแลคนไข้ไหวไหม ทำให้เกิดปัญหา
“เรามีคลินิกที่เข้าร่วมโครงการเรา ก็จะรู้ว่าคลินิกนั้นอยู่ตรงไหน เวลาเรา matching ประชาชนที่เขาบันทึกข้อมูลเข้ามาในระบบเรียบร้อยแล้ว เราก็จะเอาไปดู location ว่าอยู่ใกล้กับคลินิกตรงไหนบ้าง เขารับเท่าไหร่ เราจะเอาชื่อคนไข้ที่ลงทะเบียนเข้ามาขึ้นในหน้าจอของคลินิกเขาเลย เช่น วันนี้มีคนไข้อยู่ใกล้คลินิก 20 คน คลินิกก็เลือกได้ว่า ถ้ากด accept ก็จะเป็นคนไข้คลินิกนั้นเลย ถ้าไม่กด accept ก็แสดงว่า ทาง สปสช. matching ให้แล้ว แต่กระบวนการมันไม่ไป เพราะว่าคลินิกเขายังไม่กดรับ มันก็เป็นคอขวดอีก”
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่คลินิกหลายแห่งต้องประเมินหนักว่าจะรับผู้ป่วยไหวไหม ส่วนนึงเป็นเพราะทรัพยากรในระบบสาธารณสุขยังรองรับได้ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ต่างๆ รวมถึงจำนวนบุคลากร ที่ทำให้คลินิกหลายแห่งยังลังเลในการรับผู้ป่วย
- คลินิกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ต้องแก้ยังไง?
ตอบ: อีกปัญหาที่ทำให้คลินิกหลายแห่งรับผู้ป่วยเพิ่มไม่ได้ คือเรื่องของภาระค่าใช้จ่าย ซึ่ง เลขาฯ ของ สปสช.บอกว่า ตอนนี้ สปสช.ได้ปรับวิธีจ่ายเงินใหม่ ด้วยการจ่ายเงินล่วงหน้าให้คลินิกรายสัปดาห์ ไม่ต้องรอให้กระบวนการเสร็จ เพื่อเสริมสภาพคล่องให้คลินิกดำเนินการต่อได้
“ถ้าท่านรับคนไข้ 10 คนอาทิตย์นี้ ผมจ่ายให้ท่านล่วงหน้าเลยคนละ 3,000 บาท ท่านจะได้เอาเงินตรงนี้ไปใช้ในการบริหารจัดการอะไรของท่านได้ ไม่ต้องรอให้กระบวนการเสร็จ เราก็จะโอนไปให้ทุกสัปดาห์จนกระทั่งท่านดูแลคนไข้เรียบร้อย พูดง่ายๆ ก็ให้คลินิกมีสภาพคล่อง นี่ก็เป็นวิธีการจัดการเราตอนนี้”
- ทำไมถึงมีประชาชนต้องรออยู่บ้านจนเสียชีวิต?
ตอบ: หลายรายเข้าไม่ถึงการรักษาจนเสียชีวิตคาบ้าน สปสช.จึงปรับให้จากเดิมที่คลินิกจะเป็นคนแจกยา มาเปิดศูนย์คัดกรองที่ศูนย์ราชการ สปสช. เพื่อแจกยาฟาวิพิราเวียร์ให้คนไข้ทันทีที่เข้าระบบ Home Isolation อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องรอคอยยาฟาวิพิราเวียร์อยู่ บางรายต้องเดินทางไปรับยาเอง
“สปสช.พยายามที่จะเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น เมื่อมี Home Isolation และจับคู่คลินิกได้เรียบร้อย คลินิกจะต้องมียาไปให้ เราก็จะมีฟาวิพิราเวียร์ไปให้ด้วย เช่น มูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) ที่เป็นโหนดใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ตอนนี้ทะลักคนไข้ไป 3,000-4,000 คน จับคู่ได้เรียบร้อย เขาก็จะมียาไปให้ไปเลย ยาตัวนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากกรมการแพทย์ ก็พยายามสนับสนุนยาไม่ให้ขาด”
- ผู้ป่วยต้องเดินทางไปรับยาเอง?
ตอบ: กรณีนี้ สปสช.แจ้งว่า เป็นปัญหาเรื่องการขนส่งยา จึงร่วมมือกับไปรษณีย์ไทยให้ช่วยส่งยาถึงบ้านผู้ป่วย ซึ่งพบว่าการแจกยาให้เร็วกับผู้ป่วยเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลดีเท่านั้น
“โจทย์มันอยู่ที่ ถ้าคลินิกรับคนไข้ได้ไว คนไข้เข้าระบบได้ต่อเนื่องเหมือนสายพานการผลิต ผมคิดว่าระบบมันจะดี ซึ่งเราพยายามจะแก้ปัญหาตรงนี้อยู่”
- ยาขาดแคลนจริงไหม?
ตอบ: กรมการแพทย์ยังส่งยาให้กับทาง สปสช. ได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้น สปสช.จึงเป็นเรื่องของการขนส่งมากกว่า
แต่ทางทีมอาสาอื่นๆ กลับขาดแคลนยาจริงๆ สะท้อนถึงการกระจุกตัวของยาอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ซึ่ง นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบทให้สัมภาษณ์กับเราเพิ่มเติมในเรื่องนี้ว่า ปัญหามาจากโรงงานผลิตของไทยยังผลิตได้ไม่พอกับความต้องการ และเคมีภัณฑ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศไม่เพียงพอ สภาเภสัชกรรมเสนอให้เปิดช่องทางเอกชนรายอื่นผลิตยาเองได้ เพื่อให้ทันกับความต้องการ
- ต้องมี RT-PCR ก่อน ถึงจะเข้าระบบได้?
ตอบ: แก้ปัญหาด้วยการให้ Community Isolation หรือสถานพยาบาล รับผู้ที่ตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แล้วผลเป็นบวกมาแยกกักไว้ได้ ซึ่งทางกรมควบคุมโรคยังยืนยันว่า การตรวจแบบ RT-PCR เป็นสิ่งจำเป็น เพราะผลตรวจ ATK สามารถให้ผลบวกลวงได้ ดังนั้นจึงคงให้ตรวจ RT-PCR อยู่
อีกด้านหนึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พอทราบถึงปัญหานี้ ก็เสนอให้ตรวจ ATK สองรอบ ให้แน่ใจก่อน แล้วถึงจะไปตรวจ RT-PCR ซึ่งเป็นการเพิ่มขั้นตอนให้ซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก ซึ่ง นพ.สุภัทรกล่าวกลับเราในเรื่องนี้ว่า การตรวจสองรอบจะยิ่งทำให้ล่าช้ามากกว่าที่เป็นอยู่
ขณะเดียวกัน แถลงการณ์จากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ก็ยอมรับว่า การตรวจแบบ RT-PCR นั้นล่าช้าจริง และยังมีข้อจำกัดว่าหลายคนหาที่ตรวจไม่ได้ รวมถึงผลตรวจแบบ RT-PCR ต้องใช้เวลามาก ขณะนี้กำลังพิจารณากันอยู่
ปัญหาเรื่อง Home Isolation เกี่ยวโยงกับระบบสาธารณสุขและการจัดสรรข้อมูลของภาครัฐ ทำให้ติดบั๊คกันอยู่หลายจุด ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไขให้ไวที่สุด เพราะทุกนาทีมีผู้ป่วยอาการหนักซึ่งชีวิตของประชาชนเหล่านี้ ขึ้นอยู่กับการจัดการ COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพ